สธ.ประกาศนโยบายพลิกโฉม "ระบบบริการตรวจรักษาแนวใหม่"

สธ.ประกาศนโยบายพลิกโฉม "ระบบบริการตรวจรักษาแนวใหม่"

สธ.ประกาศนโยบายพลิกโฉมระบบบริการสาธารรณสุข มุ่ง“การแพทย์วิถีใหม่”เป้าหมาย 3 ประเด็น ความปลอดภัย-ลดแออัด-ลดเหลื่อมล้ำ จัดคนไข้ 3 กลุ่มสี เขียว-เหลืองอาการไม่มากไม่ต้องไปรพ. จัดระบบผู้จัดการ-ผู้ประสานงานคนไข้ลงดูแลถึงบ้าน ใช้“เทเลเมดิซีน”ปรึกษาแพทย์

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of medical Service) ประโยชน์ที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน โดยได้เริ่มต้นดำเนินการแล้วในสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเป็นนโยบายที่จะขยายต่อไปในสถานพยาบาลต่างๆทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงาน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เน้นเรื่องโครงสร้าง เช่น ปรับปรุงห้องฉุกเฉิน หรือห้องผ่าตัด เป็นต้น ระบบการทำงาน เช่น คนไข้ที่ปวดหัว ตัวร้อนหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยอาจจะไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่จะใช้ระบบนัดหมาย เป็นการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร


2.ลดแออัด มีการจัดกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน โดยผู้ป่วยสีเขียว หรือสีเหลืองที่อาการไม่มาก หรือไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรพ.แต่ให้สามารถรับคำปรึกษาได้ที่บ้าน โดยใช้ระบบเทลเมดิซีนในการรับคำปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดเวลาในการมารอรับบริการที่รพ.และลดความแออัดในรพ. ส่วนผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการรุนแรงและมีความเสี่ยงมากขึ้น จะได้มีโอกาสพบแพทย์และมีเวลาในการดูแลรักษาของแพทย์มากขึ้น และ3.ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงและบกระดับคุณภาพของบริการทางการแพทย์ และระบบจัดการข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหา เช่น ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าหากมีอาการหรือป่วยไม่มาก อาการเบื้องต้นไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับได้ เพราะในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19นั้น ประชาชนรับรู้ว่าในต่างประเทศ หากป่วยไม่มากไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยอย่างชัดเจน

158953308999


“เหล่านี้จะเป็นการปรับสู่การแพทย์วิถีใหม่ที่ยั่งยืนและเดินหน้าต่อไปเป็นนโยบาย ซึ่งจะทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลได้ดำเนินการดูแลรักษาช่วยเหลือคนไข้อาการหนักมากขึ้น ส่วนคนไข้ที่อาการน้อยหรือปานกลางก็จะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ โดยใช้ติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาจากที่บ้านและรักษาตัวเองได้เบื้องต้น เป็นการเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ คือ มีมาตรฐานการรักษาที่ดีขึ้นและความปลอดภัยสูงขึ้น มีรูปแบบบริการที่เหมาะสมตรงกับปัญหาของรายบุคคล ส่งผลให้ได้รับความสะดวกและคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้สุขภาพ ประชาชน และประเทศไทยแข็งแรง”นายสาธิตกล่าว


ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนการแพทย์วิถีใหม่ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 3 ประเด็น คือ 1. ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่(2P Safety) เป็นเป้าหมายระยะสั้นช่วงโควิด-19 ซึ่งกรมได้จัดทำเป็นแพคเกจ เช่น การผ่าตัดวิถีใหม่ เลื่อนการผ่าตัดกรณีไม่เร่งด่วนออกไป หรือการตรวจหาโควิด-19ผู้ป่วยทุกรายก่อนผ่าตัด หรือ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ และการทำฟันวิถีใหม่ ที่อาจจะต้องตรวจคัดกรองและตรวจโควิด-19 เป็นต้น

2.การลดความแออัด เป็นเป้าหมายระยะกลาง การให้บริการที่จะลดความแออัดเน้น 2 กลวิธี ได้แก่ 2.1 จัดระบบการบริการใหม่แยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน คือ กลุ่มสีเขียว เป็นกลุ่มที่ดูแลตนเองได้ดี เช่น คนไข้เบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่คุมได้ดี ไม่จำเป็นต้องไปรพ.ทุกเดือน แต่จะมีพยาบาลไปติดตามอาการที่บ้าน และไปพบแพทย์ปีละ 2 ครั้ง กลุ่มที่สอง สีเหลือง กลุ่มที่ต้องการปรึกษาแพทย์ด้วยคำถามหรือปัญหาเล็กน้อย โดยจะมีผู้จัดการคนไข้ที่เป็นพยาบาลและผู้ประสานงานคนไข้ที่เป็นอสม. ลงไปเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมอและสอบถามถึงปัญหาที่ต้องการปรึกษาแพทย์ ก็จะใช้ระบบเทเลเมดิซีนจากบ้านคนไข้ไปยังแพทย์ที่รพ.


และกลุ่มที่สาม เป็นสีแดง กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการจัดคิวโดยใช้ระบบดิจิทัล ทำให้คนไข้ไม่ต้องรอนานหรือมาแออัดอยู่ภายในอาคาร เช่น มีนัด 09.30 น. คนไข้ไม่ต้องมาตั้งแต่ 6 โมงเช้าทุกราย แต่จะให้มาช่วงเวลา 09.00 น. คนไข้จะใช้เวลารอเพียง 30 นาที มีการเริ่มดำเนินการแล้วที่รพ.ราชวิถี หากคนไข้มีนัด09.30 น. หากยังไม่ถึงเวลา 09.00 น. ก็จะไม่ให้คนไข้เข้ามาภายในอาคารตรวจ แต่อาจจะไปรอที่ส่วนอื่นๆของรพ. เพื่อลดความแออัด การดำเนินการจัดกลุ่มเช่นนี้ จะทำให้แพทย์มีเวลาในการดูแลรักษาคนไข้ที่เป็นสีแดงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และ 2.2 กลวิธีพัฒนา Digital Solution หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการ อาทิ ผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่เข้าตรวจ จนรักษา และจ่ายเงินก็ผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม่ต้องหยิบจับธนบัตร การรับยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น


3.เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแพทย์วิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยการมีผู้จัดการคนไข้และผู้ประสานงานคนไข้ที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน ถ้าจำเป็นก็ต้องไปพบแพทย์ที่รพ.ได้ ทั้งหมดนี้มีการทำแล้วที่สถานพยาบาลของกรมการแพทย์ มีการถอดบทเรียนนำร่องดำเนินการที่จ.ปัตตานี ที่เป็นการดูแลคนไข้ตั้งแต่ที่บ้านจนถึงโรงพยาบาลจังหวัดจะเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน ก่อนจะขยายผลไปรพ.ทั่วประเทศทั้ง 12 เขตสุขภาพภายใน 1 ปี


“ก่อนหน้านี้กรมการแพทย์พยายามปรับจากการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลเป็นการรักษาที่ไหนก็ได้ในกลุ่มคนไข้ที่อาการไม่รุนแรงมา 2-3 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะบุคลากรและประชาชนยังไม่คุ้นเคย แม้บอกว่าอาการไม่รุนแรงไม่ต้องไปรพ.ก็ต้องการที่จะไป แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 มีการปรับระบบบริการทำให้ประชาชนเข้าใจการให้บริการทางการแพทย์วิถีใหม่มากขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนให้การยอมรับและร่วมมือดีมาก อย่างเช่น เสียงสะท้อนจากผู้ป่วยลมชักที่รับยาที่สถาบันประสาท จากเดิมต้องเดินทางมารับยาที่สถาบันฯ แต่ช่วงที่ผ่านมาให้เทเลเมดิซีนกับแพทย์แทนและรับยาทางไปรษณีย์ คนไข้ก็สะท้อนว่าสะดวกและประหยัดค่าเดินทางที่ต้องเสียค่ารถไป-กลับถึง 500 บาท”นพ.สมศักดิ์กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่อาจจะไม่ได้มีความพร้อมเรื่องการรองรับระบบเทเลเมดิซีนเหมือนกันทั้งหมด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นจะสอบถามคนไข้ก่อนว่าที่บ้านมีสัญญาณไวไฟหรือไม่ หรือมีการใช้โทรศัพท์มือถือระบบ 4 จี หรือ 5 จีหรือไม่ ซึ่งหากพื้นที่ใดที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ก็จะมีระบบของผู้จัดการคนไข้ที่เป็นพยาบาลและผู้ประสานงานคนไข้ที่เป็นอสม. โดย 1 คน จะดูแลคนไข้ 10 คน เป็นผู้ดูแลช่วยเหลือและเชื่อมต่อระหว่างคนไข้กับรพ.