แรงงานนอกระบบกว่า 7 ล้านคนเสี่ยงตกงาน
มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 จะมีการเปิดกิจกรรม/กิจการ และยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ วัยแรงงานรุ่นใหม่ กลุ่มประชากรผู้หญิงกว่า 7 ล้านคนเสี่ยงตกงาน
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว บริการ การผลิต และทำให้เกิดการย้ายกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้ ควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน
“สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 และที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)กล่าวว่า ปัญหาของประชากรวัยแรงงานมี 4 ด้าน คือ 1.แรงงานฝีมือต่ำจำนวนมาก เสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ
2.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากประชากรวัยแรงงานมากกว่า 16.1 ล้านคน มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ 3.ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พบว่า แรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 6,500 บาท หรือต่ำกว่า 4.รูปแบบการพัฒนาอาชีพและหลักสูตรอาชีพไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจชุมชนและตลาดแรงงาน
ทั้งนี้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ในปีที่ 2562 ซึ่งจะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส รายได้ต่ำ รวมถึงผู้ว่างงาน
“โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับทักษะให้กลุ่มแรงงานสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และเป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดทักษะ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เกิดนวัตกรรมใหม่ ก่อนจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่ง“กสศ.” มีงบประมาณกว่า 131 ล้านบาท ที่จัดสรรให้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2563"
ทั้งนี้จะมีการแบ่งทุนออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม และ2.ทุนพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์กว่า 10,000 คน ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการภายในระยะเวลาประมาณ 7 เดือน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ไม่จำกัดอายุ และเปิดกว้างไปยังผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ที่มีการศึกษาขั้นพื้นฐานและรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาทต่อเดือน และรับการคัดเลือกมาทั้งหมด 6,055 คน ครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัด ทั้งสิ้น 74 โครงการ
ส่วนเกณฑ์การรับสมัครเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เอ็นจีโอ รวมถึงชุมชนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีทักษะการสร้างอาชีพโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะเฉพาะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ 2.ทักษะการบริหารจัดการ 3.ทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน
กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้จะเป็นประชากรวัยแรงงานนอกระบบที่มีมากกว่าร้อยละ 55 หรือประมาณ 21ล้านคนของแรงงานทั้งหมด ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและรายได้ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานจำนวน 7 ล้านคนเสี่ยงตกงาน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ กลุ่มแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 และกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 90 ต้องมีทักษะสูงขึ้นและมีแผนประกอบอาชีพของตนเอง และร้อยละ 80 มีงานทำ จำนวนรวม 10,000 คน ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับการประกอบอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเสนอต่อหน่วยงานนโยบายและบทเรียนสำหรับสาธารณะ นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมชุมชน ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงเกิดระบบฐานข้อมูลอาชีพในท้องถิ่น และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ ผู้สนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถยื่นขอรับทุนผ่านระบบออนไลน์ ทาง https://www.eef.or.th/notice/1241/ ถึงวันที่ 24 มิ.ย.นี้