สธ.เผยอายุเชื้อก่อ 'โควิด-19' ในคอคน
สธ.เผยงานวิจัยเชื้อก่อโควิด-19 มีชีวิตอยู่ในคอคนแพร่ออกมาได้แค่ 8 วัน ขอร้องอย่ารังเกียจคนหายป่วย ย้ำก่อนออกจากรพ.มีระยะปลอดภัยแล้วถึง 6 วัน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า ขณะนี้พบว่าประชาชนในชุมชนหรือหมู่บ้านมีความกังวลไม่อยากให้ผู้ป่วยโควิด-19ที่รักษาหายแล้วเข้ามาในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันโรคที่ไม่ถูกด้วยการทำให้คนกลัว เพราะกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไม่ต้องการให้คนเกิดความกลัวขึ้น จึงใช้ยุทธศาสตร์ให้ความรู้มากกว่าคนกลัวมาตลอด เนื่องจากเมื่อคนเกิดความกลัวแล้ว จะทำให้เกิดการรังเกียจ การตีตราผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ทำให้คนป่วยไม่ยอมไปพบแพทย์ หรือไปพบแพทย์แล้วไม่ยอมบอกความจริงทั้งหมด เหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่างๆตามมามาก
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยตอนนี้คือแพทย์จะอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้หลังจากเริ่มมีอาการป่วยและหายแล้วใน 14 วัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อาการน้อยๆ หลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 7 วันแล้วแพทย์ประเมินว่าไม่มีปอดอักเสบและมีอาการน้อย ก็จะให้เข้ารับการพักฟื้นที่ฮอสพิเทลที่เป็นโรงแรมอีก 7 วันจนครบ 14 วันจึงจะกลับบ้านได้ และเมื่อกลับแล้วก็จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเข้มข้นในการป้องกันการแพร่เชื้อ ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยเช่นเดิม ทั้งนี้ ระยะเวลา 14 วันจากการศึกษาวิจัยถึงปัจจุบันพบว่าเพียงพอในการดูแลคนไข้โดยเฉพาะคนไข้ที่มีอาการน้อย จึงอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ในระยะเวลา 14 วัน
“เชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่และสามารถแพร่ไปติดเชื้อในคนอื่นได้ เท่าที่มีงานวิจัยจนถึงปัจจุบันพบว่า ในคนที่อาการน้อยๆ เชื้อจะอยู่ในคอได้เพียง 8 วันเท่านั้น หลัง 8 วันยังไม่มีการเจอเชื้อในคอคนไข้ ดังนั้น จริงๆแล้วยังมีเวลาปลอดภัยอีกตั้ง 6 วันที่คนไข้ยังอยู่ในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เพราะต้องอยู่ในโรงพยาบาลถึง 14 วัน ส่วนในอนาคตหากมีข้อมูลว่าเชื้ออยู่ในคอและแพร่ออกมาได้นานกว่า 8 วัน ก็จะมีการพิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ เป็นการใช้ความรู้เท่าที่มีให้เกหิดประโยชน์ในการทำงาน ก่อให้เกิดการรักษาและป้องกันโรคให้ดีที่สุด”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว