'พลาสติก' กับความตายของ 'มาเรียม' และสัตว์ทะเลหายาก
ย้อนรอย 1 ปี การจากไปของ "มาเรียม" พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง กับสถานการณ์ "พลาสติก" ที่กำลังเกลื่อนทะเล และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
เช้ามืดวันนี้ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว เป็นวันที่หลายคนตื่นมาแล้วน้ำตาซึม เมื่อข่าวการจากไปอย่างสงบของ มาเรียม พะยูนน้อยแห่งบาตูปูเต๊ะ จากเกาะลิบง จ.ตรัง ขวัญใจชาวไทยทั้งประเทศ
ทีมสัตวแพทย์ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากแผลที่ถูกชนจนเป็นรอยช้ำ คาดว่าน่าจะโดนพะยูนหวงถิ่นว่ายน้ำมาชน ขณะเดียวกัน ก็พบการอุดตันของลำไส้เล็กจากขยะพลาสติก (คาดว่าขยะพลาสติกปนอยู่กับหญ้าทะเลแล้วน้องกินเข้าไป) พบว่ามีแก๊สสูง ทำให้ลำไส้บวมมาก ปวดท้อง มีผิวหนังตายบริเวณลำไส้ด้านใน ร่างกายขาดน้ำ ปอดเป็นหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้เกิดภาวะช็อค หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
ความเศร้าที่สะเทือนไปทั่วสังคมไทย หลายคนมองพลาสติกนั่นแหละเป็นวายร้าย แต่ที่ร้ายยิ่งกว่า คือ พฤติกรรมการใช้แล้วทิ้ง ที่ซึมอยู่ในวิถีชีวิตจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำวัน
ปริมาณขยะกว่า 1.15 กิโลกรัมต่อวันที่คนเราสร้างขึ้นคือ รูปธรรมของการวัดผลที่ชัดเจนที่สุดในวันนี้ ของปริมาณขยะกว่า 27 ล้านตันต่อปีของประเทศไทย
สำทับด้วยชุดข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษว่า ขยะมูลฝอยทั่วประเทศถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีถูกต้อง 10.88 ล้านตัน สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่มี 9.58 ล้านตัน ขณะที่ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมีกว่า 7.36 ล้านตัน และยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม โดยบริเวณที่พบขยะตกค้างพบมากที่สุดคือ ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล โดยส่วนใหญ่ของขยะที่พบเป็น “ถุงพลาสติก”
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานจาก Surfers Against Sewage องค์กรด้านการอนุรักษ์ทะเล และปกป้องชายหาด และมหาสมุทร ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พบพลาสติก ในเต่าทะเล 100%, วาฬ 59%, แมวน้ำ 36% และ 40% ของสัตว์ทะเลอื่นๆ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เราสามารถพบพลาสติกบนชายหาดทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นชายหาดท่องเที่ยวที่คึกคักไปจนถึงหมู่เกาะเขตร้อนที่ไม่มีใครอยู่อาศัย หรือไมโครพลาสติกที่ฝังอยู่ลึกลงไปในน้ำแข็งอาร์กติก
ในปี 1950 ประชากรของโลกจำนวน 2.5 พันล้านคนผลิตพลาสติก 1.5 ล้านตัน ในปี 2016 ประชากรทั่วโลกมากกว่า 7 พันล้านคนผลิตพลาสติกมากกว่า 320 ล้านตัน และตัวเลขเหล่านี้สิ่งนี้จะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2034 หากยังไม่มีใครทำอะไร
ทุกวัน จะมีพลาสติกอย่างน้อย 8 ล้านชิ้น ไหลลงสู่มหาสมุทร ขณะนี้อาจมีพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อย และพลาสติกจิ๋วราว 5.25 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในมหาสมุทรเปิด ซึ่งอาจรวมน้ำหนักได้มากกว่า 269,000 ตัน เป็นไปได้ว่า พลาสติกในทะเลนั้นมีปริมาณมากกว่า 60 ถึง 90% จากจำนวนที่มีการศึกษาเกี่ยวกับขยะทะเล
มีการพบขยะพลาสติกอัตราส่วน 5,000 ชิ้นต่อไมล์ ตลอดแนวชายหาดของอังกฤษ และไม่น้อยกว่า 150 ชิ้นเป็นขวดพลาสติก
ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์พบพลาสติกในเต่าทะเล 100%, ปลาวาฬ 59%, แมวน้ำ 36% และ 40% ของสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่สำรวจ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเต่าทะเลราว 100,000 ตัว และนกทะเล 1 ล้านตัวตายในทะเลทุกปี
ผู้ร้ายคือถุงพลาสติก ?
