ทำไมต้องฆ่า! ถอดปริศนา 'กราดยิงโคราช'

ทำไมต้องฆ่า! ถอดปริศนา 'กราดยิงโคราช'

ความคลุ้มคลั่ง หรือขาดสติ อะไรกันแน่ที่เป็นมูลเหตุของเหตุการณ์ทหาร "กราดยิงโคราช" ย้อนรอยจิตวิทยาฆาตกรรม นอกจากความรู้สึกโกรธแค้นที่ทำให้เขาลงมือฆ่าคน

จากกรณีเหตุกราดยิง กลางตัวเมือง นครราชสีมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในบริเวณตัวเมือง ก่อนที่ผู้ต้องสงสัยจะหลบหนีเข้าไปในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมเพื่อจับกุมตัว

นอกจากการติดตามข่าวสารจนทำให้ #กราดยิงโคราช ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์แล้ว ผู้คนในโซเชียลต่างเข้าไปแสดงความเห็นในเฟซของผู้ต้องสงสัยอย่างเผ็ดร้อน ทั้งความเห็น การแสดงอารมณ์โกรธผ่านอีโมจิคอน รวมทั้งการแชร์ข้อความที่เจ้าตัวโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ทำไมต้องลงมือ แม้จะมีข่าวเรื่องความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น หรือที่เจ้าตัวยืนยันว่า 3 ศพแรกคือความตั้งใจ ส่วนที่เหลือเป็นการป้องกันตัว แต่สังคมก็ยังต้องการคำตอบที่ชัดเจนอยู่

“การที่จะไปทำร้ายใคร ถ้าไม่ทำ เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ไม่รอด เหมือนกับถูกกดดันในระดับหนึ่ง เพราะเจอคนปกติอยู่ๆ เราจะคิดฆ่าคนอื่นหรือเปล่า ก็ไม่ ถ้าเขาไม่ได้มาล้ำเส้นตัวเรา” ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา จากศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เคยให้ข้อสังเกตถึงมูลเหตุเบื้องต้นของการนำไปสู่การมุ่งเอาชีวิตที่เกิดขึ้นกับ กรุงเทพธุรกิจ

เธอเล่าว่า สัญชาตญาณพื้นฐานของคนเรานั้นมีทั้งเรื่องของการมีชีวิต และความตาย เชื่อมโยงกันอยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

“ปกติสัญชาตญาณของมนุษย์ในด้านจิตวิทยาเรามันก็มีอยู่แล้ว มันเป็นสัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่ และสัญชาตญาณของความตาย ความคิดที่จะฆ่าคนอื่นเกิดจากความคิดที่ต้องการทำลาย เพราะมันเกิดจากความแค้น หรือรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ เพราะฉะนั้นเมื่อรูสึกว่าตัวเองถูกกระทำ การที่ไปทำร้ายใครนั่นก็หมายถึงการให้ตัวเองอยู่รอด การที่จะไปทำร้ายใคร ถ้าไม่ทำ เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ไม่รอด เหมือนกับถูกกดดันในระดับหนึ่ง เพราะเจอคนปกติอยู่ๆ เราจะคิดฆ่าคนอื่นหรือเปล่า ก็ไม่ ถ้าเขาไม่ได้มาล้ำเส้นตัวเรา”

อัพเดทสถานการณ์ (9 ก.พ.63)

จับตาย! คนร้าย ‘กราดยิงโคราช’ ถูกวิสามัญ เสียชีวิตแล้

รวมยอด 'กราดยิงโคราช' เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บพุ่ง 57 ราย (12.00 น.)

ลำดับเวลา ทหารกราดยิง 21 ศพ

สดุดีผู้กล้า '2 ตำรวจ' พลีชีพปิดปฏิบัติการ 'กราดยิงโคราช'

อรินทราช 26 หน่วยจู่โจมผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสำคัญ

ขณะที่ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ฯ แยกปัจจัยที่นำไปสู่การลงมือฆ่าซึ่งสัมพันธ์กันระหว่าง กาย ใจ อารมณ์ และสังคมไว้ 9 ลักษณะได้แก่

  • ความแค้น
  • แผลใจ (Trauma) หรือ ภาวะสะเทือนขวัญ
  • ภูมิหลังของบุคลิกภาพ (Sociopathic)
  • การฆ่าโดยหน้าที่
  • โรคจิต
  • พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อ
  • ลัทธิ
  • ตระหนกตกใจ (Panic)
  • อำนาจและผลประโยชน์

“อย่างการเกิดทรอมาขึ้นกับคนเราจะเกิดผลที่ตามมา 3 อย่างคือ โถมใส่ (ต่อสู้) ถอยหนี หรือนิ่งชั่วขณะ สมมติว่า เขาอยู่ในช่วงของวัยรุ่นพอโตขึ้นมาความแค้นมันระเบิดก็ไปฆ่าคนอื่น หรือพวกอาฆาตสังคมที่ถูกทำร้ายจากสังคม ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต อย่างภัยธรรมชาติ ฝรั่งจะเจอบ่อย หิมะถล่ม เมื่อเขาจะถูกฆ่าฉะนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด หรือสังคมทอดทิ้งเขา เขาลำบากยากจนก็ไม่สนใจเขา คิดว่าโลกนี้โหดร้าย เขาจึงต้องการทำลายสังคม ไม่เกี่ยวกับจิตสำนึกที่เจาะจงว่าเป็นใครแล้ว ไม่เกี่ยวกับจิตไร้สำนึกที่มีตัวตนแต่จำไม่ได้ แต่นี่คือมันมั่วไปหมด เป็นใครก็ได้ ก็เป็นมือปืนอาชีพ รับจ้างฆ่า ทำร้ายได้หมด ไม่รู้สึกถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ” เขาบอก

ขณะที่คำอธิบายใจฝั่งตำรวจกองปราบปราม ได้แยกประเภทแรงจูงใจตามหลักอาชญวิทยาในการก่อเหตุฆาตกรรมในมุมมองที่ต่างออกไป โดยตำรวจ แบ่งคนร้ายเกี่ยวกับการฆาตกรรมออกเป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มแรก คือ ฆาตรกรธรรมดา (Murderer) ฆาตรกรธรรมดาจะฆ่าคนด้วยสาเหตุพื้นฐาน
  • กลุ่มที่สอง คือ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) กลุ่มนี้เป็นความผิดปกติทางจิต จิตใต้สำนึก
  • กลุ่มที่สาม คือ การฆ่าแบบบันเทิงใจ ความผิดปกติทางอารมณ์ (spree killer) โดยเรื่องนี้การศึกษายังไม่เป็นวงกว้างมากนัก
  • กลุ่มที่สี่ คือ ฆาตกรรมหมู่ (Mass Murder)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เกิดการประทุษร้ายจนถึงชีวิตจะมีหลายสาเหตุ แต่ทั้งหมดล้วนเป็น ‘ผลกระทบ’ ที่เข้าไป ‘ทำลาย’ และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ความสูญเสียทั้งตัวตน ร่างกาย และจิตใจอันนำไปสู่พฤติกรรมการทำลายล้างของคนๆ นั้นในที่สุดนั่นเอง

“ถ้าไม่แค้นสุดๆ ก็ต้องตื่นตระหนกตกใจสุดขีด หรือมีทรอมาที่รุนแรงมาก เพราะคนยังมีเรื่องมโนธรรม และความกลัวอยู่ ยังต้องการมีความหวัง มีชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ต้องการทำลายตัวเอง ถึงยังไงมนุษย์เราก็ยังมีสัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่” ทั้ง ดร.จิตรา และรศ.ดร.วัลลภ ยืนยัน

จากเอกสารประกอบการบรรยาย วิชา พฤติกรรมศาสตร์ ศ.ดร.พริ้มเพรา ดิษยวณิช ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า อารมณ์ก็เป็นพลังที่ทรงอำนาจอย่างหนึ่งของมนุษย์ทำให้สภาวะทางร่างกายถูกยั่วยุจนเกิดความเปลี่ยนแปลง และแสดงออกมาในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง คำพูด สีหน้า หรือท่าทาง โดยประกอบด้วยปฏิกิริยาทางอารมณ์ (Emotion Action) เช่น การวิ่งหนีจากสิ่งที่เรากลัว การตอบสนองทางระบบประสาทอิสระ (Autonomic Responses) เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้นและเหงื่อออก บริเวณฝ่ามือเมื่อตกใจกลัว พฤติกรรมที่แสดงออกมา (Expressive Behavior) เช่น การยิ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวด และความรู้สึก (Feelings) เช่น ความโกรธ ความปีติ ความเศร้าโศก

อารมณ์ความรู้สึกในทุกอากัปกิริยาที่คนเราแสดงออกมาจึงล้วมมีความสัมพันธ์กันแทบทั้งสิ้น แม้ขณะที่คนเรากำลังคิดที่จะฆ่าใครสักคนหนึ่ง!

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จะเริ่มจาก ความต้านทานทางกระแสไฟฟ้า (Electrical Resistance) ของผิวหนังลดลง ความต้านทานของผิวหนังเช่นนี้บางทีเรียกว่า Galvanic Skin Response (GSR) ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ปริมาตรของเลือดในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็วขึ้น บางรายอาจมีอาการเจ็บแปลบที่บริเวณหัวใจ การหายใจเร็วและแรงขึ้น รูม่านตาขยายทำให้แสงตกลงไปบนจอภาพ (Retina) มากขึ้น การหลั่งของน้ำลายลดลง ทำให้รู้สึกคอแห้ง ขนลุกชัน (Goose Pimples) การเคลื่อนไหวของกะเพาะและลำไส้ ลดลงหรือหยุดไปเลย เลือดจะเปลี่ยนทิศทางจากกระเพาะและลำไส้ไปยังสมองและกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อตึงหรือกระตุก และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบของเลือดที่เห็นชัดที่สุดคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพื่อทำให้พลังงานเพิ่มมากขึ้น


ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราโกรธแล้วใจจะสั่น หรือบางคนโกรธแล้วจะมีแรงมาก จนทำอะไรรุนแรงเกินกว่าเหตุหากไม่ยับยั่งชั่งใจ