ดร.ธรณ์ วอนคนกรุงลดขยะพลาสติกหลังพบวาฬบรูด้าและเต่ามะเฟือง สัตว์สงวนหายากในอ่าวไทยและปากน้ำเจ้าพระยา
ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ แม่น้ำเจ้าพระยาคือแม่น้ำที่พาขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของไทย และเป็นคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลหายาก อย่างวาฬบรูด้าที่ถูกพบเป็นครั้งที่ 3ในรอบปีบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน์ทางทะเลได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุถึงการพบเห็นปลาวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพเป็นครั้งที่ 3ในรอบปี สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวตัว ก. หรืออ่าวไทย พร้อมๆกับความเสี่ยงของการเข้ามาใกล้เขตเมืองของสัตว์สงวนชนิดใหม่นี้
เขาขอให้คนกรุงเทพคิดหาทางลดการใช้ขยะพลาสติก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ขยะจะไหลลงสู่แม่น้ำและถูกปลาวาฬที่อาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวตัว ก. และว่ายเข้ามาใกล้ในเขตเมือง กินเป็นอาหารและเป็นอันตรายต่อปลาวาฬเอง
นอกจากนี้ ยังมีการพบเต่ามะเฟือง สัตว์สงวนใหม่อีกหนึ่งชนิดในอ่าวเดียวกัน ซึ่ง ดร.ธรณ์กล่าวว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการพบเต่ามะเฟืองในอ่าวไทยนี้เลย จะมีก็แต่ทางทะเลฝั่งอันดามันและน้อยครั้งมาก ดร.ธรณ์ กล่าว
โดยเต่ามะเฟืองยาวประมาณหนึ่งเมตรเศษ ว่ายมาติดอวนเรือประมงชื่อธนูทองเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งวางอวนกลางทะเล ห่างจากเกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ราว 10 ไมล์ทะเล ก่อนที่จะถูกปล่อยโดยทันทีโดยเรือประมงดังกล่าว
“นับเป็นรายงานการพบเต่ามะเฟืองครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยทั้งหมดพบในอ่าวไทย” ดร. ธรณ์ กล่าว
ดร. ธรณ์กล่าวว่า การลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งโดยเฉพาะถุงพลาสติก มีผลอย่างมากต่อเต่ามะเฟืองที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักและมีโอกาสกินถุงเข้าไปจนตายสูงมาก เหมือนเต่ามะเฟืองที่เพิ่งตายที่ระยอง
“พี่ๆ ชาวประมงเขาช่วยกันแล้ว พวกเรามาช่วยกันบ้าง ทั้งวาฬบรูด้า ทั้งเต่ามะเฟืองอยู่ในอ่าวไทยแน่นอน พลาสติกในมือเราอาจเป็นตัวการฆ่าสัตว์สงวนเหล่านี้” ดร. ธรณ์ กล่าว