ผ่อนปรนเฟส3!! สธ.เผยคนไทยย่อหย่อนมาตรการระดับบุคคล
สธ.เผยผ่อนปรนเฟส3 ประชาชนย่อหย่อนมาตรการระดับบุคคล หวั่นระบาดรอบ 2 ย้ำ ชี้ชะตาประเทศไทยคลาย-ล็อคดาวน์ ขึ้นอยู่กับกิจการ บ้าน และโรงเรียน ระบุสถานประกอบการ 4 หมื่นกว่าแห่ง ผ่านเกณฑ์ 79.19% ฝากประชาชนพบกิจการไหนไม่ปฎิบัติมาตรการแจ้งสาธารณสุขจังหวัด
ข้อมูลที่จะชี้ชะตาประเทศไทยว่าจะคลายล็อค เสี่ยง เสี่ยงสูง หรือล็อค คือ ต้องมีข้อมูลด้านพฤติกรรมประชาชน ข้อมูลการปฏิบัติผู้ประกอบการ และข้อมูลการควบคุมโรค ซึ่งข้อมูลทั้ง 3 ด้านนี้ ถ้าทุกคนปฏิบัติอย่างดี จะได้คลายล็อคอย่างแน่นอน แต่ถ้าประชาชนย่อหย่อน หน้ากากไม่สวม ไม่ล้างมือ ไปในที่ชุมชน เลี้ยงสังสรรค์ดื่มแอลกอฮอล์ แต่สถานประกอบการดี ข้อมูลการควบคุมโรคดี จะกลายเป็นมีความเสี่ยง แต่ถ้าประชาชน สถานประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ข้อมูลการควบคุมโรคเกิดขึ้นระบาดรอบ 2 ก็จะทำให้เกิดการล็อคดาวน์เช่นเดิม ดังนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนและสถานประกอบการที่ต้องช่วยกัน
วันที่ 1 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมี นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกิจกรรมและมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ว่าวันนี้เป็นวันแรกที่ได้มีการผ่อนคลายระยะที่ 3 ซึ่งยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ ปรับระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน เป็น 23.00-03.00 น. ให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการตามที่ราชการกำหนด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้เปิดดำเนินการไม่เกินเวลา 21.00 น.
ส่วนสถานประกอบการต่างๆ นั้น ได้มีการเปิดในหลายประเภท อยากให้ทุกแห่งคำนึงถึงมาตรการหลักๆ ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งการควบคุมคนไม่ให้หนาแน่น และต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 เมตร รวมถึงมาตรการเสริมต่างๆ ตามแต่ละประเภทสถานประกอบการต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลด้านพฤติกรรมประชาชน ระหว่างวันที่ 2-30 เม.ย.2563 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 99,848 ราย พบว่าค่าเฉลี่ย ระวังการจับหน้า ตา จมูก ปาก 0.60 การเว้นระยะห่าง1-2 เมตร 0.64 กินอาหารร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว 0.84 การใช้หน้ากากอนามัย/ผ้า 0.84 และล้างมือด้วยสบู่/แอลกอฮอล์เจล 0.86 ซึ่งแนวโน้มตอนนี้เมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย คนก็เริ่มผ่อน โรคก็เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นในส่วนของข้อมูลสถานประกอบการ ซึ่งเข้าร่วมทั้งสิ้น 40,445 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 79.19% แบ่งเป็นห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ 81 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 90% ติดตามข้อมูลผู้ใช้บริการ 6% ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร 418 แห่ง ผ่านเกณฑ์81% เว้นระยะห่าง 7%
สถานออกกำลังกาย ฟิตเนส ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ 68 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 78% ภาชนะรองรับที่มีฝาปิดมิดชิด 12% ลงทะเบียนเข้า-ออก 12% ควบคุมไม่ให้แออัด 6%และร้านค้าปลีก/ค้าส่งหรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 388 แห่ง ผ่านเกณฑ์74% ติดตามข้อมูลผู้ใช้บริการ 17% ทำความสะอาดห้องน้ำ 15% และควบคุมจำนวน ลดความแออัด 10%
“เมื่อสถานการณ์กิจกรรมที่ผ่อนปรน ประเทศไทยคลายล็อคสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับวินัยใหม่ของคนไทยทุกคน ร่วมกันป้องกันไม่โรคแพร่กระจายในกิจการ บ้าน และโรงเรียน โดยในส่วนของเด็ก ถึงจะมีการติดเชื้อน้อย โดยเด็กไทยติดเชื้ออายุ 0-9 ปี 1.99% อายุ 10-19 ปี 3.81% แต่หลายประเทศเมื่อมีการเปิดเรียนก็ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ อย่าง เกาหลีใต้ที่ประกาศปิดโรงเรียน 500 แห่ง ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กิจการ บ้าน และโรงเรียน” นายแพทย์บัญชา กล่าว
ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสถานการณ์ของประเทศไทยสามารถบอกได้ว่าควบคุมโรคได้ แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคได้ ตอนนี้ยังเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งหากมองไปข้างหน้า หากทุกคนช่วยกันดูแล พยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ ก็จะอยู่ในผู้ป่วยระดับต่ำ แต่ถ้าเราพลาด เราเผลอ อาจจะมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้
ฉะนั้น ถ้าแบ่งระยะของการจัดการปัญหาโรค เป็นอยู่ในระยะที่ 1โรคยังมีการแพร่ระบาด ระดับที่ 3 การแพร่ระบาดระดับวิกฤติ ระดับที่ 2 การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยในวงจำกัด และระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และระยะที่ 3 ฟื้นฟู ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ทุกจังหวัดของประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 1 โรคยังมีการแพร่ระบาด ซึ่งถ้าทุกคนเริ่มย่อหย่อนในการไม่ระมัดระวังตนเอง โอกาสสูงมากที่มีการระบาดต่อเนื่อง หรือระบาดระดับวิกฤติ
ตอนนี้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งในส่วนของมาตรการสาธารณสุข เป็นการตรวจค้นหาเชิงรุก ซึ่งจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด23-29 พ.ค.จำนวนการตรวจ 7 วัน 45,076 ตัวอย่าง ได้ตรวจตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 4 แสนกว่าตัวอย่างแล้ว ซึ่งมาตรการสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และเราจะใช้ชีวิตได้ปกติ คือ การป้องกัน ค้นหา ควบคุม และรักษา
“อยากเน้นย้ำมาตรการระดับบุคคล กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยงฯ ควรเข้าใจว่าหากสมาชิกในครอบครัวอาจเป็นผู้นำเชื้อจากนอกบ้านมาสู่กลุ่มเสี่ยงได้ ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือชุมนุมเป็นกลุ่มก้อน และควรสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และล้างมือบ่อยๆ รวมถึงอยากเตือนว่าไม่ควรใส่เฟซซิลด์อย่างเดียวโดยไม่ใส่หน้ากากผ้า เพราะไม่ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้”นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
มาตรการระดับองค์กร ขอความร่วมมือผู้บริหารองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน กระทรวงต่างๆ ควรสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เหลื่อมเวลาการทำงาน ธุรกรรมออนไลน์ ลดความแออัดของสถานที่ทำงาน:สำนักงาน โรงงาน การออกแบบทางวิศวกรรม:ระบบระบายอากาศของสถานที่ทำงาน แผงกั้น ปรับระบบงาน:การคัดกรองพนักงาน นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ประชุมทางไกล ทุกคนป้องกันตัวเต็มที่เหมือนเดิม :หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์
หลังจากผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 แล้วสถานการณ์ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามายังสาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะมีการแนะนำให้ปรับปรุง และถ้ามีการกลับมาพบผู้ป่วยใหม่ โดยไปติดโรคจากที่ใดที่หนึ่ง จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจดูกิจการดังกล่าว
หากดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมาะสม เป็นแหล่งแพร่โรค ทางสาธารณสุขจังหวัด และจังหวัด มีอำนาจในการปิดสถานที่นั้นๆ จนสามารถมั่นใจได้ว่าป้องกันได้อย่างดี และถ้ามีการแพร่ระบาดในวงกว้าง จังหวัดจะเริ่มสั่งการให้ปิดธุรกิจ หรือปิดจังหวัดที่อาจมีการแพร่ระบาดสูง เพราะถ้าไม่ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง การแพร่โรคไปในระดับควบคุมไม่ได้จะมีค่อนข้างสูง