พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บึงกาฬ เรียนรู้วิถีชีวิต-สร้างรายได้ชุมชน
บึงกาฬ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิต เปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างรายได้สู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม
หากมองภายนอกศิลปะอาจเชื่อมโยงกับความเป็นวิถีชุมชนได้ยาก แต่ในความจริงแล้วศิลปะเป็นศูนย์กลางที่เปิดพื้นที่ให้คนแต่ละพื้นที่ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ ทำกิจกรรมร่วมกัน แม้จะต่างเพศหรือต่างวัย โดยจังหวัดบึงกาฬ ได้ตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเป็นสถานที่ให้คนในชุมชนมาเจอกัน ถ่ายทอดวิถีชีวิต อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเข้าสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมในวิถีพื้นบ้าน
สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จากการริเริ่มที่อยากจะนำธรรมะ ธรรมชาติ และ ธรรมดาเข้าด้วยกัน จึงนำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วยการใช้ศิลปะในการออกแบบอย่างร่วมสมัยให้สวยงามและสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเกื้อกูล บอกเล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อมทำให้เกิดความยั่งยืนรวมถึงการเปิดตลาดจำหน่ายสินค้าในชุมชน
โดยพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ตั้งบนพื้นที่ 3 ไร่ และแบ่งเป็น 3 ส่วนที่มีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน ได้แก่ ส่วนแรก “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” มีลักษณะเป็นเรือนไม้อีสานอายุ 60 ปียังคงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านอีสาน ทั้งระเบียงกว้างสำหรับกิจกรรมของคนในครอบครัว หรือ ครัวอีสานที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก
โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดภูมิทัศน์จากการอิงธรรมชาติด้วยการตกแต่งจากผ้าซิ่นของบรรพบุรุษคนอีสาน ดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสัขาวที่มักใช้ในงานบายศรีสู่ขวัญจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของทางพิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีการประดับภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสานและชาวไทยทั้งปวง
ทั้งนี้ ส่วนของ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” มีทั้งหมด 3 โซน คือ ‘Green Activity’ ลานอเนกประสงค์ที่มุ่งเน้นการบูรณาการสร้างชุมชนให้ยั่งยืนจากดารการสร้างแหล่งรายได้และอาชีพ โดยสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยและบุคลากรในสาขาต่างๆ มาสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำให้กับชุมชน หรือการเปิดพื้นที่ให้แต่ละชุมชนที่ต้องการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
โซนที่สอง คือ ‘ตลาดชุมชนพอเพียง’ เป็นการสนับสนุนในการสร้างอาชีพให้ชุมชน เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยทุกอำเภอในจังหวัดบึงกาฬ นำวัตถุดิบท้องถิ่น พืชผักพื้นบ้าน อาหารการกิน งานหัตถกรรม เครื่องจักสาน มาจำหน่ายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ซึมซับความเป็นท้องถิ่นอีสานด้วยการแต่งขาวเข้าวัด ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นของตระกูลใส่เสื้อสีขาว ผู้ชายนุ่งโสร่งใส่เสื้อสีขาวหรือนุ่งกางเกงใส่เสื้อสีขาวมีผ้าขาวม้ามัดเอว โดยตลาดชุมชนพอเพียงจะเปิดให้บริการทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 13.00 น. -17.00 น.เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าน
และในโซนสุดท้าย ‘พื้นที่ศิลปะและชมดอกไม้ริมทุ่ง’ จุดผ่อนคลายให้กับนักท่องเที่ยวจากการมองทุ่งหญ้าที่เปลี่ยนสีตามฤดูกาลและภาพศิลปะแนวธรรมชาติ มีแนวทางสร้างเครือข่ายร่วมกับศิลปินและคนรักการวาดภาพมาสร้างสรรค์และแสดงผลงานในโซนนี้ และส่วนที่สอง คือ “พิพิธภัณฑ์วัด พุทธหัตถศิลป์” มีพระจำวัดเพียง 4 รูป ช่วยกันอนุรักษ์การไหว้พระด้วยหมากเบ็ง หรือบายศรีขนาดเล็กๆ ที่ทำจากใบตองธรรมชาติเท่ากำปั้น เป็นงานฝีมือของหลวงปู่และผู้สูงวัยช่วยกันทำ
ส่วนที่สาม ได้แก่ จุดเช็คอินภาพวาดเขียนสีพญานาคกับอาชีพชุมชนการแสดงผลงานภาพวาดพญานาค 22 จุดโดยอิงจากวิถีชีวิตและอาชีพของเจ้าของบ้าน อาทิ ภาพพญานาคตัดผม อาชีพเจ้าของบ้านคือช่างตัดผม ภาพพญานาครดน้ำต้นไม้ อาชีพเจ้าของบ้านคือทำสวนเกษตร ภาพพญานาคขับรถไถนา อาชีพเจ้าของบ้านมีรถไถนารับจ้าง เป็นต้น ซึ่งร่วมมือกับกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการ “วาดบ้านแปลงเมือง” ขึ้นโดยทำการลงพื้นที่สำรวจอาชีพ ความสนใจและสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่คนในชุมชนมีความเชื่อและศรัทธาเรื่องพญานาค
วิถีชีวิตชาวบ้านบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชน ซึ่งการนำศิลปะเข้ามาก็เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงและเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวรวมถึงคนไทยด้วยกันเองได้รู้และช่วยอนุรักษ์ให้อยู่สืบต่อไปอีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเข้าสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมในวิถีพื้นบ้าน