ไทยพบผู้ป่วย 'โควิด-19' เพิ่ม 15 ราย สะสมรวม 2,922 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม
สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่โควิด-19 เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม2,922 ราย ใน 68 จังหวัด เผยแม่บ้านมั่วสุมเล่นพนัน แนะครอบครัวเตือนแม่บ้านหวั่นเสี่ยงติดโรค พร้อมย้ำประชาชนยังใช้วิถีชีวิตเดิมไม่ได้ ขอให้ปรับตัว เรียนรู้ใช้วิถีชีวิตใหม่
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน
ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,922 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตรวม 51 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม47 ราย รวม 2,594 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 277 ราย ซึ่งเป็นวันแรกที่มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 300 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 699 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,622 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคกลาง 368 ราย และภาคใต้ 662 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 26 เมษายน จำนวน 15 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 8 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 4 ราย และ ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 4 ราย ได้แก่ ไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว (กทม.) 3 ราย อาชีพเสี่ยง เช่นทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ (นครปฐม) 1 ราย กลุ่มที่ 2 การค้นหาในชุมชน (ยะลา) 2 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า Start Quarantine (UAE:กทม.4 เนเธอร์แลนด์:ชลบุรี 1) 5 ราย
โดยผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ ราย อยู่ในพื้นที่กทม. 7 ราย ภูเก็ต 4 ราย ยะลา 2 ราย ชลบุรี 1 และนครปฐม 1 ราย
วิเคราะห์กลุ่มจังหวัดมีผู้ป่วย-ไม่มีผู้ป่วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่าได้มีการวิเคราะห์จังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันรายใหม่โรคโควิด -19 วันที่ 24 เมษายน พบว่า กลุ่มจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7 วันที่ผ่านมา มี 14 จังหวัด ได้แก่ กทม. พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี สมุทรปราการ กระบี่ ชุมพร นราธิวาส ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา สงขลา ส่วนมีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา มี 6จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น นครพนม สตูล พังงา นครศรีธรรมราช
ขณะที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 14-28 วันที่ผ่านมา มี 37 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน 9 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ตราด ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร น่าน บึงกาฬ ระนอง ส่วนสตูลมีเฉพาะ State Quarantine
พบสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน ปัจจัยเสี่ยงสูงสุด
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยง แนวโน้มต่างๆ จากการทำงานต่างๆ ถือว่าทำงานระบบอย่างดี และพบรายใหม่ ในพื้นที่จำกัดและแนวโน้มระบาดลดน้อยลง ส่วนปัจจัยอื่น ลดน้อยลงอย่างชัดเจน เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งต้องขอบคุณพี่น้องประชาชน และตอนนี้มีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ต่างๆ มาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มากสุด คือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ดังนั้น ถ้าใครที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยขอให้ดูแลสุขภาพ สำรวจตัวเองอย่างดี
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 2,920,738 ราย อาการหนัก 58,202 ราย รักษาหาย 836,085 ราย เสียชีวิต 203,355 ราย โดย 10 อันดับที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมด 960,896 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2,080 ราย ถัดมา ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ตุรกี อิหร่าน จีน และรัสเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57
นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า สำหรับสถานการณ์ทางภูมิภาคเอเชีย ณ วันที่ 26 เมษายน 2563 นั้น มีความน่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศญี่ปุ่น พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 519 ราย สิงคโปร์มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 618 ราย และมีผู้ป่วยสะสม 12,693 ราย เกาหลีใต้ เพิ่ม 10 ราย UAE เพิ่ม 523 ราย ซึ่งจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีพื้นที่เล็ก ทำให้การกระจายตัวของโรคได้เร็วขึ้น และเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศไทยได้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น จนทำให้เกิดการค้นหาแรงงานส่วนหนึ่งที่มีการติดเชื้อ ฉะนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้สถิติสถานการณ์โลกทุกวัน เพราะสถานการณ์โลกยังไม่น่าไว้วางใจ สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนคือ ทุกคนได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสนี้
ศึกษามาตรการต่างประเทศผู้ติดเชื้อเพิ่ม
โฆษกศบค. กล่าวอีกด้วยว่าขณะนี้หลายๆ ประเทศได้มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 618 คน เมื่อวันที่ 25 เมษายน และในจำนวนนี้ 7 คน เป็นคนสิงคโปร์ หรือผู้อยู่อาศัยถาวร ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 12,693 ราย ผู้ติดเชื้อยังคงเป็นแรงงานต่างชาติอยู่ในหอพัก โดยที่หอพัก 25 แห่งได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่กักตัวระวังโรค ขณะที่มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 7 ราย ซึ่งทั้งหมดเพิ่มกลับมาจากรัสเซีย
ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดไซตามะ ยกเลิกเทศกาลดอกกุหลาบประจำปี และทางการได้สั่งตัดพุ่มดอกกุหลาบ 180 สายพันธุ์ออก เพื่อป้องกันคนออกมารวมตัวชมดอกไม้ กรุงโตเกียว ขอให้ประชาชนลดความถี่ในการออกจากบ้านไปซื้อของ เหลือเพียง 3 วัน ต่อครั้ง นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ประชาชนงดท่องเที่ยวในวันหยุดยาวประจำปีช่วงฤดูใบไม้ผลิ และญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และจะสิ้นสุดไปในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้
ครอบครัวเตือนแม่บ้าน มั่วสุมเล่นพนันเสี่ยงโรค
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์จากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง วันที่ 26 เมษายน ยังมีผู้กระทำความผิดออกนอกเคหสถาน ถูกดำเนินคดี 478 ราย ตักเตือน 90 ราย และชุมนุม มั่วสุม ถูกดำเนินคดี 83 ราย ตักเตือน 4 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนของผู้ฝ่าฝืน หรือผู้กระทำผิดกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และภาคต่างๆ จังหวัดต่าง ยังพบว่าจังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืน เป็นจังหวัดที่มีชื่อช้ำๆ ซึ่งขอให้ความร่วมมือจากประชาชนจังหวัดเหล่านี้ ให้ช่วยกันเป็นจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้กระทำผิด
ทั้งนี้ 18 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้กระทำผิด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครพนม สมุทรสงคราม มหาสารคาม หนองคาย หนองบัวลำภู ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ลำปาง น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
“จากการวิเคราะห์กลุ่มที่มีการออกนอกเคหสถาน และมีการมั่วสุม พบว่า ยังเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนใหญ่ โดยเพศชายจะมีอายุตั้งแต่ 11 ปี จนถึง 40 ปี และมากสุดในช่วงวัย 21-30 ปี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานที่อาจจะยังคงชื่นชอบการเที่ยว การพบปะเพื่อนสูง ขณะนี้กลุ่มมั่วสุมในเพศหญิงจะเป็นอายุ 51 ปี ขึ้นไป และสาเหตุที่มามั่วสุมกัน เพราะเล่นการพนัน ดังนั้น อยากให้ทุกคนช่วยกัน ปฎิบัติตามมาตรการเคอร์ฟิว และขอฝากไปถึงคุณพ่อบ้านหรือ ครอบครัว คนที่อยู่ที่บ้าน ช่วยเตือนกัน โดยเฉพาะแม่บ้านที่ออกไปเล่นการพนัน เนื่องจากการเล่นพนัน ทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และเกิดความเดือนร้อนทั้งครอบครัวได้”นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
รัฐมีแนวทางดูแลมาตรการแรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ สำหรับเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทย วันนี้ (26เมษายน) มีคนไทยตกค้างในประเทศออสเตรเลีย 207 คน เป็นนักเรียน นักศึกษา คนงาน และนักท่องเที่ยว เที่ยวบิน เวลา 16.20 น. และวันที่ 27 เมษายน ได้แก่ จากประเทศญี่ปุ่น 35 คน เที่ยวบิน เวลา 15.40 น. ประเทศเนเธอร์แลนด์ 25 คน เที่ยวบิน เวลา 17.05 น. และนิวซีแลนด์ 168 คน เป็นนักเรียน และนักศึกษา เที่ยวบินเวลา 20.15 น.
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่าสำหรับความกังวลของพี่น้องประชาชนในการดูแลแรงงานต่างด้าว นั้น ขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้มีการค้นหาเชิงรุก พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีทีมระบาดวิทยา กรมอนามัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ได้เข้าไปช่วยดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานต่างด้าวไม่ให้เป็นแหล่งรังโรค แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลได้ที่ดีที่สุด ต้องได้รับความร่วมมือจากแรงงานต่างด้าว ประชาชน และผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในภาวะปัจจุบัน โดยการเป็นผู้สังเกตอาการ และขอความช่วยเหลือถ้ามีอาการ เพราะระบบที่ดีที่สุด คือระบบที่ติดตั้งในพื้นที่
กลับไปใช้วิถีชีวิตเดิมไม่ได้ แนะค่อยๆ ปรับตัว
“ตอนนี้หลายคนถามว่าทำไมถึงกลับไปใช้วิถีชีวิตเดิม ปกติแบบเดิมไม่ได้ ทำไมต้องเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง ซึ่งขอนำเรียนว่าสภาวะการของการเกิดโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ แพร่กระจายผ่านตัวไวรัส น้ำมูก น้ำลาย และคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานที่ม่ได้แสดงอาการ ไม่มีใครรู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ถ้าทุกคนใช้ชีวิตปกติ จะมีโอกาสติดเชื้อได้ และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตอนนี้จะกลายเป็นศูนย์ ดังนั้น จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ต่อเมื่อมียารักษาให้หาย และต้องมีวัคซีน แต่กว่าจะมีวัคซีนได้ ข้อมูลล่าสุดตอนนี้ ประมาณต้นปี 2564 ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ระหว่างนี้ อยากให้ทุกคนปรับชุดพฤติกรรม ไม่เอาเชื้อโรคมาอยู่ที่ตัวเรา หรือเป็นผู้กระจายเชื้อโรค ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่ยินยอมปรับตัวตอนแรก ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่น หลักแสนและได้ออกมาตรการต่างๆ เหมือนมาตรการที่ประเทศไทยออก แต่ต่อให้ไทยออกมาตรการเร็ว ผู้ติดเชื้อน้อย แต่ถ้ายกเลิกเร็ว การ์ดตกเมื่อใด ที่ลงทุนไปกลายเป็นศูนย์ได้เช่นกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 26 เมษายน ซึ่งเป็นระยะเวลาครบ 1 เดือน หลังจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนอย่างมาก เพราะทุกคนเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน เผชิญหน้าร่วมกัน และรับผิดชอบร่วมกัน ตอนนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องประคองสถานการณ์ต่อเนื่อง ขอให้ทุกท่านใช้เวลานี้ปรับตัวต่อไปเรื่อยๆ