เตือนอันตรายจากดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ เสี่ยงหูตึง ผิวหนังไหม้
กรมอนามัย เตือนอันตรายจากดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ เล่นประมาท เสี่ยงหูตึง ผิวหนังไหม้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายจากการเล่นดอกไม้เพลิง โดยประมาทในช่วงคืนวันลอยกระทง 11 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ว่า ในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบางหน่วยงานจะมีมาตรการควบคุมการเล่นดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ ออกมาบังคับใช้ แต่ก็ยังมีข่าวการได้รับบาดเจ็บแทบทุกปี เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ยังคงเล่นดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ โดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินตามมา โดยความร้อนของประทัดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้ อีกทั้งหากสัมผัสหรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ เข้าสู่ร่างกาย อาทิ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน สารโปตัสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรต มีพิษมากอาจทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การจุดแต่ละครั้ง อาจก่อให้เกิดเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร ซึ่งตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้กำหนดบทลงโทษ สำหรับการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง จนก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนอาจเป็นเหตุรำคาญ ต้องระวางโทษตามมาตรา 74 จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับประชาชน หากเป็นไปได้อยากให้ลดการเล่นดอกไม้เพลิง ประทัด พลุ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะห้ามจุดในร้านอาหาร สถานบันเทิงและแหล่งชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะอาจเกิดอันตรายและเพลิงไหม้ได้ นอกจากนี้ ควรเก็บให้ห่างจากเด็กและห้ามเด็กจุดเล่นโดยลำพังเด็ดขาด โดยผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดและควรสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ไม่ใช่ของเล่นและเป็นวัตถุอันตรายสำหรับเด็ก และไม่ควรอยู่ใกล้กับบริเวณที่มี การจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 โทรแจ้งได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว