ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต
เปิดมิติทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่รัฐจะรับรองสิทธิบางประการจากการเป็นคู่ชีวิตในคนเพศเดียวกัน ที่จะนำไปสู่ประเทศเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ในเอเชีย
เป็นที่น่ายินดีเมื่อประเทศไทยกำลังจะเป็นเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ในเอเชีย ที่ยอมรับการสมรสของเพศเดียวกันผ่าน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถือเป็นก้าวแรกที่รัฐจะรับรองสิทธิบางประการจากการเป็นคู่ชีวิตในคนเพศเดียวกัน เช่น การรับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินและมรดก เป็นต้น ซึ่งทำให้ไทยก้าวขึ้นเทียบชั้นกับนานาประเทศที่เปิดเสรีให้กับสิทธิเสรีภาพของคนเพศเดียวกันนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป
นอกจากเรื่องทางการเมือง เรื่องของสิทธิเสรีภาพ ภาพลักษณ์ในเวทีโลกแล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่งที่จะพลอยได้รับอานิสงส์จากกฎหมายใหม่นี้ ซึ่งน้อยคนจะพูดถึง ซึ่งวันนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงคือ มิติทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิตนี้
มีกลจักรมากมายในการขับเคลื่อนประเทศไทย แต่กลจักรที่ใหญ่และสำคัญที่สุด คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว พ.ร.บ.นี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวของไทย ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งของแบรนด์ไทยแลนด์ ที่จะเป็นที่ท่องเที่ยวที่พักใจของนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกสีผิว ทุกชนชั้น เพราะนอกจากเราจะมีธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่น่าสนใจ ผู้คนที่เป็นมิตร แล้วเรายังมีกฎหมายที่คุ้มครอง มีความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย
เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีของประเทศไทยจนแตะระดับ 40 ล้านคนในปีที่แล้ว และการจัดอันดับเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกที่มีกรุงเทพติดโผอันดับต้นๆ อยู่ในทุกสำนัก ทำให้พบว่าไทยนั้นคือจุดหมายหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะพบว่า นักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่จะมาเที่ยวไทยนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 40,000-50,000 บาท ทำให้ปีๆ หนึ่งมีเม็ดเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทยกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่จำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีกลับเติบโตสวนทางกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปที่ลดลงทุกปี
ดังนั้น การเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป จึงสำคัญพอๆ กันกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งในทางธุรกิจเรียกว่าลูกค้าที่มีคุณภาพ ที่มีกำลังจ่าย ซึ่งจะเป็นอีกกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตและตัวเลขรายได้ในการท่องเที่ยวได้ ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้ในหลายประเทศที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากร เช่น ประเทศภูฏาน ที่นักท่องเที่ยวจำต้องจ่ายขั้นต่ำ 200-250 ดอลลาร์ต่อวัน
ภาพลักษณ์ของไทยที่สวยงาม สนุกสนานและมีความอิสระเสรี จะโดดเด่นขึ้นเมื่อ พ.ร.บ.นี้ผ่านสภา ทำให้ไทยเป็นเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ในเอเชียต่อจากไต้หวันที่รับรองสิทธิเพศทางเลือก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้ไทย ซึ่งแต่เดิมมีความโดดเด่นเรื่องความอิสระเสรีของเพศที่สามอยู่แล้ว โดดเด่นขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ
อีกไม่นานเราคงได้เห็นกิจกรรม Pride parade หรือการเดินขบวนเพื่อรณรงค์สิทธิเพศทางเลือกในกรุงเทพ ซึ่งถ้ามองด้วยแว่นขยายจากนักธุรกิจ ถือได้ว่ากิจกรรมนี้จะนำรายได้มาสู่ประเทศได้อย่างดี อย่างที่ไต้หวันใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และกิจกรรมนี้ก็จะสามารถนำนักท่องเที่ยวมาอุดช่องว่างของโลว์ซีซั่นในช่วงหน้าฝนได้อย่างดีทีเดียว เพราะนิยมจัดกันในเดือน มิ.ย.-ก.ค.
ภาคเอกชนที่ฉลาดและคล่องแคล่วจะใช้โอกาสทั้งหมดทั้งมวลนี้ขยายตลาดเพื่อจับนักท่องเที่ยวเพศทางเลือกที่มีกำลังจ่ายสูง และไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา ขณะที่ภาครัฐก็มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดูแลรักษาสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่เริ่มได้ดี เพราะกรุงโรมเองก็ไม่ได้สร้างเสร็จภายใน 1 วันเช่นเดียวกัน