สพฐ.ยกเครื่องอิงลิชโปรแกรม

สพฐ.ยกเครื่องอิงลิชโปรแกรม

จากข้อมูลดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยร่วงต่อเนื่อง 3 ปี โดยอยู่ในระดับต่ำมาก (Very Low Proficiency)ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก แม้ดีกว่ากัมพูชา และเมียนมา แต่ต่ำกว่า มาเลเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

หากเทียบเป็นรายภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ และภาคกลาง จะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เล็กน้อย ขณะที่กรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษมากที่สุดของประเทศ รองลงมาคือ นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ

ว่ากันว่าปัจจุบันสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายโปรแกรม เช่น โปรแกรมนานาชาติ IP (Education Hub) จำนวน 19 แห่ง English Program (EP) ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และ Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 แห่ง

ปรากฏว่าเมื่อไปสอบเพื่อเข้าเรียนต่อหลักสูตรปกติในระดับที่สูงขึ้น แม้ว่าจะสอบเรียนต่อได้ แต่จะมีปัญหาที่ต้องปรับตัวระหว่างการเรียนต่อเพราะเรียนวิชาต่างๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ แต่พอมาเรียนหลักสูตรภาษาไทยทำให้เด็กไม่เข้าใจในรายวิชา ส่งผลให้เรียนล่าช้าหรือเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

ล่าสุดสพฐ.ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการปรับการจัดการเรียน ออกเป็น 3 หลักสูตรเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนเลือกเรียนตามความสมัครใจ โดยแบ่งเป้น 1. หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษา หรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 

2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น (Intensive English Program : IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 สามารถสื่อสารเรียนรู้และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ 

3.หลักสูตรยกระดับภาษาอังกฤษสำหรับทุกโรงเรียน (General English Program : GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม

การปรับหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนตามที่ต้องการได้ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษนั้นการจัดหา “ครูผู้สอน” คือปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ ซึ่งที่ผ่านมา โรงเรียนที่เปิดหลักสูตรดังกล่าวล้วนประสบปัญหาในการจัดหาครูได้ไม่ต่อเนื่อง 

อำนาจ วิชยานุวัติ   รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสพฐ.จะเปิดเว็บไซต์ในการจัดหาครูต่างชาติ เพื่อให้ครูต่างชาติสามารถสมัครและส่งคุณสมบัติของตนเองมาไว้ที่เว็บไซต์นี้ เพื่อให้สถานศึกษาที่ต้องการครูต่างชาติ เข้ามาเลือกจ้างครูได้ ซึ่งจะเป็นการตัดนายหน้าหาครูเข้ามาสอนออกไป และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน

รวมทั้งให้ สพฐ.จัดทำสัญญาจ้างงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานศึกษา ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล ได้จัดทำคู่มือ English HANDBOOK DRAFT สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันในปีการศึกษา 2562 นี้

นอกจากนั้นจะฟื้นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ประจำจังหวัด โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ศูนย์ ERIC เป็นศูนย์พัฒนาหลักสูตรด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ พร้อมกับการพัฒนาครูและนักเรียน โดยศูนย์นี้จะมีการทดสอบระดับความรู้ภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนด้วยว่าอยู่ในระดับไหนหรือขาดทักษะภาษาในด้านไหน เพื่อจะได้เติมเต็มความรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างตรงจุด 

รวมถึงจะมีการประเมินภาษาอังกฤษโดยใช้มาตรฐานของ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้อธิบายระดับความเชี่ยวชาญทางภาษาจากยุโรปด้วย การดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น

อำนาจ กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนทุกคน ตามที่“ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายที่จะยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนทุกคน

โดยต้องการขับเคลื่อนโรงเรียนสองภาษาในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ประมาณ 2,000 แห่งนั้น มีบางเรื่องที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของหลักเกณฑ์ อาทิ การเปิดห้องเรียน Mini English Program (MEP) ในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษได้มากขึ้นในกลุ่มโรงเรียนเหล่านี

รวมทั้งการดำเนินการเรื่องดังกล่าวยังมีข้อจำกัดของหลักเกณฑ์การเปิดห้องเรียน MEP โดยโรงเรียนต้องมีคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) สูงขึ้นอย่างน้อย 3 ปี  ดังนั้น สพฐ.จะแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ หลังจากนั้นจะส่งหลักเกณฑ์การปรับปรุงแก้ไขแล้วไปยังคณะกรรมการรับนักเรียนระดับจังหวัดพิจารณาในการเปิดห้องเรียน MEP เพื่อให้การขับเคลื่อนห้องเรียน MEP ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ การเรียน English Program เป็นโครงการพิเศษ ที่เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสุขศึกษา แล้วแต่ละโรงเรียนจะจัดเพิ่มเติม นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะทางด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน กับเจ้าของภาษาซึ่งทำให้เด็ก ๆ มีความเคยชินและคุ้นเคยกับภาษาและเจ้าของภาษา โดยที่บางคนอาจจะเรียนวิชาวิทย์ คณิต กับครูคนไทยแล้ว ภาษาไทยและบางวิชาก็เรียนกับคุณครูคนไทย เพื่อเตรียมตัวในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตามการที่รมว.ศธ.ต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษา นั้นเป็นเพราะต้องการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานเพราะในอนาคตประเทศจะต้องเตรียมตัวเรื่องการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษา

จะเป็นการดีต่อทรัพยากรของประเทศหากว่าสามารถทำให้โรงเรียนประจำอำเภอ2,000 แห่ง จัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษได้ในปีภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยเป็นต้นไปส่วนของอาชีวศึกษาก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะภาษาควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน