เครือข่ายฯ ปชช. ลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์โต้โฆษณาเขื่อนไซยะบุรี
ชี้ หลายข้อกล่าวอ้างในหน้าหนังสือพิมพ์ ขาดหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์และไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อสาธารณะ
ภายหลังการเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างเป็นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม บริษัทผู้พัฒนาเขื่อนได้แก่ CK Power และ Xayaburi Power ได้ลงโฆษณาหุ้มปกในหนังสือพิมพ์หลายฉบับในประเทศไทย โดยกล่าวอ้างถึงการเป็นต้นแบบของเขื่อนในเรื่องต่างๆ 8 ประการ ได้แก่ การเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ "โรงไฟฟ้าล่องหน" โรงไฟฟ้าพลังน้ำลดภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้ามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โรงไฟฟ้าพัฒนาชุมชน โรงไฟฟ้ารักษ์ปลา โรงไฟฟ้าเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงานของภูมิภาค และ ต้นแบบการสร้างสมดุลย์ระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ซึ่งได้ทำงานติดตามกรณีผลกระทบจากการพัฒนาบนแม่น้ำโขงมาตลอด มีข้อชี้แจงต่อการกล่าวอ้างของบริษัททั้ง 8 ประการจากข้อเท็จจริงจากพื้นที่และการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในรายงานที่ตีพิมพ์ โดย International Rivers, Review of Design Changes Made For the Xayaburi Hydropower Project
ในข้อกล่าวอ้างว่าเขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) ทางเครือข่ายฯ ระบุว่าแม้จะเรียกตัวเองว่า “ฝายทดน้ำ” แต่โครงสร้างของเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่พาดผ่านกลางลำน้ำโขง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่คือเขื่อนขนาดใหญ่ (mega dam หรือ large dam) ที่มีความสูง 35 เมตรและยาวมากกว่า 820 เมตร
นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับน้ำตอนเหนือเขื่อนขึ้นไปประมาณ 30-65 เมตร โดยเอกสารโครงการเองระบุว่า มีอ่างเก็บน้ำกินความยาวไปตามลำน้ำถึง 80 กิโลเมตร (impoundment)
“สิ่งที่ทางเจ้าของโครงการอ้างถึง run of river และ in flow=out flow เป็นการนำเสนอข้อมูลแบบไม่มีข้อมูลปัจจุบัน (real time) ที่สำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลที่กล่าวอ้างนี้ สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงหรือร่วมตรวจสอบได้” เครือข่ายฯ ระบุ
ในข้อกล่าวอ้างว่าเขื่อนเป็นต้นแบบ "โรงไฟฟ้าล่องหน" โดยใช้ความก้าวหน้าทุกแขนงและที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ออกแบบและคัดสรรเทคโนโลยีเพื่อให้ฝูงปลา ตะกอน และเรือในแม่น้ำโขงยังคงเดินทางผ่านโครงสร้างได้ เสมือนว่าไม่มีโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ ทางเครือข่ายฯ มองว่า เป็นการสร้างวาทกรรมที่อำพรางความจริง ทั้งที่เป็นเขื่อนคอนกรีตสูงกว่า35 เมตรและยาว 820 เมตรกขวางกั้นลำน้ำโขง
เครือข่ายฯ ระบุว่า ประเด็นที่สำคัญคือ การปรับแบบเขื่อนใหม่ที่อ้างว่าออกแบบโดยที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกและคัดสรรเทคโนโลยีที่สุดนั้น กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีการให้ข้อมูลมากเพียงพอเพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มีการปรับปรุง อาทิ ทางปลาผ่าน ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลเพียงพอ รวมทั้งหลักเกณท์ในการเดินเครื่อง
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่าเขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำลดภาวะโลกร้อน เครือข่ายฯ กล่าวว่า เป็นการตีความเอาเองโดยไม่ได้คำนวณความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งมีคุณค่าและมูลค่า ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ประเมินค่ามิได้ และยังไม่มีหลักประกันใดๆว่า เขื่อนจะผลิตไฟฟ้าได้จริงตามจำนวนที่ระบุไว้ตามสัญญาซื้อขาย
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่าเขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้ามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด เครือข่ายฯ กล่าวว่าเป็นเพียงคำอธิบายที่กล่าวอ้างของผู้พัฒนาโครงการเท่านั้น เพราะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวต่อสาธารณะ
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่า เขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพัฒนาชุมชน เครือข่ายฯ ระบุว่า ผู้พัฒนาเขื่อนไซยะบุรีนับ “ผู้ได้รับผลกระทบ” หรือ “ชุมชน” เพียงผู้ที่อาศัยในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าหรือผู้ที่อพยพออกไปจากแม่น้ำโขงเพื่อให้สามารถสร้างเขื่อนได้เท่านั้น ในขณะที่ชุมชนลุ่มน้ำโขง มีประชาชนอาศัยและพึ่งพาทรัพยากรลุ่มน้ำโขงตอนล่างถึง 60 ล้านคน
“วิธีคิดของผู้พัฒนาเขื่อนไซยะบุรี เป็นการกีดกันและไม่นับผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากที่อาศัยและพึ่งพาแม่น้ำโขง อาทิ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัดภาคอีสานของไทย ที่กำลังเผชิญผลกระทบจากเหตุการณ์ระดับน้ำโขงผันผวนผิดฤดูกาลอยู่ในขณะนี้ การประปาเทศบาลและภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำโขงเนื่องจากแม่น้ำโขงท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรีลดระดับลงอย่างรวดเร็ว” เครือข่ายฯ ระบุ
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่าเขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าฟ้ารักษ์ปลา เครือข่ายพบว่า ระบบต่างๆ ที่ผู้พัฒนาเขื่อนระบุไว้ในเนื้อหาโฆษณานั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยไม่มีการพิสูจน์ และไม่มีสถาบันที่เป็นกลางที่เชื่อถือได้ให้การรับรอง ทั้งนี้ การศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านมาพบว่า ลุ่มน้ำโขงมีการประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปลาธรรมชาติที่ศึกษาพบถึง 1,000ชนิด และการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่ากว่า 70% เป็นพันธุ์ปลาอพยพทางไกล (migratory species) ซึ่งมีพฤติกรรมการอยู่อาศัย หาอาหาร อพยพ แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ฤดูกาล และระบบนิเวศ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนและการอพยพของปลาน้ำโขงที่หลากหลายได้
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่าเขื่อนเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงานของภูมิภาค เครือข่ายฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของประเทศไทย มีปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศอยู่ที่ 12,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 30 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ การผลิตไฟ้ฟ้าของขื่อนไซยะบุรีเข้าสู่ระบบตามสัญญาซื้อขาย จึงเท่ากับการซื้อไฟฟ้ามาสู่ระบบสำรองพลังงานของประเทศเท่านั้น
เครือข่ายฯ ยังระบุอีกว่า การนิยามว่าพลังงานน้ำ เป็นพลังงานหมุนเวียนและเป็นทางเลือก แย้งกับลักษณะของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องปิดกั้นแม่น้ำสายใหญ่และต้องการพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของประชาชน และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และที่สำคัญ ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเหล่านั้นไม่ได้ถูกคำนวนอยู่ในความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ แต่มีการคำนวนความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะเจ้าของโครงการเท่านั้น เครือข่ายฯ ระบุ
และในข้อกล่าวอ้างที่ว่าเขื่อนเป็นต้นแบบของ “การสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม” เครือข่ายฯ ระบุว่า ความเห็นผู้เชี่ยวชาญในรายงานฯ ชี้ว่า การเพิ่มเงินลงทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในวงเงินที่สูง ไม่ได้แปลว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผล
เครือข่ายฯ เรียกร้องให้บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ มีมาตราการที่แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร เครือข่ายเรียกร้องให้ต้องทำการประเมินโดยอิสระ ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีที่ธนาคารเคยบอกว่าได้ตรวจสอบแล้ว กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคม