“เงิน 5%”บริษัทยา สธ.ต้องออกแนวข้อปฏิบัติให้ชัด!

“เงิน 5%”บริษัทยา สธ.ต้องออกแนวข้อปฏิบัติให้ชัด!

“เงิน 5 %”ของบริษัทยาที่บริจาคให้โรงพยาบาล(รพ.)กำลังเป็นประเด็นร้อนฉ่าในวงการสาธารณสุข


สืบเนื่องจากคำสั่งย้ายนพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น มาปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ด้วยข้อกล่าวหา“รับเงิน 5%จากบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนารพ.ขอนแก่น” ต่อมานักวิชาการอิสระเปิดเผยข้อมูล ณ เดือนพ.ย.2562 มีรพ.สังกัดสธ.รับเงินนี้ 186 แห่งทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.)และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

     เดิมทีเมื่อหลายสิบปีก่อน “เงิน 5 %บริษัทยา”ถูกจ่ายให้เป็นค่าขนส่งยาให้กับรพ.ห่างไกลที่ต้องแบบรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง เมื่อเวลาล่วงผ่านการขนส่งไม่ได้เป็นภาระของรพ.อีกต่อไป แต่เงินส่วนนี้ก็ยังมีการจ่ายให้กับรพ.เป็นเงินกองกลางใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการรพ. ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการวางระบบระเบียบเงินในส่วนนี้ รพ.แต่ละแห่งจะบริหารของตนเอง ทำให้มีการร้องเรียนถึง “การบริหารที่ไม่โปร่งใส”อยู่ไม่น้อย เช่น กรณีมีการกล่าวหาบุคคลรับเงินนี้เข้ากระเป๋าตัวเอง
         

       กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่โปร่งใส ในปี 2554 จึงได้มีการออกระเบียบให้รพ.จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการ”ของหน่วยงานขึ้น และให้มีการบริหารในรูปแบบของอนุกรรมการสวัสดิการ ซึ่ง”เงิน 5 %”ก็จะบริจาคเข้าสู่”กองทุนสวัสดิการ”ที่มีกลไกโปร่งใส ตรวจสอบได้ผ่านรูปแบบกรรมการ

      กระทั่ง มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2560 รับทราบใน “มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ”ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เสนอ โดยมีข้อกำหนดว่า “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล”

     และกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแจ้งมติครม.พร้อมแนบเอกสารคำชี้แจงจากหน้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่ขยายมติครม.ลงวันที่ 2 มี.ค.2561 ชี้แจงไว้ส่วนหนึ่งว่า “การใช้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นเงื่อนไขในการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการ มูลนิธิ หรือกองทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”

     สิ่งนี้ได้รับเสียงสะท้อน ว่าค่อนข้างสับสนและคลุมเครือสำหรับรพ.ในการปฏิบัติว่า ลักษณะไหนที่รพ.จะรับเงินจากบริษัทยาได้หากสมัครใจบริจาค???

    ในเมื่อความเป็นจริงต้องยอมรับว่า “เงินบริจาคต่างๆ” เป็นเงินก้อนหนึ่งของรพ.ที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและส่วนรวม ท่ามกลางวิกฤติสถานะทางการเงินการคลังที่รพ.ล้วนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จนมีการสนับสนุนให้คนบริจาคเข้ารพ.โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้

       นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข สะท้อนมุมมองว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความจำเป็นในการใช้เงินเป็นกรณีพิเศษ อย่างเช่น ญาติคนไข้ไม่มีเงินค่าขนส่งศพ หรือญาติมาเฝ้าไข้ไม่มีค่าอยู่ค่ากิน รพ.ก็ต้องนำเงินจากที่มีการบริจาคเข้ามูลนิธิมาช่วยเหลือดูแล หรือ กรณีการสร้างตึกราคาเป็นร้อยล้าน ก็ต้องนำเงินจากที่มีคนบริจาคสมทบเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ เป็นต้น แต่ระบบที่ออกมาป้องกันคนไม่กี่คนโกง ทำให้คนอีกกว่า 90%พลอยขัดข้อง อึดอัดไปด้วยเรื่องของการทำงานไม่สะดวก ขอความกรุณานักกฎหมาย คนร่างระเบียบดูผลลัพธ์ ดูเป้าหมาย อย่าให้คนดีไม่สามารถปฏิบัติงานด้วยความดีได้ ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่กับคนที่หลงในความดี แต่ก็ไม่ได้ทำความดี

