'แล้งหน้า' จะไม่วิกฤติ! ส่องแผนเพิ่มประสิทธิภาพ 'น้ำ' ใน EEC
ทำความรู้จัก "แผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี" ที่จะทำให้ช่วงภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้นจะไม่วิกฤติเช่นเดิมอีกต่อไป จะมีโครงการอะไรบ้าง และวิธีการอย่างไร? ติดตามเรื่องน่าสนใจนี้ได้ที่นี่
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี การหาแหล่งน้ำเพิ่มทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอาจไม่เพียงพอ การลดอัตราการใช้น้ำจึงเป็นเป้าหมายของ “แผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี” ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีข้อมูลเกิดการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการใช้น้ำที่เป็นธรรม
และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัด ด้วยการลดค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนลง 15% และเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนหรือแหล่งน้ำต้นทุนให้ได้ ประมาณ 85% จากเดิม 65% โดยมีระยะเวลาวิจัย 3 ปี และมีการพัฒนาเซ็นเซอร์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ขณะนี้ได้นำร่องการดำเนินงานแล้ว ในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 กำแพงเพชร และโครงการ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
การศึกษาใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การประเมินการใช้น้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ ในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งหาแนวทางการใช้น้ำต้นทุน ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ร่วมกัน 2.คาดการณ์การใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ และแนวทางการลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น การบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่แพง
จากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปริมาณน้ำต้นทุนของภาคตะวันออกมีอยู่ประมาณ 2,539 ล้าน ลบ.ม. แต่ตอนนี้มีการใช้น้ำ 2,419 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องอาศัยน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียง โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ในปีปกติจะได้รับการผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำย่อย คลองวังโตนด 597 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปีแล้ง เช่นปี 2563 นี้ การผันน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้อยมาก ทำให้เกิดการขาดน้ำรุนแรง
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนจะมีความแปรปรวนสูงขึ้นอีก จากสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จะทำให้ฝนตกลดน้อยลงประมาณ 10-30 มม.ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำท่าลดลง สถานการณ์น้ำจึงค่อนข้างน่ากังวล
ขณะที่การศึกษาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบการใช้น้ำใน 3 จังหวัด มีความแตกต่างกัน ในด้านโครงสร้าง โดยเฉพาะชลบุรีเพียงจังหวัดเดียว มีการใช้น้ำมากถึงเกือบ 200 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว 31%, ภาคเกษตร 25% และภาคอุตสาหกรรม 43% แต่ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรี ใช้น้ำจาก East Water ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 อยู่ที่ 35 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ปี 2558 อยู่ที่ 83 ล้าน ลบ.ม. โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการพัฒนาบ่อสำรอง และมีระบบ 3R คือ มีน้ำใช้เองจากการบำบัดน้ำเสียหมุนเวียน ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำ หรือประหยัดน้ำได้ 15-40%
แต่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในเชิงการท่องเที่ยว พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย ประเภทเกสต์เฮาส์หรือธุรกิจบ้านเช่ายังอยู่ในระดับสูง แม้การท่องเที่ยว ในชลบุรีจะซบเซา แต่การใช้น้ำส่วนนี้กลับลดลงน้อยมากหรือแทบไม่ลดลง จึงมองว่าต้องใช้มาตรการลดการใช้ในภาคอุปโภคบริโภคและบริการอย่างเร่งด่วน มีการเสนอให้ชลบุรีเป็น Smart and Eco City เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยี บวกความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประหยัดทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขณะที่จังหวัดระยอง ประชากรประมาณ 1 ล้านคนรวมประชากรแฝงแล้ว แต่การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดกว่า 59% ของการใช้น้ำทั้งจังหวัด เนื่องจาก อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกกว่า 60% อยู่ที่นี่ โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีการใช้น้ำในระบบถึง 175 ล้าน ลบ.ม./ปี ใช้น้ำใต้ดินอีกกว่า 20 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมการใช้น้ำเฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมาณ 203 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่ภาคการเกษตร รวมทั้งภาคอุปโภคบริโภคและท่องเที่ยว มีการใช้น้ำน้อยกว่า คือ 28% และ 13% ตามลำดับ
สาเหตุที่ระยองมีปัญหา เพราะภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีโรงงานนอกนิคมฯ อีกกว่า 1,698 แห่ง แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดระยองจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำประแสร์ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล แต่ปีนี้ต้องถือว่าวิกฤติที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งทั้ง 2 อ่าง น้ำหายไปกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับปริมาณน้ำสำหรับ 3 เดือนหายไป
สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 85% เป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร จึงควรลดการใช้น้ำส่วนนี้ หลังมีการใช้น้ำเกินศักยภาพ ต้องพึ่งพาน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงคือ จ.จันทบุรี ปราจีนบุรี และผันน้ำจากลุ่มเจ้าพระยา ขณะที่การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพียงแค่ 11% ซึ่งจะให้ลดการใช้น้ำลงอีกคงเป็นไปไม่ได้
อีกประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งอย่างมากบนพื้นที่อีอีซีและบริเวณใกล้เคียงคือ ภาคเกษตร เพราะแม้ภาคอุตสาหกรรม จะเป็นธงนำบนพื้นที่อีอีซี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชาวสวนคือเสน่ห์ของภูมิภาคตะวันออก อีกทั้งการเป็นมหานครผลไม้โลก ที่ยังอยู่ในยุทธศาสตร์ประเทศ สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
ฉะนั้น โมเดลของนิคมไม่ได้ทำเสร็จอยู่แค่ในรั้วของนิคม แต่ต้องทำขยายจากรั้วนิคมไปยังชุมชนโดยรอบ นั่นคือ บอกชุมชนให้รู้ว่า น้ำทิ้งออกไปมันมีคุณค่าแบบไหน เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และไปทำโปรเจคร่วมกับชุมชน เราต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต้องร่วมรับผิดชอบ เพื่อจะเดินไปด้วยกันและใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องน้ำ ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับ EEC เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมการใช้น้ำที่ส่วนใหญ่ยังใช้น้ำแบบไม่ประหยัด จึงเป็นเรื่องจำเป็นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องปรับตัว ลดการใช้น้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเองก็ควรหันมาให้ความสำคัญ ความต้องการน้ำมากกว่า การหาแหล่งน้ำสุดท้ายจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะปัจจุบันปัญหาคือไม่มีน้ำให้เก็บ เช่น ปีที่แล้งจัด มีการให้สร้างอ่างเพื่อกักเก็บน้ำ แต่ก็ไม่มีน้ำให้เก็บ