‘เยียวยาเกษตรกร’ เปิดหลักเกณฑ์อุทธรณ์ และโอกาสของ ‘เกษตรกร’ ที่ยังไม่ได้เงิน มีอะไรบ้าง
กระทรวงเกษตรฯ แนะ ยื่น อุทธรณ์ “เยียวยาเกษตรกร” ขยายเวลาถึง 5 มิถุนายน 2563 พร้อมอัดโครงการฟื้นฟูช่วยเหลือ “เกษตรกร” ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือตกหล่น มีอะไรบ้าง
จากการที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 เมษายน 2563 รายละ15,000 บาท โดยจ่ายให้เกษตรกรเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 2563) 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้รายละเอียดถึงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์เยียวยาเกษตรกร โดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายละเอียดเอาไว้ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตอบแล้ว 6 ข้อที่ประชาชนสงสัย 'เยียวยาเกษตรกร'
'www.เยียวยาเกษตรกร.com' อยากจ่าย แต่ ‘เกษตรกร’ กว่า 4 แสนราย ไม่แจ้งเลขบัญชี!
หลักเกณฑ์การได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรจะต้องเริ่มจากการสำรวจทะเบียนเกษตรกร จากนายทะเบียน ทั้ง 7 หน่วยงาน กรมส่งเสริมการเกษตรจะรวบรวมทะเบียนทั้งหมด เสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำทะเบียนเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลัง และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดรายได้ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ
เมื่อเงินที่ได้มาเป็นเงินกู้ การจัดการจึงต้องโปร่งใสตามระเบียนราชการ เสนอทั้งหมดเบื้องต้น 10 ล้านราย ตรวจสอบความซ้ำซ้อน เหลือ 8.33 ล้านราย เมื่อตรวจความมีตัวตนแล้ว และสศก.ได้นำมาตรวจสอบความซ้ำซ้อน กรณีเกษตรกรอยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการบำนาญ และซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ดังนั้นจะเหลือตัวเลข 7.8 ล้านราย ที่ส่งให้กระทรวงการคลัง เหลือ 9 แสน - 1 ล้านราย
สำหรับในกรณีของเกษตรกรที่ไม่เห็นด้วยกับการคัดกรองของระบบเยียวยาเกษตรกร สามารถดำเนินการอุทธรณ์ได้ ที่หน่วยงานดังต่อไปนี้
- เกษตรอําเภอ
- ประมงจังหวัด/อําเภอ ปศุสัตว์จังหวัด/อําเภอ
- หม่อนไหม ภูมิภาค
- สํานักงานอ้อยและน้ําตาลทราย ภูมิภาค
- ยาสูบ
- การยางแห่งประเทศไทย ภูมิภาค
- เกษตรและสหกรณ์จังหวัด
โดยขั้นตอนหลักเกณฑ์การดำเนินการอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกรนั้นมี 6 ขั้นตอนดังนี้
- เกษตรกรเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ตามหน่วยงานที่ระบุข้างต้น
- เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และทำการบันทึกข้อมูลลงในระบบ
- ระบบจะจำแนกข้อมูล และส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 8 หน่วยงาน
- แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูล
- ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ร้องเรียนในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- กรณีที่เข้าหลักเกณฑ์รับเงินเยียวยาเกษตรกรระบบจะนำส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการพิจารณาเพื่อดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาต่อไป
ด้วยหลังจากที่เกษตรกรยื่นเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกรไปเรียบร้อยแล้ว สามารถติดตามสถานะการอุทธรณ์เงินเยียวยาได้ที่ www.moac.go.th
นอกจากนั้น ในกลุ่มเกษตรกรทั้ง 7.8 ล้านราย ที่ลงทะเบียนก่อน 15 พฤษภาคม 2563 แต่ยังมีเกษตรกรบางรายไม่เคยมาทบทวนสิทธิ์ ทางภาครัฐจึง ให้ขึ้นทะเบียนใหม่ อีกประมาณเกือบ 1 ล้านราย และยังมีอีกกลุ่มที่ไม่มีการเพาะปลูก เพราะแล้ง ภาครัฐเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเช่นกัน กลุ่มนี้มีประมาณ 1 แสนคน และกลุ่มนี้จะได้รับหลังการตรวจสอบเอกสารเสร็จ รับทีเดียว 15,000 บาท
กรณีข้าราชการที่ทำการเกษตร ต้องรอให้คณะกรรมการกลั่นรองการใช้เงินกู้ ให้พิจารณาว่ากลุ่มนี้จะสามารถรับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทระยะเวลา 3 เดือน หรือไม่ ส่วน กรณีพี่น้องเกษตรกรที่ถูกตัดสิทธิ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่นายทะเบียนของของตนเอง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 มิถุนายนนี้
อีกทั้งภายหลังการเยียวยา กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอโครงการฟื้นฟูภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม ให้ครม. พิจารณาอีกครั้ง โดยจะเป็นการดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการตลาด