ทส. แย้ม New Normal ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

ทส. แย้ม New Normal ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งมาตรการการท่องเที่ยวอุทยานฯ แบบ New Normal

ภายหลังที่รัฐบาลเริ่มมีการคลายล๊อคดาวน์กิจกรรมและกิจการต่างๆ มากขึ้น และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นที่กำลังเป็นที่จับตาคือ การประกาศเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยในอาทิตย์นี้ ทั้งทางกระทรวงและทางกรมฯ ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าวพร้อมทั้งมาตรการรองรับเปิดพื้นที่ หลังสถานการณ์โควิด-29 คลี่คลาย

โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นาย วราวุธ ศิลปอาชา ได้ให้นโยบายหลักแก่หน่วยงานให้ปิดพื้นที่อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้หยุดพักฟื้นจากการเข้าใช้ประโยชน์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว นายวราวุธได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ธรรมชาติในหลายๆแห่ง รวมทั้งสัตว์ป่าหายากต่างๆ ได้ปรากฏตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวาฬเพชรฆาต ฉลามหูดำ และแม้กระทั่งการขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่องของเต่าหายากและเป็นสัตว์ป่าสงวนอย่างเต่ามะเฟือง ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีชื่อเสียงที่ปิดตัวชั่วคราวจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการประชุมที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่มีข้อสรุปในรายละเอียดถึงมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป แต่มีความชัดเจนขึ้นว่า การเปิด-ปิดอุทยานฯ กว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ จะจัดลำดับชั้นของการเข้าถึง โดยนายวราวุธเปิดเผยว่า ในเบื้องต้นจะแบ่งระดับการเข้าถึงดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.อุทยานแห่งชาติที่เปิด 100 % เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติที่เปิดให้บริการเพียงบางส่วน และสุดท้ายคือ อุทยานแห่งชาติที่ยังไม่เปิดให้บริการ

ซึ่งนายวราวุธกล่าวว่า คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะสามารถแจ้งให้ประชาชนได้ทราบว่า อุทยานฯ ที่ไหนบ้างที่จะเปิดให้บริการ และเปิดเมื่อไหร่ อย่างไร

และที่สำคัญคือ จะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งมาตรการการท่องเที่ยวอุทยานฯ แบบ New Normal

“ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกคนว่า New Normal ใหม่นี้ การท่องเที่ยวอุทยานฯ อาจไม่สะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อน” นายวราวุธกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการที่ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น นอกเหนือจากเรื่องการเปิด-ปิดอุทยานฯ แล้ว ยังรวมถึงการจัดการนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมพื้นที่ โดยรูปแบบสำคัญที่จะมีการปรับเปลี่ยนคือ การจำกัดนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ จะต้องมีการจองออนไลน์หรือการซื้อตั๋วล่วงหน้า เพื่อช่วยในการจัดการจำนวนของนักท่องเที่ยวที่แต่ละพื้นที่รองรับได้

นอกจากนี้ จะมีการใช้แพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นของรัฐบาลคือ “ไทยชนะ” มาช่วยคัดกรองและติดตามการเข้าพื้นที่ของนักท่องเที่ยวอีกด้วย

“จะไม่มีวอล์คอินเที่ยวอุทยานฯ เด็ดขาด แต่จะเป็นการจองทางออนไลน์ และมีไทยชนะเข้ามาคัดกรองสแกนเข้า-ออก ตามปกติ เพื่อจำกัดนักท่องเที่ยวในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19” นายวราวุธกล่าว

159150620512

ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการการอุทยานแห่งชาติทางทะเลด้วยเช่นกัน เพื่อพิจารณาการจัดการพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเลที่สำคัญๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งพิจารณาการเตรียมความพร้อมของอุทยานฯ ทางทะเล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังภาวะ Covid - 19

ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ (carrying capacity) ที่นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล โดยได้มีการพิจารณาตัวอย่างในบางพื้นที่ เช่น ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาระบบสนับสนุนในการควบคุมดูแลกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ อาทิ ระบบติดตามเรือนำเที่ยว โดยใช้พิกัดตำแหน่งจากอุปกรณ์ลูกข่ายเครื่องรับ-ส่ง, ระบบสื่อสารวิทยุแบบดิจิทัล (Tourist Boat Tracking by Digital Trunk), ความก้าวหน้าระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติและการซื้อบัตรล่วงหน้าแบบออนไลน์, และการกำหนดและปรับค่าบริการเข้าในบางพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่า ทางที่ประชุมได้ข้อสรุปในการกำหนดช่วงเวลาเปิด-ปิด การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล และการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการในอุทยานแห่งชาติทางทะเลอย่างไร

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวภายหลังการประชุมผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า การเปิดอุทยานฯ คงดำเนินการพร้อมกันทั้งทางบกและทะเล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงและสัมพันธ์กับการคลายล็อคในระยะที่ 4

โดยอุทยานฯ ปกติจะมีการปิดประจำปี ด้วยเหตุผลต่างกัน รวมทั้งที่สัมพันธ์กับฤดูกาล เช่น ในช่วงมรสุม ยกเว้นบางแห่งที่เปิดตลอด ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณา และที่สำคัญคือ การให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม

159150623272

ผศ.ดร. ธรณ์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมการฯ ทะเล และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อยากให้ปิดบางพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องทั้งอุทยานฯ และในส่วนของการตั้งขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ จำเป็นที่ต้องได้รับประเมิน โดยคิดถึงปัจจัยทางกายภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

“เรื่องท่องเที่ยว, ทุกอย่างต้องไปแบบสัมพันธ์กัน บางแห่งอาจเปิดมากนิดเพราะรองรับได้ บางแห่งเป็นหาดเกือบสาธารณะ แต่แห่งใดที่มีสัตว์หายาก มีเต่าวางไข่ มีแนวปะการังน้ำตื้น มีแนวหญ้าทะเลที่อยู่พะยูน พวกนี้ต้องให้ธรรมชาติมาก่อน” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

ผศ. ดร. ธรณ์ เสนอแนะเรื่องการปิด-เปิดอุทยานฯ ทางทะเลที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า อาจไม่จำเป็นต้องทำทั้งอุทยานฯ เพื่อให้ท่องเที่ยวชุมชนอยู่ได้ และอาจเลือกปิดเพิ่มในบางพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ที่ปิดอยู่เดิมและเกิน 2 เดือนอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการเหมือนเดิม เช่น สิมิลัน สุรินทร์

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ควรขอให้อุทยานต่างๆ พูดคุยกับพื้นที่ก่อน แล้วนำเสนอมาอีกครั้ง และที่สำคัญ การปิดอุทยานฯ ต้องคำนึงถึงสัตว์หายากและระบบนิเวศที่บอบบางเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นความสำคัญรองลงมา

ในเรื่อง CC, ผศ. ธรณ์ กล่าวว่า มีหลายอุทยานฯ ทำเสร็จแล้ว ควรนำไปใช้ได้เลย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ทำ สามารถใช้ตัวเลขกลาง โดยดูจากความสามารถรองรับทางกายภาพและกติกาโควิดไปก่อน ซึ่งตนยังไม่คิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมามากในพื้นที่บอบบาง

“เร่งทำ CC ให้ครบทุกอุทยานฯ และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง” ผศ.ดร. ธรณ์แนะ

159150626450