“ทราเวล บับเบิล”ยังไม่อนุญาตนักท่องเที่ยวเข้าไทย

“ทราเวล บับเบิล”ยังไม่อนุญาตนักท่องเที่ยวเข้าไทย

“อนุทิน”กำชับตัวแทนนพ.สสจ.-ผอ.รพ. จัดลำดับสำคัญใช้งบฯโควิด มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อบริการประชาชนมากที่สุด จ่อชง “ทราเวล บับเบิล”เข้า ศบค. 26 มิ.ย.นี้ ชี้เป็นลักษณะ MOU ย้ำยังไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้า เปิดช่องเฉพาะกลุ่ม นักธุรกิจ-คนมีใบอนุญาตทำงานเข้ามา

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถายหลังประชุมมอบนโยบายการจัดการสถานการณ์โควิด-19 แก่ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)แห่งประเทศไทย และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)แห่งประเทศไทยว่า ในการประชุมได้เน้นย้ำและติดตามเรื่องการใช้งบประมาณทั้งงบฯปกติ และงบฯเฉพาะโควิด-19 เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน โดยการใช้งบฯ ต้องเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกบาท ทุกสตางค์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการประชาชน ส่วนเรื่องงบฯ บางอย่างที่ถูกตัดก็ได้ให้สสจ.จัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้ถูกตัดงบฯ ออกไปน้อยที่สุด ขณะนี้พยายามหารือกับสำนักงบประมาณในการขอนำกลับเข้ามาได้ แต่บางอย่างก็ต้องไปแปรญัตติ


ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าเรื่อง การจับคู่เดินทางระหว่างประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Travel Bubble ) นายอนุทิน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้ามาดูแลวางหลักเกณฑ์ พร้อมให้นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้ามาหารือเจรจากับประเทศต่างๆ ที่สนใจร่วมกันจับคู่ เพราะต้องเป็นการออกมาตรการที่ยินยอมพร้อมใจทุกฝ่าย การจัดทำหลักเกณฑ์ที่ใช้ก็ต้องทำร่วมกัน เบื้องต้นมี อกอัครราชฑูตหลายประเทศสนใจ อาทิ ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ที่เข้าหารือ โดยกรอบที่จะหารือร่วมกันทั้งในเรื่องวิธีการของแต่ละประเทศ การคัดกรองนักเดินทาง โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรค และเศรษฐกิจ โดยจะมีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)ชุดใหญ่พิจารณาในวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.นี้

“การดำเนินการจะเป็นลักษณะของความร่วมมือ หรือ ลงนามเอ็มโอยูร่วมกันของ 2 ประเทศ หากประเทศที่จับคู่เกิดการระบาดขึ้นมาอีก และควบคุมไม่ได้ ก็สามารถยกเลิกได้ ทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป ไม่อยากให้กังวล เราต้องกล้าที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ ประกอบธุรกิจกัน อาจจะเริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจ เทคนิเชียล บรรดาครู คนทำงานที่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น ยังไม่ถึงขั้นอนุญาตนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะเชื่อว่าต่อให้เปิดประเทศตอนนี้ทั้งเราและเขาคงยังไม่มีใครจะมาท่องเที่ยว แต่มั่นใจว่าถ้าเราการ์ดไม่ตกประเทศไทยจะเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ” นายอนุทิน กล่าว


เมื่อถามถึงกรณีมีแนวโน้มในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับชีวิตคน เพราะเคอร์ฟิวส์ก็ไม่มีแล้ว คนที่ทำงานหนักก็ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่นเดิม เพราะกิจกรรม กิจการต่างๆ กลับมาเปิดปกติ รวมถึงผับ บาร์ การจำหน่ายสุราได้บ้าง จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เหมือนกัน หากพี่น้องประชาชนเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ ตนขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนเมตตา ใช้ชีวิตวิถีใหม่มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก เพราะวันนี้เรายังไม่รู้ว่ายังมีคนติดเชื้อไม่มีอาการหลงเหลืออยู่หรือไม่


ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เบื้องต้นกรอบที่ 2 ประเทศจะต้องมีตรงกัน คือ 1. จำนวนอัตราการป่วยโควิด -19 จะต้องลดลง ดูให้แน่ชัดว่าการป่วยที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ มาจากการแพร่ระบาดในประเทศ หรือ เป็นกรณีผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ และ2. ศักยภาพและความสามารถด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น