ยกกำลังสองการศึกษาไทย เป้าหมายฝันอยากจะเติบโต
นักวิชาการแนะยกกำลังสองการศึกษาไทย ต้องกำหนดทักษะให้ชัดเจน สร้างแพลตฟอร์มการทำงานร่วมเอกชนและรัฐ มุ่งสร้างเด็กฉลาดมากกว่าความรู้ พัฒนาครู จัดการศึกษาให้เด็กมีสมรรถนะแต่ละด้าน
"ยกกำลังสองสมรรถนะการศึกษาของชาติ ผ่านมุมมองดัชนีชี้วัดความสามารถทางการศึกษานานาชาติ” อีกหนึ่งเวทีการประชุมทางวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา(OEC Forum) ครั้งที่ 3 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ที่ได้มีการนำเสนอมุมมองของเหล่านักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนายกกำลังสองสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทย
World Economic Forum:WEF จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศทุกปี โดยในปี 2019 ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 141 ประเทส มีอันดับลดลง 2อันดับจากปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผลการจัดอันดับจากตัวชี้วัดที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development:IMD) ระบุว่าภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่พึงพอใจต่อผลการดำเนินงานด้านการศึกษา
อีกทั้งปีงบประมาณ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายการศึกษายกกำลังสอง เป็นแนวทางในการทำงานด้านการศึกษา การจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และสรุปไปสู่การจัดทำเชิงนโยบายและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของประเทศไทยต่อไป
“ธีรนันท์ ศรีหงส์” ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่าจากการจัดอันดับของ IMD สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย เทียบประเทศในอาเซียนจะอยู่ในอันดับที่ 55 ของ 63 ประเทศ ถือว่าต่ำมาก และ พบว่า ไทยมีปัญหาเรื่องของคนไม่ได้มีคนคุณภาพเท่าที่ควร ไม่มีศักยภาพในการดึงคนเก่งไว้ในประเทศ ผลคะแนนด้านศักยภาพทั้งภาษาอังกฤษ ก็ไม่ดี
“ในมุมของภาคเอกชนสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องเลือกว่าจะแก้ปัญหา 5 ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทย เพิ่มความสามารถเด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาครูให้รู้จักการตั้งคำถาม ช่วยให้เด็กคิด แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน สร้างแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน และตั้งโจทย์ร่วมกันสร้างคน”ธีรนันท์ กล่าว
“ชูกิจ ลิมปิจำนงค์” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าศตวรรษที่ 21 การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถนะตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ดังนั้นเด็กคนหนึ่งจะต้องมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับตัวของเขาเอง หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาสมรรถนะในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน ครู ต้องเป็นผู้ที่มีฐานะของการจัดการศึกษาให้เด็กมีสมรรถนะแต่ละด้าน เพื่อนำไปสร้างเด็กที่มีสมรรถนะ
“วิเลิศ ภูริวัช” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าต้องพัฒนาทักษะสมรรถนะของคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยี ทำให้เกิดทักษะความรู้รวมยอดในการสอนของครู สอนและให้เด็กไปหาความรู้เอง สอนรากเหง้าของระบบความคิด ให้เป็นผู้คิด สร้างเด็กฉลาด รอบรู้ความเป็นไปของโลก การยกกำลังสองสมรรถนะ ต้องเป็นการบ่มเพาะให้คนมีระบบความคิด และต่อยอดไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด มีศาสตร์ องค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เรียนรู้จากจิตวิญญาณ และเด็กต้องมีความฝันที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้
ดังนั้นการยกกำลังสองสมรรถนะการศึกษาของประเทศ ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนครู ที่ยืนสอนหน้าชั้นเป็นครูสอนสมรรถนะ มุ่งเน้นเพิ่มทักษะกระบวนการคิดแก่เด็ก สร้างความฉลาดมากกว่าความรู้ เป็นนักคิดนักสร้าง ต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าเด็กไทยควรมีทักษะอย่างไร ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องไปส่งเสริมให้ครูเกิดกระบวนการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของเด็ก
ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เกิดการศึกษาที่มีความเป็นเลิศ มีความยืดหยุ่น เท่าทันกับบริบทภายนอก และกระแสโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พร้อมเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ด้วยการสร้างกลไกที่เข้มแข็ง มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่ความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละคน เน้นให้มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็นการศึกษา และทุนมนุษย์ที่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีทักษะชีวิตที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและตลาดได้