พม.นำร่องบรรเทาความเดือดร้อน 12 ชุมชน ชูมาตรการดูแลกลุ่มไร้บ้าน-ผู้ได้รับผลกระทบโควิด

พม.นำร่องบรรเทาความเดือดร้อน 12 ชุมชน ชูมาตรการดูแลกลุ่มไร้บ้าน-ผู้ได้รับผลกระทบโควิด

พม. เดินหน้าโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” นำร่อง 12 ชุมชน ในเขตกทม. ให้ความรู้ ป้องกัน บรรเทา ความเดือดร้อนจากโควิด-19 พส.เผยแผนขับเคลื่อน 3 ระยะ ป้องกัน รองรับ และเยียวยา จัดศูนย์พักพิงชั่วคราวคนไร้บ้าน ผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมสร้างอาชีพ หลังพ้นวิกฤติ

วันที่ (15 เม.ย. 63) เวลา 10.10 น. ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาวถ.กรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวแผน Kick Off การลงพื้นที่ชุมชนใน กทม. ตามโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)


นางพัชรี กล่าวถึง ความคืบหน้าของโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ว่า โครงการดังกล่าว ซึ่งตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้ 286 ชุมชน ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนซึ่งจะลงพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้จำนวน 12 ชุมชน เบื้องต้นในวันที่ 19 เมษายน ในพื้นที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง โดยกิจจกรรมที่ทำ คือ ประชุมให้ความรู้เรื่องโควิด-19 แจกถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อน มอบหน้ากากผ้า รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น จัดตั้งครัวกลาง ขณะที่ในวันที่ 20 เมษายน จะลงพื้นที่อีก 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเคหะแห่งชาติ คือ บ้านเอื้ออาทรสายไหม และ โครงการเคหะชุมชนพรพระร่วงประสิทธิ์ และ จะลงพื้นที่อีก 9 ชุมชน ในวันถัดไป ขณะที่อีก 274 ชุมชน จะดำเนินการให้แล้วเสร็จต่อไป


ด้าน นางอุมาภรณ์ ผ่องจิตต์ นักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญ ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวถึง ความคืบหน้าของการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านและผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รวมทั้งคนตกงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจในการคุ้มครอง กลุ่มเป้าหมายกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน และที่อยู่ในสถานการณ์ระบาดให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย
นับตั้งแต่มีสถานการณ์การระบาด ทาง พม. ได้ประเมินสถานการณ์ วางแผนการดำเนินงาน บูรณาการร่วมกับพี่น้องเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิที่อยู่อาศัย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไข้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และภาคประชาสังคม โดยได้กำหนดมาตรการขับเคลื่อน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การป้องกัน การแพร่ระบาดของโรค

ระยะที่ 2 การรองรับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ และระยะที่ 3 การเยียวยา สำหรับความคืบหน้าในระยะที่ 1 การป้องกัน ได้ดำเนินการร่วมกับจิตอาสา ลงพื้นที่ให้ความรู้ แจกหน้ากากผ้ากว่า 5,000 ชิ้นให้กับประชาชนทั่วไป คนไร้บ้าน และคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งจตุจักร ถนนราชดำเนิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเดินเท้าช่วยเหลือคนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง ร่วมกับภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจิตอาสาทั่วกรุงเทพฯ

รวมถึงคัดกรอง คัดแยกกลุ่มเสี่ยง แจกหน้ากากผ้า เจลล้างมือในการป้องกันตัวเอง ระดมบุคลากรในหน่วยงาน และ อาสาสมัครฯ ทำหน้ากากผ้า ส่งมอบแก่ภาคีเครือข่าย เพื่อแจกจ่ายให้แก่คนไร้บ้าน เชิญชวนบริจาคอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มเป้าหมายต่างๆ นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนการป้องกันและการเผชิญเหตุภายในหน่วยงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประกอบด้วย สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทั่วประเทศ เน้นการทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และมีสาธารณสุขจังหวัดเข้าคัดกรองในสถานที่ๆ มีคนใช้บริการจำนวนมากในหน่วยงาน คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย รักษาระยะห่าง จัดกิจกรรม วัดไข้ เป็นต้น


ระยะที่ 2 การจัดเตรียมสถานที่รองรับ สถานพักพิงชั่วคราวผู้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ นำร่องพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็ โดยมีทีมงาน ภาคีเครือข่าย ร่วมดำเนินการ ได้แก่ ประชาสัมพันธ์ให้แก่คนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน ในพื้นที่สาธารณะ มีการคัดกรอง ประสานส่งต่อโรงพยาบาล ประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคของใช้ที่จำเป็นให้แก่คนไร้บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมที่พักชั่วคราว ทั้งผู้ตกงานที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยใช้พื้นที่บ้านมิตรไมตรี หากสมัครใจเข้ารับบริการ จะมีการที่พักพร้อมอาหารครบ 3 มื้อ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


ทั้งนี้ ผู้ประสงค์เข้าใช้บริการต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเบื้องต้น ณ ศูนย์คัดกรองเฉพาะกิจดินแดง มีกระบวนการให้บริการ 4 ขั้นตอน คือ 1) การรับเข้าจะมีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้ทุกคน 2) การคัดกรอง โดยวัดไข้ คัดกรอง 5 โรค ได้แก่ วัณโรค เท้าช้าง โรคที่เกิดจากสารเสพติด พิษสุราเรื้อรัง โควิด-19 และโรคอื่นๆ ณ โรงพยาบาลกลาง หรือ โรงพยาบาลราชวิถี 3) การคุ้มครอง ให้บริการด้านปัจจัย 4 โดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม กรณีคัดกรองไม่ทันในหนึ่งวัน จะแยกกลุ่มที่รอคัดกรองเพื่อรอตรวจในวันถัดไป 4) การส่งต่อ มีการส่งต่อไปยังสถานที่พักพิงชั่วคราวเพื่อสังเกตอาการโรคโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 14 วัน หากสิ้นสุดกระบวนการ จะดำเนินการ ประสานส่งต่อกลับสู่ครอบครัว ภูมิลำเนา และเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

158693641967

นางอุมาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้กำหนดมาตรการศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน และผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก กรณีที่คนไร้บ้าน คนเร่ร่อนไม่สมัครใจเข้ารับบริการ จะมีการแนะนำในการป้องกันตนเอง แจกหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า บริการอาหารสะอาดมอบให้ และเครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็น หากพบว่ามีอาการป่วยไข้จะแจ้งเครือข่ายในพื้นที่ประสานส่งโรงพยาบาลทันที หลังจากนั้น จะมีการส่งต่อกลับคืนสู่ชุมชนเมื่อเหตุการณ์ปกติ โดยนักสังคมสงเคราะห์ จะเตรียมความพร้อมทั้งครอบครัว ชุมชน สถานประกอบการ โดยประสานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดนั้นๆ


สำหรับ ผลการดำเนินตั้งแต่เปิดศูนย์พักพิงเฉพาะกิจดินแดงในวันที่ 25 มีนาคม - 14 เมษายน 2563 มีผู้ใช้บริการ 103 คน เป็นชาย 75 คน หญิง 28 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไร้ที่พึ่งไร้บ้านและคนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่อยู่ในจุดพักพิงดินแดง 29 ราย ชาย 21 ราย หญิง 8 ราย


การขับเคลื่อนต่อไป ระยะที่ 3 ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้กำหนดแผนการเยียวยาและฟื้นฟูศักยภาพให้แก่คนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน และคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ประกอบด้วย 1) เรื่องของการสำรวจข้อมูล โดยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนช่วยเหลือ 2) เรื่องการฝึกอาชีพระยะสั้นและให้ทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 3) จัดทำช่องทางระดมทรัพยากรช่วยเหลือในภาคส่วนต่างๆ ส่งมอบต่อให้กลุ่มผู้ประสบปัญหาต่อไป


“ทางกระทรวง พม. โดยกรม พส. ขอเน้นย้ำว่าเราดูแลกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไร้บ้าน ไร้สิทธิ ร่วมถึงกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือกลุ่มชาวต่างชาติที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน สามารถเข้ารับบริการกับ พส. ได้ นอกจากนี้ เรายังให้บริการในด้านปัจจัย 4 ทั้งนี้ พส. มีความตั้งใจ ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่าจะขับเคลื่อนการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง รวมถึงคนตกงาน ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย เพื่อบรรเทาและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดย พส. จะมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสม ออกมาดูแลมาตรการช่วยเหลือทันทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป” นางอุมาภรณ์ กล่าว

158693641910


ด้าน นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเสริมว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ขอเชิญชวนสมาชิกครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันจากคลิปฝึกอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ทอของชำร่วย ทำหน้ากากผ้า ฯลฯ ของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยท่านสามารถเข้าไปเปิดดูคลิปได้ ผ่านทางเว็บไซต์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว นอกจากเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวแล้ว อาจจะเป็นการสร้างอาชีพในระหว่างนี้ได้อีกด้วย