ภาษีคาร์บอนฯ หมุดหมายใหม่ลดก๊าซเรือนกระจก I Green Pulse

ภาษีคาร์บอนฯ หมุดหมายใหม่ลดก๊าซเรือนกระจก I Green Pulse

การใช้มาตรการส่งเสริม มากกว่าการบังคับใช้ทางกฎหมาย อาจถูกมองว่าเป็นมาตรการที่มีความเข้มข้นน้อย และไม่สามารถช่วยทำให้การดำเนินการใดๆ บรรลุเป้าหมายได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว

หากเมื่อนำมาใช้กับการลดก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนฯ แล้ว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆในวงกว้าง ที่จะกลายมาเป็นพลังในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และนำไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในภาพรวมของสังคมให้ดีขึ้นได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระบุ

หนึ่งในมาตรการดังกล่าวที่กำลังจะมีการนำมาใช้คือ มาตรการยกเว้นภาษี เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการและภาคเอกชน

โดยในเรื่องนี้ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) และโฆษกกรมสรรพากรสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ได้เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังเตรียมที่จะออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ” หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ซึ่ง เป็นโครงการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซฯในประเทศ โดยการนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซฯ จากกิจกรรมที่ริเริ่ม แปลงไปเป็นคาร์บอนเครดิต แล้วนำไปขายได้ในตลาดคาร์บอนในประเทศ ซึ่งกำไรสุทธิจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาสามรอบบัญชีต่อเนื่องกัน

โดยกรมสรรพากร ได้ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ และกำลังอยู่ในระหว่างการรอการประกาศใช้อยู่ในเวลานี้

ยกเว้นภาษีคาร์บอนฯ

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจ อบก. อโณทัย สังข์ทอง อธิบายว่า แนวคิดเรื่องการใช้มาตรการทางด้ายภาษีเป็นอีกกลไกหนึ่งในการผลักดันความพยายามลดก๊าซฯ ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยอบก. ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมทุกภาคส่วนลดก๊าซฯ ได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นรับฟังจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับข้อเสนอจากกลุ่มผู้ประกอบการว่า อยากให้ทางภาครัฐมี incentives หรือแรงจูงใจให้ โดยมีการเสนอในหลายรูปแบบ รวมทั้งการดำเนินการด้านภาษา อาทิ การลดหย่อนภาษีเครื่องจักร เป็นต้น

ผอ. อโณทัยกล่าวว่า มาตรการยกเว้นภาษีจากการขายคาร์บอนเครดิตนี้ มีการดำเนินการในหลายประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งในประเทศเกาหลีได้ให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการ โดยรัฐจะเป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตเหล่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะเดินหน้าเรื่องการลดก๊าซฯ ในธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ผอ.อโณทัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เคยมีการทดลองการดำเนินการยกเว้นภาษีกำไรสุทธิจากคาร์บอนเครดิตนี้เช่นกัน แต่เป็นคาร์บอนเครดิตที่นำไปขายยังตลาดในและต่างประเทศ ผ่านกลไกภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่เรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanisms ที่อนุญาตให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนจากการลงทุนการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่คาร์บอนตำ่สะอาดในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก

โครงการดังกล่าวถูกริเริ่มขึ้นในปี 2552 และมีการดำเนินการมาก่อนที่จะสิ้นสุดลงในปี 2556 ซึ่งในเวลานั้น มีภาคเอกชนเสนอโครงการเข้าร่วม 11 โครงการ สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 2.9 ล้านตัน คิดเป็นรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตประมาณ 92 ล้านบาท

เมื่อผู้ประกอบการพัฒนาโครงการ อาทิ การใช้ biogas แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในธุรกิจ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอันเนื่องมาจากการลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซฯ แล้ว นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้อีก หากนำโครงการดังกล่าวมาขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตฯ และเมื่อมีการขายเครดิตหักลบค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการเหลือกำไรสุทธิที่นำไปยกเว้นภาษีได้” ผอ. อโณทัยกล่าว

เมื่อโครงการดังกล่าวสิ้นสุดลง, ทาง อบก. จึงริเริ่มโครงการ T-VER ซึ่งเป็นการสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ และเสนอการใช้มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคาร์บอนเครดิตนี้อีกครั้งร่วมกับกรมสรรพกรเพื่อสร้างแรงจูงใจในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนที่ประเทศไทยมีพันธะสัญญาภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ของโลก คือ ความตกลงปารีสParis Agreement 2015

ภายใต้ความตกลงปารีสนี้ แต่ละรัฐภาคีจะมีพันธสัญญาที่จะช่วยลดก๊าซโดยสมัครใจ หรือที่เรียกว่า Nationally Determined Contributions NDCs หรือ การตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วม (ลดก๊าซคาร์บอน) ที่ประเทศกำหนด โดย ประเทศไทยตั้งไว้สำหรับภายในปี 2030 ที่ 20% ของการปล่อยคาร์บอนในปีฐาน 2005 หรือประมาณ 111 ล้านตัน และจะเพิ่มสัดส่วนลดก๊าซฯ อีก 5% เป็น 156 ล้านตัน หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศในส่วนนี้ ผอ.อโณทัยอธิบาย

สิทธิประโยชน์

ผอ. อโณทัยกล่าวว่า การเข้าร่วมมาตรการด้านภาษีใหม่นี้ มีสองเงื่อนไขหลักๆที่ ผู้ประกอบการต้องมีคือ การเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วมีการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในธุรกิจของตน โดยแยกบัญชีรายรับรายจ่ายออกมาจากธุรกิจหลัก แล้วได้ขึ้นทะเบียนการดำเนินโครงการเพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) กับ อบก. ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

จากนั้น จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวได้ เมื่อมีการดำเนินโครงการ มีการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตโดยผู้ตรวจสอบอิสระ เกิดการรับรองเครดิต และมีการขายคาร์บอนเครดิตดังกล่าว และ อบก.ได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นภาษี 3 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน จึง

ผอ.อโณทัย กล่าวว่า ณ เวลานี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า มาตรการด้านภาษีดังกล่าว จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนในประเทศมากน้อยขนาดไหน และอาจต้องรอประเมินจากผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อสิ้นสุดการขึ้นทะเบียนในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง

ทางด้าน ผู้อำนวยการ อบก. ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กล่าวว่า หากมองจากความเข้มข้นของมาตรการ อาจมองว่าไม่ได้อะไรมากนัก แต่อบก. ไม่ได้มองเพียงแค่การช่วยลดหรือตัดยอดก๊าซคาร์บอนฯ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการผลักดันให้เกิดมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในภาพรวม ที่จะช่วยทำให้เกิดการยกระดับของ supply chain นำไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกัน

“มันเป็นการสร้างความตื่นตัวในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละภาคส่วนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้” ผอ. ประเสริฐสุขกล่าว โดยได้เปิดเผยว่า ทางอบก. ได้ืำงานร่วมกับภาคธุรกิจหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์, EEC, หรือบริษัทที่ช่วยรัฐปลูกป่า เป็นต้น

ในระยะยาว ทาง อบก. มุ่งหวังที่จะให้มาตรการด้านภาษีถูกประยุกต์ใช้ในวงกว้าง คือการ offset คาร์บอนที่ปล่อยออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซลงลึกถึงระดับครัวเรือนหรือรายบุคคลได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจสอบคาร์บอนดังกล่าว จึงยังเป็นเพียงแนวคิดอยู่ในเวลานี้ ผอ. ประเสริฐสุขกล่าว

“ในอนาคต มันก็อาจเป็นไปได้หากเรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจสอบปริมาณคาร์บอนที่ละเอียดขึ้น และนั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมการลดก๊าซฯที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง (ผ่านมาตรการอย่างภาษี)” ผอ. ประเสริฐสุขกล่าว