ไทรโยค...ในดวงใจ

อาจคุ้นหูและดูคุ้นตา ทว่า 'ไทรโยค' ที่หลายคนมองผ่าน กลับมีคุณค่าน่าประทับใจ

บางครั้ง เราก็อาจจะลืมอุทยานแห่งชาติเก่าแก่นี้ไป อาจจะเพราะมีมานานแล้วหรือคิดว่าไม่มีอะไรในพื้นที่ จึงผ่านเลยไปจนถึงทองผาภูมิหรือสังขละ ละเลย ไทรโยค จนลืมเหลียวแล ทั้งๆ ที่ถ้ามาพินิจพิจารณาดีๆ อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ มีอะไรที่คุ้มค่าเงินที่เสียไปมาก

เดิมนั้นพื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นพื้นที่ของเดิมพื้นที่ป่าบริเวณป่าวังใหญ่ และป่าแม่น้ำน้อย และถูกประกาศเป็นป่าสงวน ต่อมาเดือนธันวาคม 2519 กองอุทยานแห่งชาติได้รับแจ้งจากนายสมจิตต์ วงศ์วัฒนา หัวหน้าสวนสักไทรโยค ว่าบริเวณป่าน้ำตกไทรโยคมีสภาพป่าและสภาพธรรมชาติสวยงามมาก เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ทางกองอุทยานแห่งชาติจึงส่งเจ้าหน้ที่ไปสำรวจ ก็พบว่านอกจากธรรมชาติจะสวยงาม มีถ้ำมีอะไรที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่อยู่ในประวัติศาสตร์

คือในระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เกณฑ์ทหารเชลยศึกที่จับได้มาจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อะไรพวกนี้ มาทำการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อที่จะให้เป็นเส้นทางต่อเข้าไปยังประเทศพม่า โดยส่วนหนึ่งของเส้นทางผ่านเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เลียบลำน้ำแควน้อยไปจนจรดด่านเจดีย์สามองค์ ที่อำเภอ สังขละบุรี โดยบริเวณต้นน้ำตกไทรโยค จะเป็นแหล่งหุงหาอาหารและที่พักพิงหลบภัย โดยยังปรากฏเตาหุงข้าวของทหารญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ที่มาสำรวจจึงรายงานข้อมูลเข้าไปที่กรมป่าไม้ แล้วผ่านกระบวนการจัดตั้ง โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 ตุลาคม 2523 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 312,500 ไร่ หรือ 500 ตารางกิโลเมตร

159499093561

159499093575

เป็นอุทยานแห่งชาติที่ต่อเชื่อมติดกับประเทศเมียนมา ทางด้านตะวันตกและมีแม่น้ำแควน้อยไหลผ่าน ซึ่งทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยที่มีทั้งเพิงผา เนินทรายชายน้ำ แก่งหิน และน้ำตกที่ตกลงแม่น้ำ ทำให้ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกไทรโยค และได้ลงสรงน้ำในธารน้ำอันเย็นฉ่ำภายใต้ร่มเงาแห่งแมกไม้ของป่าใหญ่ จนเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงประพันธ์บทเพลง ‘เขมรไทรโยค’ ดังเนื้อเพลงที่ว่า

บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์ น้องเอย...เจ้าไม่เคยเห็น

  ไม้ไร่หลายพันธุ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าน ไหลมาฉาดฉาน

  เห็นตระการ มันไหลจอกโครมจอกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม

  น้ำใสไหลจนดู หมู่มัสยา กี่เหล่าหลายว่ายมา ก็เห็นโฉม น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น

  ยินปักษาซ้องเสียง เพียงประโคม เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง

  หูเราฟังมันร้องดังกระโต้งฮง มันดังก้อก ก้อก ก้อกก้อก กระโต้งฮง”

คำบรรยายความงามของพื้นที่ไว้แต่ครั้งนั้น ยังคงบรรยายสภาพในปัจจุบันที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

159499101166

159499101870

ใครจะมาเที่ยวที่อุทยานแห่งนี้ ผมแนะนำดังนี้ครับว่า ให้ไปเที่ยวที่ ถ้ำละว้า เสียก่อน เพราะอุทยานฯไทรโยคเป็นอีกที่หนึ่งที่เขาเก็บค่าเข้าอุทยานคนละ 100 บาท บัตรค่าธรรมเนียมจึงควรใช้ให้คุ้ม โดยถ้ำละว้าที่ผมว่านี้ เป็นถ้ำที่ยังถือว่ามีความสวยงามอย่างมาก ความงามของหินงอก หินย้อย ทำนบถ้ำทั้งหลายยังถือเป็นถ้ำที่มาแล้วให้ความเพลิดเพลิน เสียก็แต่การตกแต่งไฟประดับ ไม่ใคร่จะรู้ในการถ่ายภาพเท่าไร ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ จะสวยงามและมีคนมายิ่งกว่านี้ ทางเข้าไปถ้ำละว้า ก็มาเริ่มที่ ย่านน้ำตกไทรโยคน้อยนั่นแหละจะมีทางรถยนต์เข้าไปจนถึงหน้าถ้ำกันเลย

แต่ตัวน้ำตกไทรโยคน้อยนั้นถือเป็นติ่งของอุทยานแห่งชาติไทรโยค เพราะอยู่คนละฟากถนนกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ และไปง่ายเพราะอยู่ติดถนน สำหรับน้ำตกแห่งนี้ ถ้าท่านผู้อ่านมาเห็นในช่วงที่น้ำมากๆ ผมว่ายิ่งใหญ่พอๆ กับน้ำตกผาตาดทีเดียว

