เจาะระบบการ 'สอบเข้า' เรียนต่อของเด็กไทยกับ พี่ลาเต้ เด็กดี
ชวน มนัส อ่อนสังข์ หรือ พี่ลาเต้ที่รู้จักกันดีในฐานะกูรูการ "สอบเข้า" เพื่อเรียนต่อแห่งเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม (Dek-D.com) มาตอบคำถามเรื่องระบบ "การศึกษาไทย" และปัญหาคาใจว่าทุกวันนี้ไทยกำลังย่ำอยู่ที่เดิมหรือเปล่า?
ใครว่าเป็นเด็กไม่เจ็บปวด! โดยเฉพาะเรื่องการ "สอบเข้า" เพื่อศึกษาต่อที่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆ วัยมัธยมปลาย ยิ่งเปลี่ยนระบบการสอบเข้าบ่อยเท่าไหร่..คำถามคาใจก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวน มนัส อ่อนสังข์ หรือ พี่ลาเต้ ที่รู้จักกันดีในฐานะกูรูการสอบเข้าแห่งเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม (Dek-D.com) มาตอบคำถามเรื่องระบบการศึกษาไทยและปัญหาเกี่ยวกับระบบการสอบเข้าในมิติต่างๆ ว่าเด็กไทยจะมีทางรอดจากวังวนเหล่านี้มั้ย?
- จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมมา 12 ปี ปัญหาที่โดนถามบ่อยที่สุดคือเรื่องอะไร
เรื่องหลักๆ คือเรื่องระเบียบ ขั้นตอน และระบบการ "สอบเข้า" ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยรวมทั้งหมด 4 ระบบด้วยกัน ได่แก่ ระบบ Entrance ระบบ Admission ระบบ Clearing House และสุดท้าย ระบบ TCAS หรือ Thai university Central Admission System ที่ใช้ในปัจุบัน ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561
ด้วยความที่ระบบการ "สอบเข้า" มันเปลี่ยนใหม่มาตลอด โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังที่เปลี่ยนบ่อยขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนบางคนตามไม่ทัน ปัญหาหนึ่งคือเวลาออกระเบียบการในแต่ละครั้งนั้น มีปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจความหมายมาก มีหลายคนที่ติดในคณะที่ตัวเองชอบ แต่ผิดพลาดในขั้นตอนการยืนยัน
"หากมองในมุมที่เป็นสื่อกลางในการเรื่องการเรียนต่อ การสอบเข้าทุกระบบมีข้อดีหมด แต่บางระบบก็มีข้อเสีย เช่น การเอื้อให้เด็กกลุ่มหนึ่ง ทางกระทรวงบอกว่าการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อเป็นปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่อยากฝากบอกว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม อยากให้ทางกระทรวงทดลองระบบก่อน และทดลองกับเด็กหลายๆ กลุ่ม"
มนัส อ่อนสังข์ กูรูแห่งเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมแสดงความคิดเห็นว่า การสอบเข้าเพื่อเรียนต่อทุกระบบมีข้อดีหมด แต่บางระบบก็มีข้อเสีย เช่น การสร้างระบบเพื่อเอื้อให้แก่เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น”
ในความเป็นจริงทางกระทรวงฯ ก่อนการเปลี่ยนระบบก็จะมีการทำประชาวิจารณ์ แต่การประชาวิจารณ์นั้นก็ไม่เต็มร้อยซะทีเดียว
- คำถามของเด็กไทยเปลี่ยนไปบ้างไหม
คำถามเปลี่ยนไปเยอะ แต่ชุดคำถามเดิมๆ ก็ยังมีอยู่บ้าง เช่น ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ควรเข้าคณะอะไร แต่คำถามใหม่ๆ ที่แทรกเข้ามาก็มี อย่างเช่น หลักสูตรนี้ของมหาวิทยานี้กับอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งอันไหนน่าสนใจกว่ากัน ซึ่งคำถามแบบนี้มันกำลังสะท้อนว่าความหลากหลายของการ "สอบเข้า" เพื่อเรียนต่อมันกว้างขึ้น เด็กสมัยนี้ไม่ได้สนใจที่ชื่อมหาวิทยาลัยร้อยเปอร์เซ็นเหมือนเด็กสมัยเก่า แต่เขามาสนใจเรื่องวิชาหรือคณะกันมากขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลดีมากกว่า เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรและจุดเด่นต่างกัน ส่วนตัวคิดว่า ณ เวลานี้การศึกษาไทยมันเริ่มสนุกขึ้นมาแล้ว
- การศึกษาไทยกำลังสนุกขึ้นอย่างไร
มองว่าความสนุกเกิดจากเด็กรุ่นใหม่รู้จักตัวเองเยอะขึ้น รู้ตัวว่าชอบอะไร มีการวางแผนตัวเอง วางแผนช่องทางการ "สอบเข้า" เพื่อเรียนต่อ ส่วนหนึ่งเพราะมีเครื่องมืออย่างอินเทอร์เน็ตช่วยให้พวกเขาค้นหาตัวเองได้ง่ายมากขึ้น ไม่ได้ยึดติดกับค่านิยมแบบเก่า
วัดได้จากจากการสำรวจเด็กไทยที่มีอายุ 7-14 ปี จำนวน 2,684 คน พบว่าอาชีพที่เด็กไทยใฝ่ฝันอยากทำมากที่สุดคือ หมอ ครู นักกีฬา ทหาร รองลงมาคืออาชีพในกลุ่มนักกีฬา E-Sport รวมถึงนักแคสเกมก็มาแรงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามกับตัวเอง ตั้งคำถามกับสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในระบบการศึกษา
- มองว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยมีอะไรบ้าง
ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา มันเห็นได้ชัดๆ จากเรื่องแผนการเรียน ตัวอย่างเช่นมีเด็กชอบภาษาฝรั่งเศสแต่ที่โรงเรียนไม่มีแผนการเรียนฝรั่งเศส มีแต่วิทย์-คณิตเลยต้องเรียนแผนวิทย์-คณิตแทน ต้องไปทนเรียนวิชาที่ไม่ชอบ การที่เราเรียนวิชาที่ไม่ถนัดแต่จำเป็นต้องเรียน มันคือความจำใจ แล้วลักษณะแบบนี้มักจะพ่วงมาด้วยการถูกกดเกรด คะแนนไม่ดีบ้าง ส่งผลถึงการ "สอบเข้า" อันนี้เป็นแค่ปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัด มันยังมีปัญหายิบย่อยอีกเยอะเช่นกัน การเปลี่ยนระบบบ่อยก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่ง
เรื่องเงินก็กลายเป็นปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่ว่าพอสอบติดแล้วแต่ไม่มีค่าเทอมไปสนับสนุน มันก็ไม่สามารถเดินต่อได้ ซึ่งมันเป็นส่วนสำคัญสำหรับบางคนในการเข้าเรียนต่อ สรุปค่าใช้จ่ายของเด็กนักเรียนในการสมัครระบบ TCAS เฉลี่ย 3,000 บาทต่อคน แบ่งเป็นค่าสมัครสอบข้อสอบกลางทั้ง GAT PAT 9 วิชาสามัญ และวิชาเฉพาะ 1,000 บาท และ TCAS 4 รอบ 2,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะประมาณหนึ่ง
- เรากำลังย่ำอยู่กับที่หรือเดินไปข้างหน้า?
ข้อนี้ต้องตอบเลยว่าเรากำลังที่จะก้าวไปข้างหน้า อาจจะเกิดคำถามและการหาคำตอบเกี่ยวกับระบบการ "สอบเข้า" มากขึ้น มันมีจุดเริ่มต้นจากที่เด็กๆ เริ่มตั้งคำถามกันแล้วหลังจากนี้มันจะสนุกขึ้นแน่นอน
แต่ถ้าถามว่าอยากให้ ระบบการศึกษาไทย เปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ครอบคลุมหลายส่วนมาก ตั้งแต่นักเรียน คุณครู ผู้บริหาร ซึ่งทั้งหมดมันหนัก นักเรียนก็หนักด้านการสอบ ครูก็หนังทั้งภาระการสอน และการทำงานในโรงเรียนต่างๆ แต่ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเบาลงบ้างภาวะตึงเครียดต่างๆ มันอาจจะดีขึ้นกว่านี้ แต่นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งระบบมันจะดีได้ถ้าเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน
แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงไปตรงมาว่า ระบบการ "สอบเข้า" แบบ TCAS จะเป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่อย่างไรก็ตาม...สิ่งที่เด็กไทยทำได้แน่ๆ ในวันนี้ก็คือ พยายามหาข้อมูลและตรวจสอบขั้นตอนการสอบเข้าให้ได้ละเอียดและทำความเข้าใจกับมันให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความผิดพลาดให้เกิดน้อยที่สุดนั่นเอง