'ครูโอ๊ะ' ลงพื้นที่หัวลำโพงติดตามปัญหาเด็กเร่ร่อนในเมืองหลวง
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. นำทีมลงพื้นที่ติดตามปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อน และให้กำลังใจครูสอนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กด้อยโอกาสและหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชินวงษ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน มูลนิธิ สายเด็ก1387 และคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อน และให้กำลังใจครูสอนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กด้อยโอกาสและหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร
ดร.กนกวรรณ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเด็กเร่ร่อนจำนวนมากตามเมืองใหญ่และต่างจังหวัด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และสถานการณ์มีความรุนแรงและซ้ำซ้อนยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานกศน. ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน สมาคมสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้เปิดตัวโครงการ Children in Street เพื่อค้นหาและวางมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในพื้นที่ กทม.ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเด็กบนท้องถนนในพื้นที่ กทม.ที่มีแนวโน้มจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งแนวทางดังกล่าวถูกนำมาพัฒนาเป็นโครงการ Children in Street ในพื้นที่ กทม.
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือและกลไกปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชนบนท้องถนน เพื่อยกระดับให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง และสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในการสำรวจเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนนในพื้นที่ กทม. โดยมอบหมายให้ครูจาก กศน. ในแขวงต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 180 แขวง ลงพื้นที่สแกนหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มพื้นที่ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกของ กสศ. มาบูรณาการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการในทุกระดับการศึกษา ซึ่งเราได้ต่อยอดและขยายผลความคืบหน้าในความร่วมมือช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆให้ตรงจุดและอย่างเข้มข้น ในกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้กศน.เขตปทุมวัน ดำเนินการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กเร่ร่อน โดย กศน.เขตปทุมวัน ได้ส่งครูสอนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กด้อยโอกาสไปจัดการเรียนการสอนที่ทำการของ The hub สายเด็ก ซึ่งเป็นตึกแถว 2 ชั้นมีสถานที่กว้างขวางอยู่ใกล้หัวลำโพง สอนวันจันทร์และวันพฤหัส ช่วงเวลา 10.00-12.00 น. มีเด็กสมัครเข้าเรียนจำนวน 30 คน นอกจากนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กในรูปแบบต่างๆ เช่น การพาไปค่ายต่างจังหวัด กีฬาว่ายน้ำ และชกมวย เป็นต้น
ดร.กนกวรรณ กล่าวต่อว่า โดยย่านหัวลำโพง นี้มีจำนวนเด็กเร่ร่อนที่มาเร่ร่อนตามลำพังหรือกับกลุ่ม มีประมาณ 50 คน มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นเด็กชายราวร้อยละ 80 เดินทางมาจากภาคอีสานมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีเด็กเร่ร่อนที่มากับครอบครัวประมาณ 50 ครอบครัว ซึ่งมีฐานะยากจนพักอาศัยอยู่รอบๆ หัวลำโพงเพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ สาเหตุที่เด็กออกมาเร่ร่อน ส่วนใหญ่มีปัญหามาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ตี โดนไล่ออกจากโรงเรียน และหนีออกมาจากสถานสงเคราะห์ของราชการ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวช) วีถีชีวิตและพฤติกรรมเด็กเหล่านี้ จะนอนตอนดึกถึงกลางวัน ตื่นนอนราวบ่ายสองโมง บางรายเช่าห้องอยู่กันเป็นคู่แต่ส่วนใหญ่จะอาศัยนอนหน้าหัวลำโพง อาศัยอาบน้ำที่ The hup สายเด็ก หรือห้องน้ำสาธารณะ เด็กจำนวนมากติดการดมกาว ส่วนการหาเลี้ยงชีพ ได้รับการรายงานว่า เด็กจะทำงานรับจ้างทั่วไป ค้ายาเสพติด และค้าประเวณี ซึ่งเป็นปัญหาที่สุ่มเสี่ยง อ่อนไหวและอันตรายสำหรับเยาวชน หากไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม
ดร.กนกวรรณ กล่าวด้วยว่า ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน. วางแผนและปรับการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากมีเด็กสมัครเข้าเรียนค่อนข้างมาก แต่มาพบกลุ่มน้อย อาจจะต้องแก้ไขโดยปรับเปลี่ยนเวลาเรียนเป็นช่วง 16.00 น. เป็นต้นไป และจะจัดสรรอุปกรณ์เทคโนโลยีพร้อมระบบสื่อสารออนไลน์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ รวมทั้งแก้ปัญหาเด็กกลุ่มที่ต้องทำงานไม่สามารถมาเรียน(พบกลุ่ม)ได้เต็มที่ พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถของเด็กๆให้มีอาชีพ มีงานทำ ไม่เป็นภาระของสังคม ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือแรงงานควบคู่ไปด้วย
ดร.กนกวรรณ กล่าวอีกว่า เราตระหนักถึงปัญหาของเด็กเร่ร่อน เด็กกลุ่มนี้มีความเปราะบาง และมักกลายเป็นเหยื่อของการถูกกระทำทารุณกรรมและถูกใช้หาผลประโยชน์ ซึ่งปัญหานี้ยังไม่หมดไป ตราบใดที่ความเจริญยังรุกคืบ และยังดึงดูดความสนใจของเด็กที่มีพื้นฐานชีวิตครอบครัวไม่เข้มแข็งให้ออกมาหาชีวิตอิสระอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องอยู่ในอาชีพที่มีความเสี่ยงนี้ต่อไป กระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะร่วมพัฒนาระบบช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการศึกษา ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ โดยสอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพเป็นรายกรณี เพราะเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีสภาพปัญหาและความจำเป็นที่แตกต่างกันไป และอยากฝากให้สถาบันครอบครัวทุกครอบครัวดูแลและเข้าใจบุตรหลานท่านให้มาก วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนแห่งความรักจากพ่อแม่ และคนในครอบครัว ส่วนการช่วยเหลือด้านอื่นๆ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการอย่างเป็นระบบร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่อไป เราจะจับมือช่วยกันทลายทุกข้อจำกัดในสังคม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตดีขึ้นสำหรับเยาวชนเพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง