'จิราพร' โต้ประธานฯ ย้ำเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรไม่มีลงมติ
กรรมการวัตถุอันตราย สายผู้ทรงคุณวุฒิ โต้ประธานฯ ย้ำการเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรไม่มีลงมติพร้อมยื่นหนังสือลาออก
โดย รศ.ดร.ภญ. จิราพร ลิ้มปนานนท์ ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวในเช้าวันนี้อีกครั้ง เรียนถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย รมว. ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจว่า เธอไม่ได้ร่วมร่างมติ เพียงแต่ได้กล่าวในที่ประชุมให้คงข้อ 1 ที่ขอให้แบนสารทั้ง 3 ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามมติของคณะกรรมการฯ เมื่อ 22 ตุลาคมไว้ โดยขอให้ย้ายมาเป็นข้อ 2 จากนั้น จึงเดินไปที่ฝ่ายเลขาเพียงครั้งเดียว และเมื่อเห็นว่ามีหลายคน"กำกับ" จึงเดินกลับด้วยความหดหู่
“ย้ำอีกครั้งว่า ในที่ประชุมไม่มีการลงมติ ไม่มีการนับองค์ประชุม ดังนั้น ในฐานะประธาน จะไปแถลงข่าวอ้างเสียงมติเอกฉันท์ไม่ได้ ดิฉันขอยืนยันจุดยืนเดิมของดิฉันในการแบนสารทั้งสามชนิดมาโดยตลอด” รศ.ดร.ภญ. จิราพร กล่าว
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ภญ. จิราพร ได้แสดงจุดยืนโดยขอลาออกผ่านการโพสต์เฟสบุ๊ค ก่อนที่จะส่งจดหมายลาออกจากการเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่า ตนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กลไกคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นกลไกที่สำคัญในเชิงนโยบายที่จะควบคุมวัตถุอันตรายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม แต่จากการประชุมพิจารณาในเรื่องวัตถุอันตรายทางเกษตรกรรมที่ผ่านมา กลไกดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดีได้
ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนขอยืนยันให้มีการยกเลิกการใช้สารทั้งสามชนิด ซึ่งเป็นจุดยืนที่ยึดถือมาตลอด และหวังว่าคณะกรรมการฯ จะยืนยันมติของวันที่ 22 ตุลาคม เพื่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภค
“ดิฉัน จึงขอลาออกจากการเป็นกรรมการวัตถุอันตราย นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุในจดหมาย
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน FTA Watch ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ รศ.ดร.ภญ. จิราพรมาโดยตลอดในประเด็นการค้าระหว่างประเทศด้านสิทธิบัตรยา ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คกล่าวถึง รศ.ดร.ภญ. จิราพรว่า หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อ รศ.ดร.ภญ.จิราพร แต่อาจารย์จิราพร มีประสบการณ์ทำงานด้านเภสัชศาสตร์เพื่อสังคมมายาวนาน นับตั้งแต่เข้าทำงานที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517 โดยมีผลงานวิชาการที่สำคัญทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ
กรรณิการ์กล่าวว่า หลังเกษียณปี 2551 รศ.ดร.ภญ.จิราพร ยังทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ช่วยผลักดันการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายา 6 รายการ อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคมะเร็ง และทำหน้าที่ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคอาเซียน และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสภาเภสัชกรรม
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ยังทำงานวิจัยระบบยาและระบบทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมๆ กับการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเข้าถึงยา และการเฝ้าระวังผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อระบบสาธารณสุข รวมทั้งประเด็นล่าสุดอย่างกัญชาที่อาจารย์ได้ช่วยภาคประชาสังคมตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นการขอสิทธิบัตรพันธุ์พืชที่ตามกฎหมายไม่ให้ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังรับคำขอดังกล่าวไว้ในกระบวนการพิจารณา
นอกจากนี้ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ยังรับหน้าที่สืบสานงานจาก ผศ.สำลี ใจดี ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร อาทิ กระท่อม กัญชา และสมุนไพรอื่นๆ ให้สามารถนำกลับมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ อย่างปลอดภัยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์, กรรณิการ์ระบุ
“อ.สำลี ผู้ล่วงลับมักเคยพูดเสมอ เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพเภสัชกรรมคือเกียรติแห่งการรับใช้ผู้ป่วยและสาธารณชน” กรรณิการ์กล่าวถึงงานที่ รศ.ดร.ภญ. จิราพรทำเพื่อสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา