กลุ่มนาแปลงใหญ่ 'พิษณุโลก-อุตรดิตถ์' ต้นแบบความสำเร็จแปลงใหญ่นายุค 4.0

กลุ่มนาแปลงใหญ่ 'พิษณุโลก-อุตรดิตถ์' ต้นแบบความสำเร็จแปลงใหญ่นายุค 4.0

"กรมการข้าว" ชูกลุ่มนาแปลงใหญ่ "พิษณุโลก-อุตรดิตถ์" ต้นแบบความสำเร็จ รวมผลิต รวมจำหน่าย ลดต้นทุน ชาวนามีรายได้เพิ่มเฉลี่ย 1 พันบาทต่อไร่

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.62 นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า การส่งเสริมทำนาแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะทำให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากรายย่อยสู่การรวมกลุ่มเกษตรกร ให้ชาวนาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง โดยกรมการข้าวได้ดำเนินการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนนาแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 2,741 แปลง ชาวนา 220,614 ราย พื้นที่ 3,102,303 ไร่ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ชาวนาสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 470 บาทต่อไร่ หรือลดลง 14% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 78 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 12% และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,136 บาทต่อไร่

กรมการข้าวได้คัดเลือกกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาเป็นต้นแบบ ขยายผลสู่พี่น้องชาวนาให้เกิดความตระหนักและเปลี่ยนแปลงจากการทำนาแบบเก่ามาสู่การทำนายุค 4.0 ที่เน้นการรวมกลุ่มใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการผลิตและมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น จังหวัดพิษณุโลก มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ตั้งแต่ ปี 2559 จำนวน 4 กลุ่ม พื้นที่รวม 7,425 ไร่ เกษตรกร 470 ราย

ในปี 2562 มีแปลงเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 39 แปลง เป็นแปลงต่อเนื่อง (ปี 60 -61) จำนวน 29 แปลง แปลงใหม่อีก 10 แปลง เกษตรกรทั้งสิ้น 2,308 ราย พื้นที่รวม 52,250.35 ไร่ “กลุ่มนาแปลงใหญ่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านผารังหมี” ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 76 รายพื้นที่ 2,077 ไร่ ทำการปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยประมาณ 2,625 ตัน/ปี ทำนาปีละ 1 ครั้ง ผลผลิตข้าวที่ได้ส่วนใหญ่ใช้ เป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกและชุมชนอื่นๆ


นอกจากนี้ ยังผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวสารและข้าวกล้องหอมมะลิจำหน่าย ทั้งนี้ กลุ่มนาแปลงใหญ่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านผารังหมี สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 3,500 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตจาก 550 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 1,010 บาทต่อไร่ เป็น 2,600 บาทต่อไร่

ส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ตั้งแต่ ปี 2558 จำนวน 8 กลุ่ม พื้นที่รวม 38,503 ไร่ เกษตรกร 1,842 ราย ในปี 2562 มีแปลงเข้าร่วมเพิ่มเป็น 32 แปลง เป็นแปลงต่อเนื่อง (ปี 60 -61) จำนวน 24 แปลง แปลงใหม่ 8 แปลง เกษตรกรทั้งสิ้น 2,611 ราย พื้นที่รวม 47,232 ไร่ “กลุ่มนาแปลงใหญ่สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด” ต.บ้านหม้อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่เมื่อปี 2559 มีจำนวนแปลงใหญ่ 17 แปลง

โดยแยกเป็นแปลงใหญ่ข้าว 16 แปลง และ แปลงใหญ่ประมง 1 แปลง และปี 2563 มีแปลงเตรียมความพร้อมแปลงใหญ่ข้าวอีก 3 แปลง ปัจจุบันมีสมาชิก 132 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 1,304 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ และข้าวเปลือกคุณภาพพันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากการเข้าร่วมโครงการสมาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่ สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 3,843.33 บาทต่อไร่ เหลือ3,040 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตจาก 626.67 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,960 บาทต่อไร่

"โดยแปลงใหญ่สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ ได้พัฒนาช่องทางการตลาดโดยการสีข้าวเอง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์เพิ่มช่องทางจำหน่ายและเพิ่มมูลค่า และมีการเชื่อมโยงการตลาดกับโรงสีข้าวและชุมนุมสหกรณ์อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ พัฒนาคุณสมบัติของข้าวพิษณุโลก 80 เป็นข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ"

นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมการทำนาในระบบแปลงใหญ่แล้ว กรมการข้าวยังมีกิจกรรมศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวในโรงเรียน เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกข้าวสำหรับนักเรียน ครู อาจารย์ ให้เห็นความสำคัญของข้าวและชาวนา พร้อมยกย่องเชิดชูเกียรติชาวนาให้เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย ส่งผลให้เยาวชน บุตรหลานชาวนาเกิดความรัก หวงแหน และพร้อมที่จะสืบทอดอาชีพการทำนาต่อไปด้วยความภาคภูมิใจ

โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เรื่องข้าวและการทำนา มีการให้ความรู้ตั้งแต่กระบวนการก่อนปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว มุ่งเน้นให้นักเรียนมีการฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเอง รวมทั้งมีการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ส่งผลให้นักเรียนได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการทำนา และมีทัศนคติที่ดีต่อข้าวและชาวนา

สำหรับพื้นที่ดำเนินการจะเป็นแปลงนาของโรงเรียนที่คัดเลือกหรือเป็นแปลงนาใกล้เคียงกับพื้นที่นาแปลงใหญ่ก็ได้ ตัวอย่าง โรงเรียนบ้านปากคลอง ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้ทำกิจกรรมศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวในโรงเรียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เข้าร่วมกิจกรรม ทำนาบนพื้นที่ 11 ไร่ มีการสอนให้เรียนรู้การทำนาทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกข้าว ดูแล เก็บเกี่ยว ตากจนกระทั่งสีแปรรูปเป็นข้าวสาร แพ็คและจำหน่ายเอง ซึ่งนักเรียนที่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Young Smart Farmer และไปสู่การเป็น Smart Farmer ได้ในอนาคต