'ปกปิดข้อมูล' อันตรายกว่าโคโรน่าไวรัส
ขณะนี้ทั่วโลกเกิดกระแสข้อเรียกร้องให้ "จีน" ส่งรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้กับ WHO เพราะก่อนหน้านี้จีนปิดข่าวเงียบ จนทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและในหลายประเทศ
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ แรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ล่าสุด (22 ม.ค.) เพิ่มขึ้นเป็น 570 คน จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนที่เพิ่มขึ้นเป็น 17 คน แต่สิ่งที่น่ากลัวและถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้การระบาดของไวรัสชนิดนี้รุนแรงยิ่งขึ้นคือ การไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างหมดเปลือกของรัฐบาลจีน
จนถึงวันนี้จีนยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยสัมผัสเชื้อกี่วันจึงมีอาการ การดำเนินการรักษาโรคของคณะแพทย์ดำเนินการอย่างไร ผลการรักษาหรือการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่เปิดเผยถึงภาวะแทรกซ้อนจากกระบวนการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งตามระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลจีนต้องรายงานรายละเอียดที่กล่าวมาให้ประเทศอื่นๆ ได้รับทราบ เพื่อช่วยกันหาทางรับมือไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปมากกว่านี้
ขณะนี้รู้แค่เพียงว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่น่าจะมีต้นตอมาจากค้างคาว แต่สัตว์เลี้ยงประเภทไหนบ้างที่ส่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มาสู่มนุษย์ ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากคนติดเชื้อกลุ่มแรกๆ มาจากตลาดขายปลา และขายเนื้อสัตว์ประเภทอื่นด้วย
และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (WHO) ออกแถลงการณ์วันพุธ (22 ม.ค.) ว่า ยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศกรณีโรคปอดอักเสบแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยขอหาหลักฐานเพิ่มเติม และจะจัดการประชุมร่วมกันรอบใหม่วันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและเป็นสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน วันนี้เป็นการประชุมหารือที่ยอดเยี่ยม แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ เราจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่ม" แถลงการณ์จากดับเบิลยูเอชโอ ระบุ
นี่ไม่ใช่การกล่าวหาจีนลอยๆ เพราะจีนเคยมีประวัติที่ไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ระบาดรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อปี 2545 มาแล้ว ซึ่งต้นตอของโรคนี้ก็มาจากเชื้อไวรัสโคโรน่าเช่นเดียวกัน โดยผู้ป่วยโรคซาร์สคนแรกเป็นชาวนามณฑลกวางตุ้ง อาการป่วยคล้ายโรคปอดบวมติดเชื้อจนเสียชีวิต แต่จีนไม่คิดว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงไม่รายงานให้ดับเบิลยูเอชโอรู้ตามระเบียบที่กำหนดไว้
ท้ายที่สุดมีผู้ติดเชื้อไวรัสซาร์สเดินทางจากกวางตุ้งมาพักที่โรงแรมในฮ่องกง กลายเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสตัวนี้ให้แก่แขกคนอื่นๆ ในโรงแรม จนลามไป 30 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แคนาดา ฯลฯ และทำให้มีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 8,000 คน เสียชีวิตกว่า 770 คน
เมื่อการแพร่ระบาดดำเนินมาถึงจุดนี้ จึงมีกระแสเรียกร้องจากคนทั่วโลก ให้จีนรีบนำรหัสพันธุกรรมไวรัสสายพันธุ์ใหม่โคโรน่าไวรัส 2019 ส่งให้องค์การอนามัยโลก เพื่อให้ทุกประเทศมีโอกาสตรวจสอบ และใช้ประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วย
รวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
------------------------------------------------------------------
*หมายเหตุโดยกองบรรณาธิการ
บทความนี้เป็นการเขียนเพื่อตั้งข้อสังเกตถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากว่า จีนมีการปิดบังข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับไวรัสอู่ฮั่น โดยเทียบเคียงกรณีการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ระบาดรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อปี 2545
อย่างไรก็ตาม กรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 จีนเองก็ได้ทำการบันทึกรหัสพันธุกรรมในธนาคาร และช่วยให้ให้ไทยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของไวรัสดังกล่าวมาเทียบเคียงและพบว่าตรงกับที่ตรวจเจอจากผู้ป่วยชาวจีนในไทย ดังเช่นที่กรุงเทพธุรกิจเคยได้รายงานไปก่อนหน้านี้
เพียงแต่การให้ข้อมูลของจีนอาจยังไม่เพียงพอ นำมาสู่การเรียกร้องจากนานาประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการทราบข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำมาประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ ดังที่ผู้เขียนระบุไว้ในบทความ