เปิดพฤติกรรมการใช้เงินคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงเป็นหนี้
จากผลการศึกษาและวิจัยในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 “พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ 4.0” สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม แนวโน้มของแรงงานยุคใหม่ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องทั้งในแง่ของ การทำงานและการ
ในยุคดิจิทัลบทบาทของการใช้งานสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสาร ทำให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อมาตอบโจทย์กลุ่มคนทุกวัย ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่าแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 7 ลำดับแรก มีดังนี้ เฟซบุ๊ค ร้อยละ 36 รองลงมา ไลน์ ร้อยละ 31 รองลงมา อินสตาแกรม ร้อยละ 10 ตามด้วย โมบาย แบงกิ้ง กับ ยูทูป ร้อยละ 4 Joox กับ Shopee ร้อยละ 3 เกม กูเกิล และทวิตเตอร์ ร้อยละ 2 สุดท้าย ลาซาด้า ทรู มันนี่ วอเลต ร้อยละ 1 ตามลำดับ ในส่วนของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) พบว่า Facebook ร้อยละ 98 มากที่สุด รองลงมา Youtube ร้อยละ 82 Instagram ร้อยละ 60 Twitter ร้อยละ 30 ตามลำดับ
จากผลการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจนอกเหนือจากการใช้แอปพลิเคชั่น Facebook, Line, Instagram, YouTube, Twitter และGoogle ในการเข้าถึงข่าวสาร การพูดคุยกับเพื่อน พบว่าคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 มีการใช้แอปพลิเคชั่น Mobile Banking และTrue Money wallet เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ E-commerce ด้วยแอปพลิเคชั่น Shopee, Lazada และใช้แอพเพื่อความบันเทิง ประเภทแอปพลิเคชั่น Game ฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชั่น Joox ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวข้างต้นของคนรุ่นใหม่ทำให้ข้อจำกัดเรื่องเวลาและระยะทางกลายเป็นเรื่องที่เล็กลงเรื่อยๆ ในทุกวันนี้
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ตรงกับตัวผู้ตอบแบบสอบมากที่สุด พบว่าชอบความสนุกสนานและความบันเทิง (Entertainment) ร้อยละ 28 รองลงมา ชอบการมีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต (Freedom) ร้อยละ 20 มีการวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตของตนเอง (Future Plan) และชื่นชอบเทคโนโลยี (Techno-Computer) ร้อยละ 13 เท่ากัน ตามลำดับ
ผลการวิจัยพบว่าคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ส่วนใหญ่ นิยมกีฬา เดิน/วิ่ง ชมภาพยนตร์ ค้นหาความรู้ผ่านการท่องอินเทอร์เน็ตชอบท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำบุญตามวัด สิ่งของที่ชอบไป Shopping คือ ของกิน/อาหาร สถานที่ Shopping ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า,ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซื้อผ่านออนไลน์ E-commerce และทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
โดยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ใช้มากที่สุดยังคงเป็น Facebook รองลงมา Youtube และส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ชอบความสนุกสนานและความบันเทิง(Entertainment) รองลงมาคือชอบการมีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต (Freedom)
ซึ่งจะเห็นได้ว่าไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่นั้นเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข ให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลสุขภาพหันมาให้เวลากับการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง และมีการผ่อนคลายด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงรมย์ เช่น ชมภาพยนตร์ เดินทางเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่เกิดขึ้นใหม่ในวันหยุด เป็นต้น
สอดคล้องกับแนวโน้มของโลก และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนลงลึกในเชิงโครงสร้างพฤติกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการออกกำลังกาย, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การทำนุบำรุงศาสนา, การกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นต้น
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ค้นหาความรู้ผ่านการท่องอินเทอร์เน็ต ภาครัฐอาจต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างเป็นระบบ และให้สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ร่วมกับการพัฒนามาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนทำงานยกระดับให้เป็นคนไทย 4.0 ที่มีสรรถนะความสามารถสูงตามเป้าหมายที่วางไว้
HR 4.0 ต้องหากลยุทธ์บริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่และสอดรับกับวัฒนธรรมองค์กร ที่พนักงานจะสามารถทำงานได้ องค์กรต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนองค์กรให้เรื่องงานเรื่องไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ เช่น การดีลกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในการให้ส่วนลดกับพนักงาน เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้ HR ยุค 4.0 ต้องบูรณาการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ เป็นทั้งนักพัฒนา, นักประชาสัมพันธ์ (PR), นักการตลาด (Marketing), นักสื่อสารผ่านสื่อ Social Media และนักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงินร่วมด้วย
จากผลการศึกษาและวิจัยในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 “พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ 4.0” สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม แนวโน้มของแรงงานยุคใหม่ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องทั้งในแง่ของ การทำงานและการวางแผนบริหารจัดการด้านบุคลากรของ HR 4.0 ได้ดังนี้ในส่วนขององค์กรควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเหมือนองค์กร Startup ที่มีความสะดวก รวดเร็ว มีภาพลักษณ์แปลกใหม่และมีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน รวมถึงจัดอบรมให้มีการเรียนรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาบุคลากร
นอกจากนี้ องค์กรจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพนักงานในการใส่ใจเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการให้ความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมเงินและการลงทุน เพื่อสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิต พนักงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความมั่นคง ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร หรือหากมีงบประมาณมากพอ ก็ดำเนินการในการปล่อยกู้ให้กับพนักงานเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเงิน ตลอดจนการวางแผนจัดสรรเงินออมและการลงทุนอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน
- เทรนด์การทำงาน กับคนรุ่นใหม่
"สุธิดา กาญจนกันติกุล" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า แนวโน้มในเรื่องการวางแผน บริหารจัดการในเรื่องการเงิน จัดการชีวิตของคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าอยู่ในช่วงปรับตัว คนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วตระหนักถึงการมีเงินออมและการลงทุน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถออมเงินก่อนการใช้จ่ายได้ อาจจะเพราะปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่ไม่อำนวย ทำให้รายได้กับค่าครองชีพไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เทรนด์คนรุ่นใหม่จากการสำรวจ พบว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้วางแผนเรื่องการออม ส่วนใหญ่เป็นการออมเหลือจากการใช้จ่าย และส่วนใหญ่จะเป็นการวางแผนด้วยตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มใหญ่จะเป็นคนที่มีรายได้ 10,000 – 20,000 บาท แน่นอนว่าขาดวินัยทางการออม ขาดความรู้ด้านการออมและการลงทุนที่ถูกต้อง ซึ่งเราพบว่า คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีการออมในรูปแบบเงินฝากประจำ หรือประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ซึ่งรูปแบบอาจจะไม่หลากหลาย การลงทุนในกองทุนถือเป็นส่วนน้อย
