ผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงชี้ การปรับปรุงแบบของเขื่อนไซยะบุรี ยังบอกไม่ได้ว่าไร้ผลกระทบ
พบเงื่อนไขสำคัญ ข้อมูลสำหรับการรีวิวแบบที่ปรับปรุงใหม่ ไม่เพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ออกรายงานการวิเคราะห์การปรับปรุงแบบของเขื่อนไซยะบุรีโดยผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงสองท่านคือ Emeritus Professor of human geography at University of Sydney, Phillip Hirsh และ Dr Oliver Hensengerth, Associate Proferssor of water governance of Northumbria University ซึ่งทำการวิเคราะห์การรีวิวการออกแบบปรับปรุงเขื่อนฯ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)
เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างบนลำน้ำโขงตอนล่างเป็นแห่งแรกในจังหวัดไซยะบุรีของประเทศลาว จึงถูกคาดหมายจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะกลายเป็นต้นแบบให้กับโครงการต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิคหรือด้านระเบียบกฎหมาย
ตั้งแต่ก่อนก่อสร้างและในระหว่างก่อสร้างในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา ลาวถูกกดดันให้ต้องปรับปรุงแบบ (redesign) เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่ถูกหยิบยกมาตั้งคำถาม อาทิ ทางปลาผ่าน การผลักดันตะกอน และอื่นๆ มูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยหลังการออกแบบปรับปรุง ลาวได้ส่งรายงานให้ MRC รีวิวประสิทธิภาพของแบบที่แก้ไข แต่กลับพบว่า มาตราการหลายๆด้านที่ทำขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีประสิทธิภาพพอที่นะแก้ไขปัญหาผลกระทบ เนื่องจากเจ้าของโครงการไม่ส่งข้อมูลรายละเอียดของแบบมาให้เพียงพอกับการรีวิว
ดร.คาลร์ มิดเดิลตัน อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเกริ่นนำในงานเสวนา “ Silencing the Mekong : เขื่อนไซยะบุรี นับถอยหลังถึงวันเดินเครื่อง” เปิดตัวรายงานเมื่อคำ่วันอังคารว่า เขื่อนไซยะบุรีที่มีการลงนามกับรัฐบาลลาว ได้มีการศึกษาผลกระทบและเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือ และเดินหน้าโครงการตลอด แม้ภาคประชาชนจะคัดค้าน
โดยโครงการนี้ลงทุนโดยบริษัทช.การช่าง และการร่วมทุนจากบริษัทต่างๆ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทย 6 แห่ง ถือว่าเป็นเขื่อนแห่งแรกที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง
ระหว่างนั้น MRC ได้มีการศึกษา SEA ซึ่งได้มีข้อเสนอให้ชะลอการสร้างเขื่อนออกไปก่อนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่ MRC ก็ไม่ได้รับรองรายงานฉบับดังกล่าว จนกระทั่งลาวเดินหน้าโครงการ และกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของเขื่อนไซยะบุรีก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนที่จะมีกระแสกดดันทำให้ลาวต้องจ้างบริษัทมาศึกษาประเมินปรับปรุงการออกแบบเขื่อนเพิ่ม
ในขณะเดียวกัน ประชาชนริมแม่น้ำโขงได้ฟ้องศาลปกครองเพราะหน่วยงานรัฐของไทยควรที่ต้องอยู่ในบังคับใช้กฎหมายไทย โดยชาวบ้านฟ้องเมื่อปี 2012 ต่อมาศาลไม่รับฟ้องแต่ชาวบ้านก็ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งเขื่อนสร้างเสร็จและทดลองผลิตไฟฟ้า โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมาตนได้ติดตามเรื่องนี้ พบว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีผ่านการตัดสินใจจากหลายระดับ แต่ก็เป็นเขื่อนที่นับได้ว่าก่อให้เกิดการถกเถียงที่สำคัญในภูมิภาค เจอการวิพากษ์ที่หนักหน่วงรุนแรง แต่ก็ยังขับเคลื่อนไปได้จนถือว่าเป็นจุดฝ่าด่านของเขื่อนบนลุ่มน้ำโขง อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือว่าความขัดแย้งไม่ได้ยุติ และยังถือว่าเป็นเขื่อนที่มีความขัดแย้งสูงอยู่
ผู้อำนวยการองค์แม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มอรีน แฮรริส กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญฯ ว่า ทำให้เห็นถึงช่องว่างของการปรับปรุงแบบของเขื่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญฯ แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นสองส่วนคือด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับการออกแบบดีไซน์ใหม่เพื่อแก้ปัญหาประเด็นหลักๆ อาทิ ทางปลาผ่าน การผลักดันตะกอน และกระบวนการในการตัดสินใจก่อสร้าง
ซึ่งการปรับเปลี่ยนแบบดังกล่าว เห็นว่า ไม่สามารถระบุได้ว่า จะมีผลต่อปลาผ่านอย่างไร เขื่อนไซยะบุรีกำลังใช้แม่น้ำโขงเป็นห้องทดลองโดยเฉพาะด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยา และพบว่าการเปลี่ยนแบบไม่สามารถรับรองว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การอพยพของปลาที่ผู้สร้างเขื่อนบอกว่าได้สร้างบันไดปลาผ่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากทางโครงการยังไม่ได้ให้ข้อมูลกับคณะรีวิวมากพอที่จะประเมินประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังไม่พบการแก้ไขข้อกังวลที่เคยหยิบยก รวมทั้งผลกระทบทางด้านสังคม และผลกระทบข้ามพรมแดน
มอรีน แฮรริส กล่าวว่ากระบวนการของเขื่อนไซยะบุรีทำให้เห็นว่า MRC เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ทุกฝ่ายได้มาคุยกัน แต่ยังมีความอ่อนแอที่จะใช้ในการหารือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจอธิปไตยที่หยิบยกมากล่าวอ้าง
สฤณี อาชวานันทกุล ผู้อำนวยการบริษัทป่าสาละ ที่ประเมินผลกระทบทางสังคมจากภาคธุรกิจ กล่าวว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ หลายธนาคารชั้นนำในเวลานี้กำลังใช้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ UNGP
นอกจากนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ก็ได้ลงนามความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาร่วมพิจารณาในการกำหนดนโยบายในการให้สินเชื่อ และมีกระบวนการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากการให้สินเชื่อของธนาคาร รวมทั้งมีกระบวนการร้องเรียนหากเกิดปัญหาจากโครงการ
สฤณีกล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการเขื่อนเป็นที่น่าสนใจของธนาคารมากเพราะเงินไหลเข้าอยู่แล้ว ตราบใดที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่โครงการอื่นมีความไม่แน่นอนมากกว่า ดังนั้นการปล่อยเงินกู้จึงไม่ได้ดูความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีโครงการใหม่เสนอเข้ามา ธนาคารก็ขอให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาเลยก็จะได้เงินกู้ เพราะธนาคารมองแต่ในมุมที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายเท่านั้น โดยคิดว่าตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จึงมองกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ ที่ต้องทำอย่างถูกต้องและปฎิบัติตามความเสี่ยงต่างๆ
ซึ่งโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการที่ใหญ่และมีการพูดถึงผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมาก แต่เขาบอกว่าไม่ได้ผิดกฎหมายใด อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ธนาคารคงได้บทเรียนเพิ่มขึ้นว่าการศึกษาผลกระทบข้ามแดนนั้น มีความสำคัญอย่างไร
อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า ภาคประชานนำเรื่องสู่ศาลปกครองมา 7 ปีแล้ว และวันนี้สิ่งที่เป็นห่วงเรื่องผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เกิดน้ำแห้ง ทั้งๆที่เป็นฤดูน้ำหลาก ทำให้พบว่าปลาที่อพยพมาวางไข่ไม่สามารถว่ายมาได้และตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่แก่งคุดคู้ ในจังหวัดเลยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้เกิดน้ำแห้งอย่างหนัก ปัญหาที่สำคัญคือมีปลาหลงฤดูอพยพเข้ามา และเมื่อผ่าท้องดูจะเห็นว่าปลาไม่อยู่ในสภาพที่จะวางไข่ได้
ขณะที่ศาสตราจารย์ เล ออง ตวน นักวิชาการสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ ประเทศเวียดนาม กล่าวกับ Transborder News ว่า เราพยายามทำงานกับฝ่ายต่างๆ ที่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนามเพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้โดยแม่น้ำโขงปากแม่น้ำได้ถูกกัดเซาะอย่างหนักซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายส่วน เราพบว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงส่งผลต่อการจมลงของปากแม่น้ำโขง
ที่น่าสนใจคือบริษัทปิโตรเวียดนามกำลังเข้าไปร่วมลงทุนโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ร่วมกับนักลงทุนอื่นถือว่าเป็นข่าวช็อคของคนเวียดนาม และตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลเวียดนามถึงยอมให้บริษัทปิโตรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแห่งนี้
ปัจจุบันพบว่ามีความเสี่ยง 6 อย่างคือเขื่อน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเพิ่มขึ้นของประชากร ต่างส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงปากแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยอื่นๆ เราสามารถปรับเปลี่ยนและควบคุมได้ แต่การสร้างเขื่อนตอนบนเราไม่สามารถปรับได้ซึ่งสำหรับผมการสร้างเขื่อนตอนบนควรยุติในทันที
“ผู้มีอำนาจระดับสูงของไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา ควรกลับมาทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง เราอาจต้องมีข้อตกลงใหม่ในการบริหารแม่น้ำโขงเข้มงวดกว่านี้ และกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ปากแม่น้ำก็อยากผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน” ศาสตราจารย์เล ออง ตวน กล่าว