ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาฯ ชี้ถอดบทเรียน “มาเรียม” ส่งต่อดูแลยามีล
รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ซันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้กรณีมาเรียมป่วยตายเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ถือเป็นประโยชน์มาก ทำให้เห็นแนวทางที่จะปฏิบัติที่จะช่วยเหลือลูกสัตว์กำพร้า ลูกสัตว์ทะเลหายากกำพร้า ต่อการทำงานด้านการอนุบาลสัตว์น้ำที่กำพร้า ส่งต่อไปถึงการดูแลยามีลที่จะต้องให้หย่านมก่อน จะปล่อยคืนธรรมชาติ หากทดลองปล่อยแล้วไม่ได้ ก็ต้องเลี้ยงในอควอเลี่ยม เหมือนในต่างประเทศก็ได้
(17ส.ค.62) รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาการก่อนที่มาเรียมจะเสียชีวิตนั้นมาเรียนมีอาการซึมมากๆ และเขาจะปวดท้องโก่งตัว และก็ไม่ยอมว่ายน้ำ หรือว่ายได้นิดหน่อย บางครั้งก็จะจมตัวลงไปและในตอนที่เราป้อนอาหาร ทุกครั้งที่ใส่ท่อเข้าไปก็จะมีการเรอ โดยมีแก๊สออกมาแสดงว่าข้างในเขาตอนนั้นอาการก็บ่งชี้ถึงการที่มีแก๊สสะสมอยู่ในลำไส้ในทางเดินอาหารแล้ว ในที่สุดพอข้างในแก๊สสะสมเยอะๆมากๆก็ทำให้เกิดการช็อกได้ เพราะว่าเขาปวดมากแล้ว จึงทำให้ความดันที่อยู่ข้างในเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายทำให้หัวใจวาย ในส่วนของผลการผ่าพิสูจน์นั้น น่าจะมีหลายสาเหตุเข้ามาร่วมกัน ที่สำคัญคือ พบมีพลาสติกเข้ามาอุดตันในลำไส้เล็ก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลำไส้อักเสบ และเกิดการอุดตันและมีแก๊สเกิดขึ้นในลำไส้ เนื่องจากมันมีแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพวกแก๊สต่างๆอยู่ เลยทำให้ทั้งระบบเกิดบวม และอักเสบทำงานไม่ได้ นอกจากนั้นปอดของเขาก็มีหนองอยู่มาก ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้น อาจจะมีทั้งก่อนและหลัง สามารถเป็นไปได้หมดจึงทำให้มาเรียมมีอาการป่วยแบบนี้ นอกจากนั้นจากการผ่าพบว่า มาเรียมมีรอยช้ำที่บริเวณตรงท้องด้วย คาดเดาว่าเกิดจากการถูกพะยูนตัวผู้ที่ไล่ชน จึงทำให้เห็นกล้ามเนื้อช้ำ ทั้งหมดนี้ประมวลรวมกันแล้วก็เลยทำให้เป็นสาเหตุที่มาเรียมป่วยหนักมาก ในที่สุดก็ช็อกตาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมาเรียมทำให้เกิดผลดีต่อการอนุรักษ์ และในแง่ข้อมูลทางวิชาการซึ่งถือได้ว่าเป็นห้องเรียนในธรรมชาติอย่างไรบ้าง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทำให้เราได้ประโยชน์เยอะมากจากน้อง ได้ทำให้เราเห็นว่าแนวทางที่จะปฏิบัติที่จะช่วยเหลือลูกสัตว์กำพร้า ลูกสัตว์ทะเลหายากกำพร้า ควรจะเป็นยังไง ก่อนที่เราจะปล่อยเขาคืนสู่ธรรมชาติเพราะว่าบางทีธรรมชาติก็ไม่ได้สวยงามและก็ดีอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีพวกมลภาวะต่างๆเกิดขึ้น หรือว่าขยะต่างๆเกิดขึ้น ดังนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเราจะจัดการยังไง และก็ในทางสัตวแพทย์เองก็ได้เรียนรู้ถึงการให้ยา การดูแลรักษาโรคของพะยูน และก็วิธีการเจาะเลือด วิธีการป้อนอาหารอะไรต่างๆจากมาเรียม ในส่วนของเรื่องขยะพลาสติกนั้นโดยรวมเราเห็นแต่ในโลมาเราเห็นในเต่าทะเลเพราะว่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารเป็นก้อนๆ และเขาก็กินถุงพลาสติกได้ แต่เราไม่นึกว่าในพะยูนจะมีปัญหาอันนี้ด้วยกัน ปรากฏว่าพลาสติกที่เห็นนี้จะเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆคล้ายๆกับว่าเป็นชิ้นสะเก็ดแล้วก็เป็นแผ่นๆคิดว่าน่าจะเป็นพวกถุงพอสลายตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้วก็คงกระจายไปติดอยู่ตามหญ้าในแหล่งหญ้า พอมาเรียมไปเล็มกินหญ้าเองก็ปรากฏว่าขยะพลาสติกติดเข้าไปด้วย เพราะไม่ได้เป็นชิ้นใหญ่ๆที่เขาจะปฏิเสธ ก็เลยทำให้เข้าไปอุดตันบริเวณลำไส้แล้วเมื่อคืนสัตวแพทย์ทุกคนก็ร้องไห้ คือ อยู่ด้วยกันแบบ24ชั่วโมง โดยเฉพาะน้องๆ ที่อยู่แบบ24ชั่วโมงจริงๆ หลายวันแล้วก็มีความผูกพันมาก แต่ทุกคนก็พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แล้วก็ต้องขอบคุณท่านผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นท่าน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านปลัดและอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมอุทยาน แล้วก็ทหารเรือเองทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเลยรวมทั้ง อาสาต่างๆ ก็เข้ามาแล้วก็ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ตลอดมา
ส่วนจะส่งทอดต่อไปถึงการดูแลยามีลอย่างไรหลังจากนี้ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ กล่าวว่า ในเรื่องของยามีล เนื่องจากว่ายามีลอยู่ในสภาพที่แตกต่างจากมาเรียมมาก ยามีลอยู่ในพื้นที่ที่ปกป้องอยู่แล้ว ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดูแลอยู่แล้วก็มีการเสริมหมอ แล้วเจ้าหน้าที่จากทางกรมอุทยาน ทหารเรือแล้วก็ทางสัตวแพทย์จุฬาเข้าไปแล้วก็คงจะช่วยกันอย่างเต็มที่เหมือนกัน และคิดว่าตอนนี้เราก็คงจะปรับยามีลให้ไปอยู่ในพื้นที่กว้างขึ้น แล้วก็คงจะสบายขึ้นนิดนึงแล้วก็ หวังว่าน่าจะยังไม่มีปัญหา ส่วนในเรื่องที่จะนำยามีลมาไว้แนวทางตามธรรมชาตินั้นจะต้องให้ยามีลเลิกนมก่อน เพราะว่าในธรรมชาติไม่มีนมให้กิน แต่พวกเรามีนมให้กินเพราะฉะนั้นถ้าหย่านมเสร็จแล้ว เอาลองไปปล่อยดูก่อนในธรรมชาติ ถ้าค่อยๆปล่อยแล้วเขาดูแลตัวเองได้ ก็ปล่อยแต่ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จะต้องเอากลับมาอยู่ในอควาเรียม เหมือนในต่างประเทศเขาก็ทำกันแบบนี้ หลายแห่งเช่นที่ซิดนีย์ ก็คือ ถ้าสัตว์อยู่ได้เราก็ให้อยู่ ถ้าอยู่ไม่ได้แล้วก็กลับมาเลี้ยงต่อ ในส่วนกรณีสัตว์สัมผัสกับคนสามารถติดเชื้อได้หรือไม่นั้น สามารถติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นในการที่ทุกคน ผู้อาสาสมัครที่เขามาช่วยดูแล ก็จะต้องมีการคัดเลือกแล้วก็ห้ามป่วย แล้วก็ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้ออะไรก่อนที่จะเข้าไป หรือดูแลสัตว์แล้วก็ไม่เปิดให้คนนอกเข้า เพราะเกรงว่าเชื้อโรคต่างๆจะเข้าไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'มาเรียม' ช็อค เสียชีวิตแล้ว เที่ยงคืนวันที่ 16 ส.ค. 62
-ย้อนดูประวัติ 'มาเรียม' ผู้หญิงแห่งท้องทะเล ผู้มีความสง่างาม
-'ขยะทะเล' หนึ่งในสาเหตุคร่าชีวิตพะยูนน้อย 'มาเรียม'
-“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”