หลักสูตร 'COVID' 101 รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ฉบับรวบรัด

หลักสูตร 'COVID' 101  รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ฉบับรวบรัด

'โคโรน่า' เป็นภาษาละติน แปลว่ามงกุฎ เพราะไวรัสมีลักษณะเป็นรูปมงกุฎ เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง น้ำมูกไหลไม่ใช่อาการโควิด-19 ฯลฯ และมีอะไรอีกบ้างที่น่ารู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่

สำหรับวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ โดยแม้ว่า สถานการณ์โรคในจีน จะเริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยถือเป็นเรื่องดีที่อยู่ในเรื่องร้ายตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา แต่สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในเฟส 2 นั้น ปัจจุบัน ต่างกำลังรอลุ้นว่าจะเข้าเฟส 3 หรือไม่ 

ถึงแม้ไวรัสไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะเป็นตัวร้ายที่เราต้องจัดการ แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงทั้งในเชิงโรคระบาดวิทยา พฤติกรรมการรับบริโภคอาหาร การรักษาความสะอาดในส่วนรวม และมาตรการการจัดการโรคละบาดในประเทศต่างๆ 

นอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต หรืออาการเบื้องต้นหลังได้รับเชื้อแล้ว ยังมีข้อมูลแวดล้อมอื่นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงสรุปรวมฉบับรวบรัดเพื่อให้ทำความเข้าใจโรคนี้เบื้องต้นและป้องกันไปด้วยกัน 

158399302990

  • โคโรน่า เป็นภาษาละติน แปลว่า "มงกุฎ" เพราะไวรัสมีลักษณะเป็นรูปมงกุฎ 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกที่ค้นพบไวรัสโคโรน่า เพราะ  ไวรัสโคโรน่า เป็นไวรัสที่จัดอยู่ในวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาไวรัสทั้งหมด ถูกพบครั้งแรกในช่วงปี 1960 โดยผู้ที่ได้รับเชื้อ เวลานั้นจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป ไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก

“โคโรน่า” ในภาษาละตินมีความหมายว่ามงกุฎ เนื่องจากเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นว่าไวรัสชนิดนี้มีลักษณะคล้ายมงกุฎ โดยเปลือกหุ้มด้านนอกประกอบด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นมีลักษณะปุ่มๆ ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส 

ไวรัสโคโรน่าเป็นไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย เนื่องจากมีสารพันธุกรรมชนิด RNA ดังนั้นเชื้อจึงมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาทำให้การรับมืออาจทำได้ยาก ไวรัสโคโรน่ามีหลากหลายชนิด บางชนิดทำให้เกิดอาการไข้หวัดธรรมดา แต่บางชนิดก็มีความรุนแรงและสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

เชื้อก่อโรค coronavirus สายพันธุ์ใหม่ เชื้อไวรัสนี้มีชื่อเฉพาะว่า 2019-nCoV เป็นไวรัสในลำดับที่ 7 ของไวรัสตระกูล coronaviruses lineage B, จีนัส betacoronavirus, โดยมียีนที่ส่วนหนึ่งที่ตรงกับค้างคาว ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดมาจากพฤติกรรมการบริโภคค้างคาว 

  • COVID-19 ย่อมาจาก

ชื่อทางการของโรคติดเชื้อชนิดนี้เรียกว่า COVID-19 ย่อมาจาก

  • CO แทน corona
  • VI แทน virus
  • D แทน disease
  • 19 แทน ปี 2019 (โรคติดเชื้อนี้เกิดขึ้นในปี 2019)

  • ติดเชื้อทั่วโลก รวม 119,233 คน  

จากเว็บไซต์ worldometers.com เว็บไซต์รวบรวมสถานการณ์โรคโควิด -19 แบบเรียลไทม์ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก  รวม  119,233 คน  เสียชีวิตแล้ว 4,299 คน (*ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 08.00 น) ทั้งนี้มีการแบ่งเป็น 

- ACTIVE CASES คือ  ผู้ป่วยที่ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษา

ผู้ป่วยขั้นไม่ร้ายแรง 42,759 คน

ผู้ป่วยขั้นร้ายแรง 5,747 คน 

CLOSED CASES คือ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาแล้ว 

ผู้ป่วยที่หายแล้ว 66,583 คน 

เสียชีวิต 4,300 คน 

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาที่สุดคือสาธารณะรัฐประชาชนจีน คือ 80,785 เสียชีวิต 3,158  โดยถือว่าเป็นประเทศต้นตอของไวรัส เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2019 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเทศไทย ได้มีการออกนโยบายประเทศสุ่มเสี่ยง 9 ประเทศได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน และสหรัฐ โดยขอความร่วมมือคนไทย งดการเดินทางไปประเทศดังกล่าวชั่วคราว 

ประเทศจีนได้ประกาศมีผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม จำนวนคนที่มีเชื้อโคโรน่าไวรัสในจีนค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้มีเพียง 329 รายที่วินิจฉัยพบใหม่ เทียบกับประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ที่พบราว 3,000 รายต่อวัน 

