‘ปู ไปรยา’ ทำอะไรในฐานะ ‘ทูตสันถวไมตรี’ UNHCR
ทำความเข้าใจหน้าที่ของ “ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก” ในฐานะทูตสันถวไมตรี ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ผ่านมาเธอทำอะไรบ้าง และมีบทบาทหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองได้หรือไม่
ความร้อนแรงของสังคมในการวิพากาษ์วิจารณ์ การแสดงจุดยืนของ "ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก" จากกรณีการอุ้ม วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ถูกอุ้มหายไปจากหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญจน ประเทศกัมพูชา จนกลายเป็น #SAVEวันเฉลิม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือ
หลังจากที่เธอตอบข้อความแสดงจุดยืนของตนเองในการทำหน้าที่โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อันนำไปสู่การแสดงความเห็นเชิงต่อว่า ถึงความเหมาะสมในตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” คนแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่ง องค์กร UNHCR
ดราม่าร้อนแรงเรื่องนี้น่าจะไม่จบลงง่ายๆ คงต้องเกาะขอบจอติดตามกันต่ออีกยาว แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากกว่าดราม่าดังกล่าวก็คือ หน้าที่หลักเกี่ยวกับตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” ว่ามีทำหน้าที่อะไร? "ปู ไปรยา" ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ที่ผ่านมาเธอทำอะไรบ้าง? รวมถึงขอบเขตงาน “ทูตสันถวไมตรี” ยุ่งเกี่ยวการเมืองได้หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาหาคำตอบเหล่านี้ไปพร้อมกัน
1. “ทูตสันถวไมตรี” คืออะไร?
ทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) คือ บุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีความโดดเด่นจากหลากหลายวงการ และเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นสมัครใจและยินดีที่จะทุ่มเทกำลังและความสามารถอย่างที่สุดในการระดมความช่วยเหลือจากสาธารณชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานขององค์กรนั้นๆ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีบุคคลที่เข้ารับตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” มีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยทำงานในองค์กรย่อยของ UN ที่แตกต่างกันไป ได้แก่
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ด้านหลักนิติธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ UNODC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
- อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ทำหน้าที่ “ทูตสันถวไมตรี” ด้านสิทธิเด็กของ UNICEF ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539
- ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก เป็น “ทูตสันถวไมตรี” ด้านผู้ลี้ภัยของ UNHCR คนแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
- อเล็กซ์ แรนเดล เป็น “ทูตสันถวไมตรี” ด้านสิ่งแวดล้อมของ UNEP คนแรกของไทย รับตำแหน่งล่าสุดในปี พ.ศ. 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
2. “ทูตสันถวไมตรี” ขององค์กร UNHCR ทำหน้าที่อะไร?
สำหรับตำแหน่ง ทูตสันถวไมตรี ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นั้น มีบทบาทและหน้าที่สำคัญของ UNHCR ในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย และบุคคลในความห่วงใย โดยดำเนินงานผ่านทางโครงการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราวมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย
และยังเป็นตัวแทนกิตติมศักดิ์ในการรณรงค์การทำงานของ UNHCR ด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีประเด็นที่ต้องดูแลหลายเรื่อง หากมองในระดับโลกก็จะต้องดูแลช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในซีเรีย เยเมน เวเนซุเอลา และโรฮีนจา ส่วนในไทยก็จะเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น (ในไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ค่าย 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก) อีกทั้งยังทำงานด้านเด็กและผู้หญิงในกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วย
3. บทบาท “ปู ไปรยา” ในฐานะทูตสันถวไมตรี UNHCR
หลังจากเข้ารับตำแหน่งในปี พ.ศ. 2560 “ปู ไปรยา” ก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่แรกในฐานะ “ทูตสันถวไมตรี UNHCR” เริ่มจากการเดินทางไปเข้าพบนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร UNHCR กับรัฐบาลไทย โดยการประชุมดังกล่าวส่งผลให้มีการนัดหมายอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง
รวมถึงการสัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติและสร้างโอกาสให้ “ปู ไปรยา” ได้สื่อสารเกี่ยวกับงานของเธอในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ในการเจรจาที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ เธอหวังว่าการมีส่วนร่วมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในงานด้านมนุษยธรรม
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 เธอเดินทางไปยังประเทศบังคลาเทศ ณ ค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศเพื่อเป็นสักขีพยานในการทำงานระดับแนวหน้าของ UNHCR และเป็นการพบปะกับผู้ลี้ภัยและคนไร้สัญชาติในพื้นที่จริง ทำให้เห็นภาพของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่อาศัยอยู่ในค่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หลังจากภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว “ปู ไปรยา” ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ 50 แห่งเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ในสังคมวงกว้างทั่วโลก เธอมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างแน่วแน่และพร้อมรับฟังปัญหาต่างๆ จากผู้ลี้ภัยเพื่อหาทางแก้ไข อีกทั้งได้จัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงวันผู้ลี้ภัยโลก เช่น งานกาล่าดินเนอร์, งานนิทรรศการภาพถ่าย, และการพูดคุยเพื่อแสดงความกล้าหาญและความยืดหยุ่นในการทำงานของ UNHCR
ถัดจากนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 “ปู ไปรยา” และทีมงาน UNHCR ได้จัดกิจกรรมการวิ่งมาราธอน เพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในค่ายทางฝั่งภาคตะวันตกของประเทศไทย
ต่อมาเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 “ปู ไปรยา” เดินทางไปโคลอมเบียเพื่อเป็นพยานถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ต้องอดทนอย่างแสนสาหัส หลังจากหนีความรุนแรงในอเมริกากลาง อีกทั้งเธอยังให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ UNHCR ซึ่งรวมถึงวันผู้ลี้ภัยโลก #WithRefugees ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างนอกน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัยแคมเปญ #IBELONG
ในเดือนมกราคม 2563 “ปู ไปรยา” ได้ให้การสนับสนุนคนไร้สัญชาติและเข้าเยี่ยมชมจังหวัดเชียงรายในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ #IBelong กระตุ้นให้ผู้คนเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการไร้สัญชาติ
4. ในฐานะทูตสันถวไมตรี UNHCR ยุ่งเกี่ยวการเมืองได้หรือไม่?
มีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียมากมายหลากหลาย ในทำนองที่ว่า จริงๆ แล้วหน้าที่ของ ทูตสันถวไมตรี UNHCR มีหน้าที่หลักในการดูแลความปลอดภัยผู้ลี้ภัย แต่ทั้งนี้เนื่องจากกรณี #SAVEวันเฉลิม อาจมีความเกี่ยวข้องกับด้านการเมือง หรืออาจเป็นเคสที่ละเอียดอ่อนมาก จึงยังฟันธงไม่ได้ว่างานนี้องค์กร UNHCR จะสามารถเข้ามามีบทบาทในกรณีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
-----------------------
อ้างอิง: