สสน.เตือนแล้งหนัก! เขื่อนอุบลรัตน์-2%
"อธิบดีกรมชลฯ" เผยฝนตก 7 วันน้ำเข้าเขื่อนใหญ่รวม 1.6 พันล้านลบ.ม. "เขื่อนสิริกิติ์" ได้น้ำมากสุดกว่า 340 ล้านลบ.ม. ส่วน "เขื่อนป่าสักฯ" ไม่มีน้ำเข้า "สสน." เตือนสถานการณ์เขื่อนน้ำน้อยวิกฤต มีน้ำใช้การน้อยกว่า30%
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.62 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทุกภาคของประเทศ ได้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลพายุ วิภา และฝนจากมรสุมในอ่าวไทย-อันดามัน ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนรวม 7 วัน ระหว่างวันที่ 2-8 ส.ค.ปริมาณ 1,652 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ รวม 492 ล้านลบ.ม. อาทิ เขื่อนภูมิพล 104 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 340ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วลม 13 ล้านลบ.ม เขื่อนแควน้อยฯ 7 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 ล้านลบ.ม. อาทิ เขื่อนสิรินธร 74 ล้านลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ 2.84 ล้านลบ.ม.ภาคกลาง ไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้งเขื่อนป่าสัก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว ภาคตะวันตก 873 ล้านลบ.ม. อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ 312 ล้านลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 560ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออก 20.95 ล้านลบ.ม. อาทิ เขื่อนขุนด่าน 3.25 ล้านลบ.ม. เขื่อนปะแสร์ 9.46 ล้านลบ.ม. และภาคใต้ 178 ล้านลบ.ม.อาทิ เขื่อนแก่งกระจาน 78 ล้านลบ.ม. เขื่อนรัชประภา 58 ล้านลบ.ม. หากแยกเป็น4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน รวม 452 ล้านลบ.ม. ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การ 1,224 ล้านลบ.ม.ส่วนทั้งประเทศมีน้ำใช้การได้ 11,275 ล้านลบ.ม.
สำหรับในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่ อาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าแม้ปัจจุบันมีฝนตกเพิ่มขึ้นแต่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ราษฎรได้รับความเดือนร้อนจากการขาดน้ำกิน น้ำใช้ อาทิเช่นที่จังหวัดนครราชสีมา โครงการชลประทานนครราชสีมาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่ตำบลห้วยแถลง และตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ราษฎรในพื้นที่ พร้อมทั้งแจกจ่ายน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
สำหรับในพื้นที่หมู่ 12 บ้านธงชัยเหนือ ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อทำการสูบน้ำช่วยเหลือประชาชน กว่า 150 ครัวเรือน ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ให้การสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน เพื่อนำน้ำดิบไปเติมในถังเก็บน้ำสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ในพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านเขาจันทร์ ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต เพื่อให้ราษฎรกว่า 154 ครัวเรือน มีน้ำอุปโภค บริโภค ที่จังหวัดระยอง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ นำเครื่องจักร เครื่องมือ และรถแบคโฮ เข้าทำการขุดลอกเปิดทางน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อให้กับเกษตรกรในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฯ สามารถนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาติดตั้ง และสูบน้ำไปใช้สำหรับทำการเกษตร
ส่วนที่จังหวัดลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ที่บริเวณคลองส่งน้ำ 18 ขวา หมู่ 1 ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง และอีก 1 เครื่อง ที่บริเวณปลายคลองส่งน้ำ 18 ขวา หมู่ 1 ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง บริเวณคลองระบาย 1 ซ้าย ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี
ที่จังหวัดชัยนาท โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ดำเนินการย้ายเครื่องสูบน้ำจากปลายคลองมะขามเฒ่า – กระเสียว (ม.-ก.) กิโลเมตรที่ 47+290 จำนวน 2 เครื่อง ไปที่จุดติดตั้งที่ 2 คลอง3 ซ้าย มะขามเฒ่า-กระเสียว(ม.-ก.) กิโลเมตรที่ 5+200 พื้นที่หมู่ 9 ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา เพื่อทำการสูบน้ำเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าในหลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำกันอยู่ และมีหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือราษฎรกันอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอให้ราษฎรค่อยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ช่วยกันเก็บกัก รักษา และใช้น้ำที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องงกันและลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน) เตือนสถานการณ์เขื่อนน้ำน้อยวิกฤต มีน้ำใช้การน้อยกว่า30% เช่น เขื่อนอุบลรัตน์(-2%),เขื่อนจุฬาภรณ์(3%),เขื่อนป่าสักฯ(3%),เขื่อนภูมิพล(4%),เขื่อนคลองสียัด(5%),เขื่อนสิริกิติ์(6%),เขื่อนแควน้อย(8%),เขื่อนกระเสียว(9%),เขื่อนสิรินธร(11%),เขื่อนทับเสลา(12%),เขื่อนลำพระเพลิง(13%),เขื่อนแม่กวง(14%),เขื่อนห้วยหลวง(15%),เขื่อนลำนางรอง(15%),เขื่อนขุนด่านปราการชล(15%),เขื่อนน้ำพุง(16%),เขื่อนลำปาว(16%),เขื่อนนฤบดินทรจินดา(17%),เขื่อนมูลบน(19%),เขื่อนศรีนครินทร์(19%)