159209579025

     ดูเหมือนจุดสำคัญในการ “บริจาคของบริษัทยา”อยู่ที่ “ต้องไม่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน” และ “ใช้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นเงื่อนไขในการบริจาค”

     นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า สิ่งที่กำหนดไว้ตามหนังสือกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 2 มี.ค.2561นั้น ยังเป็นการกำหนดที่หลวมๆไม่ชัดเจน ต้องใช้การตีความ การจะนำไปปฏิบัติยากมาก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขควรที่จะต้องวางระบบในเรื่องนี้ มีการนิยามให้ชัดเจนว่าอะไรคือ “เงื่อนไขการบริจาค” โดยออกเป็นแนวทางปฏิบัติที่กำหนดให้ชัดเจนว่า แบบไหนที่รพ.สามารถรับบริจาคจากบริษัทยาได้ และแบบไหนที่ทำไม่ได้ เพื่อให้ผู้นำไปปฏิบัติเกิดความชัดเจน อย่างเช่น หากต้องการให้รพ.รับบริจาคจากบริษัทยาโดยไม่สัมพันธ์กับการจัดซื้อ ก็อาจจะกำหนดให้บริจาคปีละครั้งโดยไม่เกี่ยวพันกับยอดการจัดซื้อของรพ.และผู้อำนวยการรพ.ไม่ต้องรับรู้ แต่ให้เป็นการรับรู้ของผ่านคณะกรรมการทั้งในการรับและการใช้ เป็นต้น

     มิเช่นนั้น คนปฏิบัติจะแปลความหมายเอง ทำให้แต่ละแห่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน กลายเป็นคนที่ทำในรูปแบบนำมาไว้บนโต๊ะให้โปร่งใสก็กลายเป็นโดนจับ คนที่ซุกไว้ใต้โต๊ะก็อาจจะจับไม่ได้ และในช่วงที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีแนวทางข้อปฏิบัติออกมา ก็จะต้องบริหารแบบช่วงเปลี่ยนผ่าน3-5 ปี ไม่ใช่ยังมีความคลุมเครือ คนปฏิบัติได้หรือไม่ได้ก็ไปตามจับแล้ว แบบนี้มันเป็นธรรมหรือไม่

159209583024

     นอกจากนี้ นพ.วชิระ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรจะต้องมีการทบทวนข้อกำหนดตามเอกสารชี้แจงในหนังสือฉบับวันที่ 2 มี.ค.2561 เพราะถ้าระเบียบใดก็ตามมันจับคนผิด ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไม่ได้ แต่ไปจับคนที่นำสิ่งที่ทำอะไรบนดินจำนวนมาก อย่างเช่น ถ้ากรณีรพ.สธ. 186 แห่งผิดจริง คนที่เกี่ยวข้องนับพันคนไม่เฉพาะผู้อำนวยการ แต่รวมเภสัชกรที่รับผิดชอบ หัวหน้าการเงิน เจ้าหน้าที่การเงิน และรองผอ.ฝ่ายบริหาร จึงตั้งข้อสังเกตว่าข้อหนดนั้นน่าจะมีประเด็นที่จะต้องพัฒนาในบางประการ


ไม่อยากให้มีอคติว่าเงิน 5 %จากบริษัทยานี้เป็นสิ่งที่เลวร้าย ซึ่งบางเรื่องที่ผู้บริจาคด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และนำเงินไปใช้ประโยชน์เพื่อหน่วยงาน เจ้าหน้าที่และประชาชน น่าจะสามารถวางระบบได้ให้มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ภายใต้การมีส่วนร่วม ก็จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม แต่ถ้ายึดระเบียบถูกผิด ถามว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่หรือไม่ ก็น่าจะยังมีอยู่ แต่จะเป็นเงินที่ลงใต้ดิน ใต้โต๊ะ หรือลงเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ก็ไม่รู้”นพ.วชิระกล่าว


อย่างไรก็ตาม นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดสธ. ยืนยันว่า “เงินบริจาคจากบริษัทยาหากสัมพันธ์กับการจัดซื้อจัดจ้างของรพ.ทำไม่ได้เลย” ขณะที่ มนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ บอกว่า เพื่อไม่ให้บริษัทยาต้องจ่าย 5%ให้กับรพ.อีกต่อไปไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม สธ.ควรที่จะหารือกับกรมบัญชีกลางในการพิจารณาให้โอนเงินค่ายาและเวชภัณฑ์จากกรมโดยตรงไปยังบริษัทไม่ต้องผ่านรพ. ด้วยหวังจะลดปัญหารพ.นำมาต่อรองให้บริษัทต้องบริจาคให้รพ.