ประกันสังคม เร่งจ่ายเยียวยาลูกจ้าง ม.33 แนะพัฒนาระบบ เชื่อมข้อมูล
ประกันสังคม เร่งจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้าง ม. 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย โควิด-19 ชี้สาเหตุจากระบบไอทีรองรับไม่ทัน และ นายจ้างบางส่วนยังไม่รับรองสิทธิแก่ลูกจ้าง ทำให้เกิดความล่าช้า ยืนยันจ่ายงวดแรกครบ 15 พ.ค.นี้
จากกรณี สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินเยียวยากรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ซึ่งจะให้ประโยชน์ทดแทนกับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ แรงงานที่มีนายจ้าง ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน ใน 2 กรณี คือ ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 เมษายน 2563 ถือเป็นวันแรกที่มีการจ่าย เงินเยียวยา หรือเงินชดเชยซึ่งมีจำนวนผู้ที่ได้รับเงินล็อตแรกนี้ราว 8 พันราย จากผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มายื่นขอใช้สิทธิกว่า 8 แสนราย เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิราว 4 แสนคน และอีก 4 แสนรายอยู่ระหว่างการรับรองจากนายจ้าง เกิดคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดผู้ประกันตนที่ยื่นในหลักแสน ถึงได้รับเงินล็อตแรกเพียงหลักพัน
- 3 ประเด็นหลักจ่ายเงินล่าช้า
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นถึงปัญหาการจ่ายเงินชดเชยล่าช้า เบื้องต้น 3 ประเด็น คือ ประเด็นของนิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ซึ่งมีประชาชนเดินทางไปยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินชดเชย แต่กลับไม่ได้รับสิทธิ โดยเอกสารจากประกันสังคมระบุว่า "กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษกิจ/โรคโควิด-19/นายจ้างไม่ให้ทำงาน ไม่ถือว่า เป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย จึงควรกำหนด หลักเกณฑ์ และชี้แจงให้ชัดเจน โดยคำนึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของลูกจ้าง และนายจ้าง เป็นสำคัญ และเร่งเยียวยาให้แก่ลูกจ้าง ที่เป็นผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วนที่สุด
ถัดมา คือ ประเด็นข้อจำกัดด้านระบบ IT ซึ่งใช้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณในการพัฒนาระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกันสังคมต้องตอบคำถามเหล่านี้ว่า งบประมาณที่เคยลงไป เพื่อพัฒนาระบบ IT ให้ทันสมัย เหตุใดถึงไม่ประสบความสำเร็จ
สุดท้าย คือ ประเด็นด้านมาตรการที่ชัดเจน ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมมารับรองสิทธิให้ลูกจ้าง อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประกันตนล่าช้า กระทรวงแรงงานต้องกำหนดมาตรการให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร กับนายจ้างที่ไม่ยอมมารับรองสิทธิให้แก่ลูกจ้าง เบื้องต้นอาจให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ติดตามนายจ้าง หากไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ และไม่ได้รับการติดต่อกลับจากนายจ้างภายใน 7 วัน ก็ให้แรงงานจังหวัดทำหนังสือรับรองแทนนายจ้างเพื่อให้ประกันสังคม สามารถจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับลูกจ้างได้
- เร่งจ่ายล็อตแรกจบ 15 พ.ค.
ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 พบว่า สำนักงานประกันสังคม ได้มีการทยอยจ่ายเงินชดเชยผู้ประกันตน แล้วเสร็จสิ้นไปกว่าครึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิ จำนวน 990,523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัย อนุมัติแล้วจำนวน 492,273 ราย เป็นเงินจำนวน 2,563.612 ล้านบาท โดย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จงวดแรก ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ซึ่งระบุสาเหตุที่ทำให้จ่ายเงินล่าช้า เนื่องระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวง เป็นคอมพิวเตอร์เก่า ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนี้ มีการร้องเรียนการจัดซื้อ โดยทาง ป.ป.ช. ได้ทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ถูกต้อง และให้ลงโทษปรับผู้ดำเนินการ 556 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มาช่วยประกันสังคมเร่งรัดเรื่องนี้
สำหรับใน กรณีที่ สถานประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งพบว่ามีผู้ประกันตน จำนวน 289,104 ราย ที่รอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ สถานประกอบการกลุ่มนี้ จะได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากสำนักงานประกันสังคม เร่งรัดให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
กรณีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยปฏิเสธไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมความพร้อมรองรับข้ออุทธรณ์จากผู้ที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการอุทธรณ์ในการร่วมพิจารณาวินิจฉัยให้กับผู้ที่ได้รับการปฏิเสธการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานประกันสังคมได้ที่ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
- แนะพัฒนาบิ๊กดาต้าเชื่อมโยงข้อมูล
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ให้ความเห็นว่า ประกันสังคมยังติดปัญหาตรง พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 57 กรณีคำนวณการจ่ายค่าจ้างกรณีว่างงาน หรือเงินทดแทนอื่นๆ ซึ่งคำนวณจากฐานค่าจ้างประกันสังคม พอเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งกำหนดเป็นร้อยละ 62 ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ระบบเดิมอยู่ ต้องนำออกมาคำนวณค่าจ้างในระบบเอ็กซ์เซล พร้อมระดมเจ้าหน้าที่เพื่อมาปฏิบัติการตรงนี้
“หากในสภาวะปกติ ยังสามารถดำเนินการไปตามระบบได้เรื่อยๆ ไม่ติดขัดและไม่มีการรอ แต่พอโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีคนเข้าลงทะเบียนว่างงานเป็นรวมแล้วเกือบหลักล้านคน ทำให้ระบบรับรองช้า ไม่ทัน อีกทั้ง การจะใช้เงินได้ ต้องผ่านระบบขั้นตอน เพราะเป็นเงินจาก 3 ฝ่าย”
นายมนัส แนะว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าว มองว่าระบบไอที บิ๊กดาต้า ต้องเกิด เราต้องทำให้ครบทุกส่วนของหน่วยงานราชการให้มีการเชื่อมโยงข้อมูล และทำระบบไอทีให้สมบูรณ์ อีกทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย เกิดการไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย ดังนั้น ควรทำให้เกิดความต่อเนื่องด้านนโยบายด้วย อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนขณะนี้ ไม่ถึงกับช้า ปัจจุบัน ล่าสุด วันนี้ (11 พฤษภาคม) จ่ายเงินชดเชยไปแล้วราว 7-8 แสนคน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินที่ค้างได้หมดตามกำหนด ซึ่งขณะนี้ระบบเริ่มเข้าที่เข้าทาง
- ชิ้นส่วนยานยนต์ มีสิทธิลดคนหากโควิดยืดเยื้อ
นายอมรฤทธิ์ แสงยะรักษ์ ประธานสหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย ระบุว่า สหพันธ์ชิ้นส่วนยานยนต์ฯ ซึ่งมีสมาชิกราว 40-50 โรงงาน มีลูกจ้างมากกว่าแสนคน ได้รับผลกระทบเหมือนอุตสาหกรรมอื่น แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวมาตรา 75 ในระยะสั้น สัปดาห์ละ 1 -2 วัน เฉพาะพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็น โดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 และยังไม่มีการเลิกจ้างเนื่องจากถือเป็นอุตสาหกรรมที่สายป่านยาว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังพอเดินหน้าต่อไปได้ แต่ 1-2 เดือนหลังจากนี้ หากสถานการณ์ยังไม่ฟื้น บางส่วนก็เริ่มวางแผนว่าต่อไปจะต้องทำอย่างไร มีสิทธิลดคนงานเหมือนกัน และบางที่เริ่มใช้ให้สมัครใจลาออก
ขณะที่โรงงานที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว “ด้วยเหตุสุดวิสัย โควิด-19” ขณะนี้ยังไม่มี เพราะในกลุ่มของสหภาพฯ ยังไม่อยากผลักภาระให้กับประกันสังคม แต่ลูกจ้างกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบต้องเห็นใจ โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน สมควรได้รับการเยียวยา ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เข้ามาเยียวยาตรงนี้
ทั้งนี้ จากกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินเยียวยาล่าช้า และบางส่วนนายจ้างไม่ได้รับรองสิทธิ มองว่า นายจ้างบางส่วนไม่ทราบ เช่น ร้านอาหาร เนื่องจากหยุดกิจการก่อนที่มาตรการเยียวยาออกมา จึงยังไม่ได้ยื่นรับรองสิทธิกับประกันสังคม นอกจากนี้ ระบบการจ่ายเงินของประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบราชการ ต้องมีขั้นตอน ซึ่งอาจจะไม่ทันใจในภาวะฉุกเฉิน
“ขณะที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากอย่างสิ่งทอ หรืออื่นๆ ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลต้องเข้ามาซัพพอร์ตนายจ้าง เพื่อให้ประคองลูกจ้างไม่ให้เลิกจ้าง ไม่เช่นนั้นนายจ้างเกิดปัญหา ต้องหยุดกิจการ กลายเป็นหน้าที่ประกันสังคมในการเยียวยา” นายอมรฤทธิ์ กล่าว