ที่นี่จะเป็น สถานีรถไฟน้ำตก ซึ่งเขามีหัวรถจักรมาตั้งให้ดู แต่ที่ผมอยากจะเล่าก็คือสถานีรถไฟนี้เป็นส่วนที่เชื่อมต่อทางรถไฟสมัยสงครามโลก ที่ญี่ปุ่นเกณฑ์คนมาสร้าง ตีคู่ไปกับแม่น้ำแควน้อย โดยส่วนใหญ่ เขาจะสร้างชายภูเขาหินปูน มีการปรับภูเขาจนเรียบแล้ววางราง ผมลงไปไล่ตามดู บางส่วนก็ยังหลงเหลือ บางส่วนก็ไม่หลงเหลือสภาพ ยังเห็นร่องรอยเป็นช่วงๆ จากสถานีไทรโยคก็มีที่วัดพุตะเคียน ช่องขาขาด วัดพุมุด และที่ในอุทยานฯไทรโยคนี่เอง

ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ที่มีบรรยากาศร่มรื่นด้วยสวนป่าสักที่ต้นสูงใหญ่แล้ว คนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่จะมาพักเรือนแพที่อยู่ในแม่น้ำน้อย แต่ต้องผ่านอุทยานฯ ซึ่งเขาจะมีกิจกรรมลากเรือนแพไม่ตามแม่น้ำ บางคนนั่งเรือหางยาวมาผ่านหน้าถ้ำละว้า มาจนถึงน้ำตกไทรโยค

แต่ถ้าจะมาเที่ยว เขามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่เดินผ่านป่า ขึ้นเนินเขาเตี้ยๆ ไปจนถึงแนวรางรถไฟญี่ปุ่น นอกจากเตาหุงข้าวของทหารญี่ปุ่นแล้ว ยังมีที่เก็บถ่านหิน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถไฟ มีประวัติ แผนผังทางรถไฟ จากหนองปลาดุกไปจนถึงพม่า มีบอกไว้หมด

159499101174

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งน้ำตกไทรโยคใหญ่ และไทรโยคเล็ก ที่ทั้งสองแห่ง เกิดจากน้ำผุดใต้ดิน ผุดขึ้นมาจากช่องทางใต้ภูเขาหินปูน แล้วไหลลงแม่น้ำแควน้อยทั้งคู่ ห่างกันราว 200 เมตร จากต้นทางที่น้ำออกมาจากภูเขา แล้วไหลลงแม่น้ำ ล้วนอยู่ในย่านที่ทำการทั้งหมด ไหลมาราว 300 เมตร เท่านั้นเอง นั่นหมายถึง ไม่ว่าจะมาที่อุทยานไทรโยคในฤดูกาลไหน น้ำตกทั้งไทรโยคใหญ่และไทรโยคเล็กไม่เคยแห้งตามฤดูกาล

คนจึงมักมาที่นี่ มาเล่นน้ำกัน รวมทั้งกิจกรรมทางน้ำ ไม่ว่าจะนั่งเรือหางยาวมา หรือกิจกรรมพักแรมตามเรือนแพจึงคึกคักตลอดทั้งปี เพราะน้ำตกไม่เคยแห้งนี่เอง รวมทั้งเส้นทางเดินเล่น ในบริเวณหลายเส้นทางทั้งเส้นทางเดินไปดูน้ำตกไทรโยคใหญ่ หรือไปดูน้ำตกไทรโยคเล็ก เส้นทางดูทางรถไฟญี่ปุ่น สารพัดครับ

อย่างที่บอกว่าพื้นที่ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯเคยเป็นสวนป่าสักมาก่อน ในบริเวณจึงร่มรื่นไปด้วยร่มเงาไม้ ลานกางเต็นท์ที่กว้างใหญ่ใต้ร่มเงาไม้ อยู่ติดลำธารที่ลงเล่นน้ำได้และไม่ไกลจากลานจอดรถ จึงเป็นอุทยานแห่งชาติที่น่าไปกางเต็นท์อีกแห่งหนึ่งทีเดียว โดยเฉพาะคนชอบเล่นน้ำ เขาก็มีบริการหมด ร้านอาหาร ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ทุกค่าย แม้กระทั่งศาลาหลบฝนเวลาฝนตกหนัก ยังหอบเต็นท์มาอาศัยกางชั่วคราวได้

สิ่งที่เป็นที่เคารพก็คือ พระบรมรูปหล่อครึ่งพระองค์ของ ร. 5 ประดิษฐานในศาลาหกเหลี่ยมโปร่ง ให้ได้เคารพสักการะกัน รวมทั้งมีการสร้างเรือจำลอง เรือที่ ร. 5 ทรงเสด็จประพาสน้ำตกไทรโยคไว้ให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์กันด้วย

จริงๆ อุทยานฯไทรโยคยังเป็นปลายทางของการล่องแพแม่น้ำน้อย ที่ผมเคยล่องมาจากทองผาภูมิ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน รวมถึงน้ำตกเต่าดำที่อยู่ชิดติดชายแดน แต่ทั้งสองที่ที่เอ่ยมา ไม่ได้เปิดให้ท่องเที่ยวอีกแล้ว คงเป็นแค่เพียงการรับรู้ก็พอ ยังมีแต่ถ้ำดาวดึงส์ที่ยังให้เข้าไปเที่ยวได้อีกแห่ง

เห็นว่านักท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้นิยมนอนเต็นท์พักแรมกัน ก็เลยอยากแนะนำสถานที่ที่เราอาจจะเคยมองข้ามแต่ให้ลองมากางดู แล้วจะรู้ว่า เป็นอะไรที่ดี เหมาะสมยิ่งในการมาสัมผัสธรรมชาติยิ่งนัก

ไทรโยคไม่ไกลแต่จะได้อะไรกลับไปอย่างมาก...