ข้อสรุปหลักๆ ของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติรวม 25 คนด้านโรคละบาด ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งเข้าไปในจีน รายงานว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เชื่อว่า ควบคุมการระบาดในจีนได้แล้วก็คือ มีการสัมภาษณ์คนที่ติดเชื้อทุกคนทั่วประเทศ เกี่ยวกับคนที่เคยสัมผัส และทดสอบคนกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยมีทีม 1,800 ทีมในอู่ฮั่นที่ทำเรื่องนี้ แต่ละทีมจัดการกับอย่างน้อย 5 คน แต่จัดการนอกอู่ฮั่นก็มีเช่นกัน เช่น ในเซินเจิ้น ผู้ติดเชื้อระบุรายชื่อคนที่ติดต่อด้วยรวม 2,842 คน มีการค้นหาจนพบหมดทุกคน และมีการทดสอบไปแล้วถึง 2,240 ราย โดยมี 2.8% ในจำนวนนี้ที่ติดเชื้อ 

ในจังหวัดเสฉวน มีคนที่ติดต่อด้วยที่ระบุชื่อไว้ 25,493 คน โดยพบตัวแล้ว 99% (25,347 คน) และตรวจสอบไปแล้ว 23,178 คน โดยพบว่ามีการติดเชื้อ 0.9% และ ในจังหวัดกวางตุ้ง มีคนในรายชื่อที่ติดต่อกัน 9,939 คน พบตัวหมดแล้ว มีการตรวจสอบไปแล้ว 7,765 คน และพบติดเชื้อ 4.8% 

  • สาเหตุติดเชื้อส่วนใหญ่ (78-85%) มาจาก ละอองเสมหะ (droplet) ไอ จาม ของคนในครอบครัว ไม่ใช่จากการกระจายจากละอองลอย (aerosol) คือเชื้อในอากาศ เป็นหลัก

ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็น การคัดจมูก เจ็บคอ ไอ และมีไข้ บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการปอดบวมหรือหายใจลำบากร่วมด้วย บางรายก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ 

มีไข้ (88%) 

ไอแห้งๆ (68%) 

ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) 

ไอแบบมีเสมหะ (33%) 

หายใจลำบาก (18%) 

เจ็บคอ (14%) 

ปวดหัว (14%) 

ปวดกล้ามเนื้อ (14%) 

หนาวสั่น (11%) 

คลื่นไส้และอาเจียน (5%) 

คัดจมูก (5%)

ท้องเสีย (4%)

ทั้งนี้ หากมีน้ำมูกไหล ไม่ใช่อาการโควิด -19 

ส่วนในเรื่องสภาพร่างกายก่อนการติดเชื้อของผู้ป่วยนั้น มีสถิติสอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิต โดยจะพบมากที่สุดในผู้ป่วยดังนี้

- โรคหัวใจและหลอดเลือด (10.5)

- โรคเบาหวาน (7.3)

- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง  (6.3)

- โรคความดันเลือด (6.0)

- โรคมะเร็ง (5.6)

- คนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ (1.4%) 

  • เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง อายุเยอะยิ่งเสี่ยง

สถิติจาก เว็บไซต์ worldometers.com ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตในเพศนั้น เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงถึงครึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเท่าๆ กับผู้ชาย มีหญิงชาวจีนเพียง 2.8% เท่านั้นที่ ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคนี้ ขณะที่ผู้ชายราว 4.7% เสียชีวิต

และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อช่วง 3 เดือนสุดท้ายการตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดออกมาไม่ติดเชื้อ  จากการตรวจสอบ 9 ราย ในประเทศจีน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อยืนยันว่าหากเกิดการติดเชื้อในช่วง 3 หรือ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เด็กในท้องจะเป็นอย่างไร เพราะเด็กเหล่านี้ยังไม่ถึงกำหนดคลอดในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงมากเช่นกัน ทั้งจากโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) โดยวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine รายงานเมื่อปี 2003 ว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคซาร์สของผู้ชายในฮ่องกงสูงกว่าผู้หญิงถึง 50% เลยทีเดียว

มีข้อสันนิษฐานว่า ผู้หญิงมีภูมิคุ้มกันโรคสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากคุณสมบัตินี้จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับทารกแรกเกิด ซึ่งต้องรับสารแอนติบอดีต่อต้านเชื้อโรคจากน้ำนมมารดาโดยตรง ในระหว่างที่ภูมิคุ้มกันของทารกยังอ่อนแอและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา

ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย ส่วนโครโมโซม X ซึ่งเพศหญิงมีอยู่ถึงสองตัว ก็มียีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอยู่จำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่เพศชายมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียวเท่านั้น

  • กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด

ด้านสถิติอายุ จากข้อมูลองค์กรอนามัยโลก กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 

อายุ 80 ปีขึ้นไป 14.8%

อายุ 70-79 ปี 8.0%

อายุ 60-69 ปี 3.6%

อายุ 50-59 ปี 1.3%

อายุ 40-49 ปี 0.4%

อายุ 30-39 ปี 0.2%

อายุ 20-29 ปี 0.2%

อายุ 10-19 ปี 0.2%

0-9 ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต

ที่มา :

ข้อสรุปหลักของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ,องค์การอนามัยโลก (WHO) 

รายงาน The Epidemiological Characteristics of an Outbreak of 2019 Novel Coronavirus Diseases (COVID-19) ประเทศจีน 

รายงาน Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) องค์การอนามัยโลก (WHO)