อย่าให้ 'โควิด' สูญเปล่า
เมื่อวิกฤติโควิด-19 จู่โจมประเทศทั่วโลกอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลกระทบ หลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ดังนั้นอย่าให้วิกฤติที่เกิดขึ้นสูญเปล่า ต้องมองอนาคตเพื่อรับมือสถานการณ์ข้างหน้า
เคยได้ยินนิทานโบราณของจีนเรื่องพ่อค้าม้าในฤดูหนาวไหมครับ เมื่อฤดูหนาวมาเยือน ม้าขาดแคลนและหายากมาก พ่อค้าม้า 3 คน กลับมีวิธีการแตกต่างกัน
พ่อค้าคนแรกประกาศว่า Next Normal มาถึงแล้ว สังคมกำลังจะหมดยุคของการค้าม้า เขาจึงหันกลับไปปลูกข้าวและพืชผักแบบในสมัยก่อน ถึงการค้าขายม้าจะทำรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำกว่าการทำเกษตร แต่วันนี้เมื่อม้าขาดแคลน ก็ต้องกลับไปปลูกข้าวปลูกผักแบบเก่า
ส่วนพ่อค้าคนที่ 2 เป็นคนใจนักสู้ เขาพยายามทำทุกวิธีทางเพื่ออยู่รอดในวงการค้าม้า เขาออกเดินทางเข้าป่าและข้ามไปเมืองอื่นเพื่อเสาะหาและซื้อม้า ตลอดช่วงฤดูหนาวเขาเดินทางไม่หยุดหย่อน เสาะหาม้ามาเพิ่มได้บ้าง แต่ไม่มากสักเท่าไร เพราะเมืองอื่นก็เผชิญฤดูหนาว หาม้าไม่ค่อยได้เช่นเดียวกัน
แต่พ่อค้าคนที่ 3 เลือกทำอีกแบบ เขาไม่กลับไปทำเกษตร ไม่วิ่งตามหาม้า แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกหญ้าพันธุ์ดีที่ม้าชอบทาน จนดูจะได้พื้นที่แปลงหญ้ากว้างขวางใหญ่โต คนรอบข้างเห็นแล้วก็งงว่า ตานี่บ้าที่สุดในบรรดา 3 คน เพราะม้ายังไม่มี หญ้าก็ขายไม่ได้ จะเตรียมปลูกหญ้าเขียวขจีเต็มทุ่งไปหาวิมานอะไร
นิทานเรื่องนี้จบลงด้วยฤดูหนาวผ่านพ้นไป เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ทุ่งหญ้าของพ่อค้าคนที่ 3 เขียวขจีกว้างใหญ่ไพศาล ถึงเวลานี้ ม้าจำนวนมากต่างมาทานหญ้าที่ทุ่ง พ่อค้าไม่ต้องเดินทางไปไหน อยู่เฉยๆ ก็ได้ม้ามาในครอบครองมากมาย
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด ประเทศและบุคคลก็มี 3 ประเภท เช่นเดียวกัน คือมีที่ร้องประกาศว่า Next Normal คือต้องหวนกลับไปเน้นภาคเกษตรแบบในอดีต เพราะการท่องเที่ยวการส่งออกจะไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้ว ขณะเดียวกันก็มีที่พยายามเดินหน้าเสาะหานักท่องเที่ยว ได้มาจำนวนเล็กน้อยแถมอาจได้เชื้อไวรัสผสมมาด้วย หรือพยายามเสาะหาตลาดส่งออก ทั้งที่ทั่วโลกกำลังจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ
แต่ก็มีแบบสุดท้าย คือ ใช้ช่วงเวลานี้มุ่งวางรากฐานเพื่ออนาคตหลังโควิด ถ้าเป็นประเทศก็อาจลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็พัฒนาโรงแรมหรือผลิตภัณฑ์ เตรียมพร้อมที่จะกลับมารุ่งโรจน์ในวันที่นักท่องเที่ยวหรือการส่งออกหวนคืน
- ผมชวนคิดว่า เวลาที่เราพูดถึงการจัดการกับวิกฤติโควิด ก็มีมุมคิดได้อย่างน้อย 3 มิติ
มิติแรก คือ การป้องกันการระบาดและควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับที่รองรับได้ เพราะหากเกิดการระบาดหนัก เช่น ในอู่ฮั่น อิตาลี หรือสหรัฐเมื่อไร ย่อมเป็นหายนะทางสาธารณสุข เพราะศักยภาพของระบบการแพทย์ที่จะรองรับคนไข้ย่อมไม่เพียงพอ และยิ่งจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหนักหนาสาหัส
มิติที่ 2 คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่คนตกงานและธุรกิจที่สูญเสียรายได้จากมาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้น จนถึงภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคการส่งออกที่ส่งออกไปไม่ได้เพราะตลาดปลายทางระบาด ภาคการผลิตที่ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบนำเข้ามาเพื่อผลิตไม่ได้เพราะต้นทางระบาด หัวใจสำคัญคือ ต้องเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงเป้าถึงมือคนและธุรกิจที่เดือดร้อน
มิติที่ 3 คือ การลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่ออนาคตหลังโควิดเรียกว่าเป็นการมองข้ามช็อต ด้านหนึ่งอาจใช้วิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคต อีกด้านหนึ่งอาจเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทุ่มเม็ดเงินกับโครงการที่วางรากฐานเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตหลังโควิด เสมือนพ่อค้าม้าคนที่ 3 ที่เตรียมหว่านเมล็ดพันธุ์หญ้ารอรับฤดูใบไม้ผลิ
ข้อสังเกตจากการติดตามข่าวสารของผม ก็คือ ในวงนโยบายไทยเราพูดถึงมิติแรกกันมากเป็นพิเศษ ขณะที่ในวงนโยบายสหรัฐพูดถึงมิติที่ 2 กันมาก ส่วนข้อถกเถียงในวงนโยบายของจีน พูดถึงมิติที่ 3 ค่อนข้างมาก
- ในจีนมีการพูดกันอย่างกว้างขวางว่า จีนต้องแปลงวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาสให้ได้อย่างน้อยใน 3 เรื่อง
1.ใช้โควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมดิจิทัลและสังคมอัจฉริยะสมบูรณ์แบบ จีนใช้คำภาษาอังกฤษว่า digitalization และ intelligentization กล่าวคือต้องไม่ใช่เพียงเป็นสังคมดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังต้องต่อยอดไปถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น โควิดเป็นตัวผลักดันการเชื่อมข้อมูลระหว่างเมืองของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อมูลของแต่ละเมืองต่างคนต่างเก็บและไม่มีแนวทางการเชื่อมข้อมูลระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ความพยายามที่จะสร้างสมองของเมือง (City’s Brain) โดยการประมวลชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจราจร การใช้พลังงาน ข้อมูลสุขภาพ ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น
มีคำพูดแพร่หลายในจีนตอนนี้ว่า เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในอดีต รัฐบาลแต่ละเมืองรับมือด้วยการขุดคูคลอง แต่ภัยจากไวรัสโควิดรอบนี้ รัฐบาลแต่ละเมืองรับมือด้วยการสร้าง “ก้อนเมฆ” หรือโครงสร้างพื้นฐานระบบ Cloud เพื่อรองรับสมองเมืองและการเก็บชุดข้อมูลขนาดใหญ่
โควิดยังเป็นตัวเร่งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เร่งการใช้แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ ด้านการศึกษาและการแพทย์ จนตอนนี้ 2 ภาคธุรกิจของจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ ธุรกิจและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Health Tech และ Education Tech
2.การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตด้วย ในอดีตเมื่อตอนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ การกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนเพื่ออนาคตคือ การสร้างถนน สะพาน รถไฟ ฯลฯ แต่การลงทุนของจีนในรอบนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้ฐานด้านดิจิทิทัล ระบบ Cloud และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G เป็นหลัก
3.โควิดเป็นตัวตอกย้ำภาคการส่งออกที่กำลังตกต่ำ และยิ่งเร่งให้จีนต้องย้ำเน้นการส่งเสริมและปลดปล่อยพลังการบริโภคภายในประเทศ ส่งเสริมการยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคภายในประเทศ เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจน เพื่อให้มีพลังชนชั้นกลางใหม่ที่จะกลายเป็นตลาดผู้บริโภคมหึมา ดังนั้น อีกหนึ่งเป้าของการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่ออนาคตจึงเป็นการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ราคาถูกสำหรับประชากรต่างถิ่นที่ย้ายเข้าเมือง สร้างหลักประกันพื้นฐาน เปิดทางให้พวกเขาเข้าร่วมกับเศรษฐกิจเมืองและกลายเป็นพลังการบริโภคระลอกใหม่ของจีน
วินสตัน เชอร์ชิล มีวาทะเด็ดช่วงสงครามว่า อย่าให้วิกฤติที่เกิดขึ้นสูญเปล่า (“Never let a good crisis go to waste.”) วันนี้ต้องย้ำเตือนเช่นกันครับว่า อย่าปล่อยให้โอกาสที่มากับโควิดเสียไป