'วราวุธ' ยก 'มาเรียม' ตัวแทนสัตว์ กระตุ้นคนไทยสำนึก และตระหนักดูแลสิ่งแวดล้อม
"วราวุธ" ยก "มาเรียม" ตัวแทน สัตว์ทุกประเภท กระตุ้นคนไทยสำนึก และตระหนักดูแลสิ่งแวดล้อม ไว้ให้ลูกหลาน พร้อมนำชื่อเป็นสัญลักษณ์ในโครงการ
เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ทีมแพทย์ พี่เลี้ยง ดูแล "มาเรียม" ลูกพะยูนกำพร้าบริเวณอ่าวดูหยง ใกล้เขาบาตู ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เสียชีวิต ว่า วันนี้คนไทยต้องตื่นมาด้วยน้ำตานองหน้าหลังทราบข่าวว่ามาเรียมได้เสียชีวิตไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาเริ่มในการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วยกัน ทั้งนี้คนไทยมีความโชคดีและตนขอกราบแทบเท้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีพระมหากรุณาธิคุณที่ ทรงมีให้กับสัตว์ทะเลที่หายาก
นายวราวุธ กล่าวว่า เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคตแต่ตราบใดที่ตนยังทำงานอยู่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำทุกอย่างทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก วันนี้เราได้พูดถึงน้องมาเรียมพูดถึงสัตว์ทะเล แต่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในประเทศไทยนั้นไม่ได้อยู่ในน้ำอย่างเดียวยังมีสัตว์ที่อยู่บนบกหลายชนิดเช่นช้างรวมถึงสัตว์นานาชนิดทั่วประเทศที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน
"น้องมาเรียมเปรียบเสมือนตัวแทนของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งทางบกและในน้ำทำให้ทุกคนสำนึกและตระหนักถึงขยะว่ามีอันตรายแค่ไหน ครั้งนี้จะนำชื่อของมาเรียมจะเป็นสัญลักษณ์หรือคำที่เราจะนำมาใช้ในโครงการต่างๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งหลายให้คงอยู่เพื่อลูกหลานของพวกเราทุกคนซึ่งคงไม่อยากให้ลูกหลานของพวกเรามาเปิดดูรูปพยูนและผมไม่อยากให้คนไทยมาเปิดดูสัตว์หายากผ่านทางหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องมารักษาโลกใบนี้ ซึ่งตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ให้คนตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม"นายวราวุธ กล่าว
ด้าน รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ทีมสัตว์แพทย์ที่ทำการดูแลปฐมพยาบาล "มาเรียม" กล่าาว่า พลาสติกที่อยู่ในลำไส้เล็ก อัดอยู่ช่วงรอยต่อระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้อัดแน่น จนกระทั่งแพ็คกันเป็นก้อนใหญ่ในขณะที่มาเรียมมีปัญหาเป็นหนองในปอดด้วยทำให้เกิดสภาพขาดน้ำอย่างหนักสิ่งที่อยู่ในลำไส้ก็จะแห้งและทำให้เป็นก้อนจึงเกิดการอุดตันและระบายไม่ได้รวมถึงการสะสมของแก๊ส ทำให้มีอาการปวดท้องเกิดอาการช็อคและหัวใจวาย ซึ่งคาดว่ามาเรียมเริ่มกินพลาสติกไม่นาน แต่มีอาการในช่วงที่โดนปลาพะยูนตัวผู้ไล่กระแทกจนเป็นรอยช้ำบริเวณท้องมาเรียม จึงทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น
"โดยพลาสติกที่น้องมาเรียมกินเข้าไปเป็นเศษถุงพลาสติกที่เสื่อมสภาพเป็นขุยหรือเส้นเล็กๆประมาณ 8-10 เซนติเมตรและมีลักษณะเป็นชิ้นซึ่งอาจจะเป็นพลาสติกที่ไปค้างอยู่บริเวณที่เป็นหญ้าทะเล " รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'มาเรียม' ช็อค เสียชีวิตแล้ว เที่ยงคืนวันที่ 16 ส.ค. 62
-ถอดบทเรียน 'มาเรียม' ส่งต่อดูแล 'ยามีล'
-ย้อนดูประวัติ 'มาเรียม' ผู้หญิงแห่งท้องทะเล ผู้มีความสง่างาม
-'ขยะทะเล' หนึ่งในสาเหตุคร่าชีวิตพะยูนน้อย 'มาเรียม'