ดังนั้น ทางออกในการบริหารจัดการชีวิต เรื่องการเงินของคนรุ่นใหม่ ในอนาคตคาดการณ์ว่าเราจะเห็น เทรนด์ในการหารายได้เพิ่ม แต่การหารายได้เพิ่มไม่ได้มาจากการละทิ้งงานประจำ เขายังคงยึดมั่นในส่วนของงานประจำ เพราะเขามองว่ามีความมั่นคงสูง แต่รายได้เพิ่มจะมาจากการที่รับจ๊อบเพิ่ม ทำงานระยะสั้น งานเสริมประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายออนไลน์ เดลิเวอรี่ เทรนด์เหล่านี้น่าจะเข้ามาซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขายังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่น
ต่อมา คือ การหางาน เราจะเห็นว่า เทรนด์ของคนที่หางานและต้องการรายได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งค่าเฉลี่ยที่เขาคาดหวังจะได้รายได้ที่สูงขึ้นอยู่ที่ 10,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ Gen Z ที่เพิ่งเข้ามา เขาเริ่มทำงานในตัวเลขที่ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเขาก็มองว่า เขาจะมีรายได้เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างไร เป็นแนวทางที่จะเห็นในการหางานของกลุ่มนี้ต่อไป
เทรนด์ที่สาม คือ คนกลุ่มนี้วันนี้เขาจะไม่ได้ถามหารายได้จากเงินเดือนอย่างเดียว แต่เวลาที่ต้องการทำงาน เขาจะถามหาสวัสดิการ เพราะมองว่าเป็นต้นทุนชีวิต ในเรื่องการเสริมรายได้ หรือ ลดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น โบนัส การปรับเงินเดือนประจำปี ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ทุนการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นโจทย์ขององค์กรต่อไป
ถัดมา คือ คนกลุ่มนี้กำลังหาวิธีการในการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน หางาน สะท้อนให้เห็นชัด โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย แนวโน้มที่คนกลุ่มนี้ อยากจะประหยัดค่าใช้จ่าย จึงต้องการพักอาศัยในบ้านส่วนตัวของเขา ดังนั้น โลเคชั่น ของการเลือกที่ทำงานของเขา เขาอยากจะทำงานใกล้บ้าน หากไม่ใกล้ก็ต้องเดินทางสะดวก ไม่ว่าจะ BTS หรือ MRT
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของ ความยืดหยุ่นในการทำงาน วันหยุด เวลาทำงาน เข้าออกกี่โมง รูปแบบการทำงานใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่นต่างๆ เขากำลังแสดงหาความยืดหยุ่น ในการทำงาน ให้เขาได้ทำงานทุกที่ ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์ม เพราะการที่เขาทำงานผ่านแพลตฟอร์ม จะทำให้เขามีต้นทุน ในเรื่องของค่าครองชีพที่ถูกลง
ส่วนอีกหนึ่งเทรนด์ ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการบูรณาการจากทุกภาคส่วน คือ การบริหารจัดการการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออม และ การลงทุนประเภทต่างๆ ในส่วนของ “ภาครัฐ” ต้องมีบทบาทในการเข้ามาช่วยให้ความรู้ และสนับสนุนด้านนโยบาย ในเรื่องของการออมเงิน และ การลงทุนประเภทต่างๆ ขณะที่ “องค์กร” จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสนับสนุนการเรียนรู้ และการออม รวมถึงข้อแนะนำต่างๆ
สุดท้ายแล้ว คือ “ส่วนบุคคล” เพราะปัญหาเป็นปัญหาการบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเราต้องสร้างวินัยในเรื่องของการออม ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าต้องมองเป็นปัจจัยต้น ๆ ว่าทำอย่างไรจะมีรายได้ มากกว่ารายจ่าย รวมไปถึงการต่อยอดรายได้จากการลงทุนประเภทต่างๆ ถึงแม้เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก ฝืดเคืองไปบ้าง แต่ด้วยการที่เป็นคนรุ่นใหม่ เขามีสัญชาติญาณของการไม่ยอมแพ้ และรับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เราจะได้เห็นนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในคนกลุ่มนี้ในอนาคต
- ควรออมอย่างน้อย 10% ของรายได้
“กิติชัย เตชะงามเลิศ” ในฐานะนักลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สำหรับในเรื่อง “การออม” สิ่งแรกคือต้องเปลี่ยน Mind Set คนส่วนใหญ่ที่สอบถามพอมีรายได้เข้ามาจะใช้วิธี “ใช้แล้วเหลือ เหลือเท่าไหร่ก็ออม” ซึ่งเริ่มต้นก็ผิดแล้ว จริงๆ มีรายได้เข้าเท่าไหร่ ต้องแบ่งเป็นเงินออมส่วนหนึ่ง จะออมเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับรายได้ อย่างน้อยที่สุด คือ 10% ของรายได้ ถือเป็นเงินออมสำหรับความปลอดภัยในระยะยาว หากวันหนึ่งเกษียณจะได้มีเงินเก็บก้อนหนึ่งเพื่อให้ชีวิตของเราสามารถอยู่ต่อไปได้
“ผมแนะนำเสมอว่าคนเราควรจะมี 2 อาชีพ เพราะปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนกลุ่มหนึ่งตกงาน เช่น กลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พนักงานโรงแรม พนักงานสปา ซึ่งได้รับผลกระทบ รวมถึงร้านค้าที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แม้ขณะนี้จะเริ่มกลับมาเปิด แต่การที่ต้องเว้นระยะห่างทำให้ความสามารถในการรองรับลูกค้าลดลง เดิมเคยรับได้ 50 ราย ตอนนี้อาจจะรับได้เพียง 20 ราย นอกจากความสามารถในการรับลูกค้าได้น้อยลง ตัวลูกค้าก็หายไปส่วนหนึ่ง รายได้ก็หาย ในกรณีร้านค้า หากต้องเช่าพื้นที่ ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย อาจจะต้องลดพนักงาน และทำให้คนบางส่วนตกงาน ดังนั้น เราควรมี 2 อาชีพ หากอาชีพหนึ่งมีปัญหา อีกอาชีพที่เราทำควบคู่ไปอยู่แล้วก็จะทำให้เราพออยู่ได้ในสถานการณ์นี้ คนเราหากทำได้ 2 อาชีพถือเป็นสิ่งที่ดี"
สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่า วันหนึ่งที่คุณคิดว่าคุณมีหน้าที่การงานที่มั่นคง วันดีคืนดีคุณอาจจะถูกออกจากงานก็ได้ บางคนทำงานโรงแรม 6 -7 ปี เราไม่เคยเกิดวิกฤตการท่องเที่ยวขนาดนี้ ดังนั้น เหตุการณ์นี้ถือเป็นคติสอนใจให้กับคนได้คิดแล้วว่า ต่อจากนี้ต้องมีเงินเก็บ หากวันหนึ่งคุณไม่มีรายได้เข้ามาเลย คุณต้องมีเงินเก็บที่สามารถใช้จ่าย 5 -6 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่เชื่อว่ามีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้คิดแบบนี้ สำหรับคนที่มีความรอบคอบในชีวิตต้องมีการคิดแล้วว่า ควรมีเงินเซฟตี้สำหรับตัวเอง
สำหรับคนที่มีเงินเก็บ พบว่า หลายคนเลือกที่จะฝากธนาคารระยะยาว หรือ บางคนเลือกที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน “กิติชัย” อธิบายว่า สำหรับการลงทุน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเรียนรู้ว่าจะลงทุนอะไรได้บ้าง การลงทุนในกองทุน ซึ่งมีหลายประเภท เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ โดยมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในไทยและเมืองนอก สำหรับคนที่มีเงินแนะนำว่าให้กระจายลงทุนในไทยและเมืองนอกด้วย การลงทุนหลายอย่างทำให้เราไม่เอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว ความเสี่ยงก็จะลดลง
ทั้งนี้ ช่วงกลุ่มอายุ 20 – 40 ปี ถือเป็นช่วงที่เหมาะกับการลงทุน โดยสามารถลงทุนที่เสี่ยงได้ เช่น ตราสารทุน หากผิดพลาด จะมีโอกาสและเวลาในการกลับตัว แต่ช่วงอายุ 50 – 60 ปี ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง หากลงทุนพลาดแสดงว่าบั่นปลายชีวิตเสี่ยง ควรลงทุนในกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ซื้อกองทุนโดยตรง เพราะมีความเสี่ยงสูง หากเราไม่ได้ติดตามบริษัทจดทะเบียนที่เราลงทุน หรือ คู่แข่ง หรือข่าวคราวผลกระทบต่างๆ ที่กระทบอุตสาหกรรม บางทีการวิเคราะห์อาจจะไม่เท่ากับผู้บริหารกองทุนที่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น แนะนำว่าให้เงินทำงานโดยใช้คนอื่นทำงาน สิ่งที่ต้องทำคือ เลือกว่าจะลงทุนอะไร และให้เขาบริหารจัดการ โดยมอนิเตอร์ทุก 3 เดือนว่ามีการเปลี่ยนแปลง หากเห็นว่าติดลบอาจจะถามที่ปรึกษาด้านการลงทุน และเราก็จะเริ่มเรียนรู้แล้วว่ามันลงเพราะอะไร หรือหากขึ้นเยอะก็ต้องศึกษาเช่นกันว่าเพิ่มเพราะอะไร เป็นการเพิ่มทักษะการลงทุนให้ดีขึ้น ผ่านไป 2 – 3 ปี เราก็เริ่มจะรู้แล้วว่าควรจะซื้อกองทุนอะไร ในสถานการณ์แบบไหน