“ความสำเร็จต่างหากที่ทำให้เราเป็นผู้ร้าย” ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้คำตอบถึงพลาสติกที่ตกค้างจนกลายเป็นปัญหาในวันนี้
ความสำเร็จที่เขาหมายถึงก็คือ เทคโนโลยี และความรู้ในการผลิตพลาสติกได้ในปริมาณมากๆ ในราคาที่ถูกมากๆ จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรม “ใช้แล้วทิ้ง” ให้แพร่หลายกันในชีวิตประจำวันนั่นต่างหากที่คนเรามักมองไม่ค่อยเห็น
เดิมที พลาสติก จะถูกคิดค้นขึ้นมาในฐานะ วัสดุทดแทน เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้วยความสะดวกและต้นทุนต่ำ ทำให้วัสดุทดแทนชิ้นนี้แทรกซึมสู่ชีวิตประจำวัน และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั้งโลกไปอย่างสิ้นเชิง
ไม่น่าแปลกใจ เพราะพลาสติกที่ในแต่ละปีถูกผลิตขึ้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านตัน พลาสติกเหล่านี้ ประกอบไปด้วย ถ้วยกาแฟ 1.6 หมื่นล้านใบ ขวดพลาสติก 4.5 หมื่นล้านใบ และถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีก 4 ล้านล้านใบ ทำให้มีขยะพลาสติกราว 8-10 ล้านตันถูกทิ้งลงมหาสมุทร ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีขยะพลาสติกอยู่ราว 2 ล้านตัน ซึ่งในกระบวนการจัดการขยะนั้นมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 5 แสนตันเท่านั้น
อีกทั้งระบบการจัดเก็บและรวบรวมขยะมูลฝอยไปสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของหน่วยงานท้องถิ่น อย่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเพียง 4,894 แห่ง หรือร้อยละ 63 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีถึง 2,881 แห่ง หรือร้อยละ 37 ที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวมและถูกนำไปกำจัด
การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงน่าจะเป็นการเกาถูกที่คันมากที่สุดในเวลานี้ โดยเฉพาะการ ลด-ละ-เลิก การเกิดขยะในชีวิตประจำวัน หรือการใช้ประโยชน์จากข้อที่อยู่ในมือเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนจะทิ้งลงถังขยะ และขยะส่วนใหญ่ไม่ได้จบที่ก้นถังขยะ แต่มักจมอยู่ก้นทะเลแทน
พลาสติก หรือ ขยะทะเล จะไมโครพลาสติกหรือพลาสติกจิ๋ว ที่แตกตัวออกไปปะปนอยู่ในระบบนิเวศ หรือกระทั่งในตัวเรามีนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีอยู่ราว 5 หมื่นชิ้นนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของโศกนาฏกรรมความพังพินาศของทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง โดยเฉพาะในอาณาบริเวณกว่า 3.5 แสนตารางกิโลเมตรของไทย
บนท้องเรือประมงพื้นบ้าน ไปจนถึงสายพานการผลิตในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลต่างรู้ดีว่าใต้ท้องน้ำของไทยมีค่าไม่ต่างจาก “ขุมทรัพย์มีชีวิต” แหล่งทรัพยากรสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และมีแนวโน้มมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ทรัพยากรทางทะเล กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจที่ค้ำจุนประเทศไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยประเมินผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยเอาไว้ว่า ทะเลไทยมีการใช้ประโยชน์อยู่ 4 ส่วน คือ การพาณิชยนาวี, การประมง, การผลิตพลังงาน และการท่องเที่ยวจังหวัดชายทะเล
ข้อมูลจากหอการค้าไทยระบุว่า อาหารทะเลเมื่อปี 2561 มีปริมาณ 114,817 ตัน มูลค่าการส่งออกที่ 12,908 ล้านบาท ขณะที่ กองทัพเรือได้มีการประเมินยุทธศาสตร์ใน 10 ปีต่อจากนี้ พบว่า ผลประโยชน์ทางท้องทะเลของประเทศไทยจะมีไม่ต่ำกว่า 17.9 ล้านล้านบาทต่อปี
แต่ผลประโยชน์มหาศาลระดับร้อยละ 30 ของจีดีพีของประเทศนั้นกลับต้องแลกด้วยความทรุดโทรมของระบบนิเวศ และสร้างผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างชัดเจนในช่วง 30 ปีหลัง
การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก สกว. หรือ สกสว. ในปัจจุบัน ที่มี ศ.ดร.เผดิมศักดิ์เป็นหัวหน้าโครงการ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไทยมีแนวโน้มของกิจกรรมการใช้ทะเลเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และรูปแบบ
ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่นั้นลดลง การจับปลามากเกินศักยภาพในการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำและเครื่องมือประมงพาณิชย์ที่มีความก้าวหน้า กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามไม่ทัน ขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้
ยิ่งไปกว่านั้น ทะเลไทยยังเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูมให้เป็นตลาดการขนส่งทะเลร่วมอาเซียน กองเรือพาณิชย์ทั้งไทยและต่างชาติ ท่าเทียบเรือที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมทะเลไทย จำนวนท่าเทียบเรือที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชายฝั่ง อีกปัญหาที่ไทยละเลยการจัดการน้ำอับเฉาเรือ น้ำอับเฉาเป็นน้ำที่ใช้ปรับจุดศูนย์ถ่วงเรือให้ทรงตัวได้ดี การสูบถ่ายน้ำสร้างปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานสู่ทะเลไทย
ขณะที่สิ่งปลูกสร้างในทะเล ก็กำลังสร้างผลกระทบให้เกิดกับระบบนิเวศในพื้นที่ ที่เห็นได้ชัดเจนจากสิ่งปลูกสร้างทางกิจการปิโตรเลียมในทะเล ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 400 แท่น และอยู่ในทะเลไทยมากกว่า 20-30 ปี การเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุการใช้งาน อาจต้องการองค์ความรู้ในการจัดการมากกว่าการรื้อถอน เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศไปแล้ว
“ปัจจุบันไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ” นี่ถือเป็นฟันฟืองที่สำคัญ และน่ากังวลสำหรับ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ ถึงการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในภาพรวม
เพราะรายงานความสำเร็จฟื้นฟูทะเลไทยต้องไม่ขึ้นกับปริมาณลูกปลาที่ปล่อย ปะการังที่ปลูก วางปะการังเทียมกี่ก้อน ปลูกป่าชายเลนกี่ต้น หรือสร้างเขื่อนกันแนวชายฝั่งความยาวกี่เมตร จะต้องมองผลลัพธ์คือ ระบบนิเวศที่ฟื้นคืนมา สัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น ชาวประมงมีอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมากกว่า
ด้านฟากองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง กรีนพีช ระบุถึงภัยคุกคามทางทะเล นั้นปัจจัยสำคัญ นอกจากภาวะโลกร้อยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมให้กับทรัพยากรในทะเล สิ่งที่เป็นเหมือนปัจจัยเร่งให้ความย่อยยับนั้นเกิดเร็วขึ้นก็คือ อุตสาหกรรมประมงเกินขนาด หรือประมงทำลายล้าง ซึ่งในประเทศไทยนั้น เป็นที่รู้กันดีว่า อวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ ที่กลายเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์น้ำพลอยได้ ถูกทำลายล้างอย่างรุนแรง
ข้อมูลจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการสำรวจข้อมูลของกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง กรมประมง เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ปี 2558 ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลายจำนวน 2.81 แสนกิโลกรัม ปี 2559 จำนวน 3.4 แสนกิโลกรัม และปี 2560 จำนวน 3.5 กิโลกรัม โดยลูกปลาตัวเล็กกว่า 74 ชนิด อาทิ ปลาทู ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ดและอื่นๆ ถูกทำลายเฉลี่ยปีละ 30.4 ล้านกิโลกรัม
จากการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 145 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีข่าวว่า ปลาทูในอ่าวไทยกำลังลดน้อยลง และพยากรณ์กันว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการแก้ปัญหา ปลาทูในอ่าวไทยจะหมดไป ปัจจัยสำคัญก็เพราะการทำประมงโดยใช้เครื่องมือจับปลาแบบทำลายล้าง โดยเฉพาะอวนลาก และเรือปั่นไฟซึ่งจับปลาได้ทุกขนาด ทุกวัย
จนนำไปสู่การพิจารณาให้ "ปลาทู" เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกที่ต้องกำหนดขนาดในการจับ โดยขนาดที่เหมาะสม คือ 14 เซนติเมตร ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของกรมประมงที่ระบุว่า ปลาทูขนาด 14 เซนติเมตร เป็นขนาดแรกสืบพันธุ์ หรือเริ่มวางไข่ครั้งแรก
แต่ก็ยังมีข้อกังวลต่อไปอีกว่า เครื่องมือจับปลาทั้งเครื่องมือพื้นบ้าน และ ประมงพาณิชย์ สามารถจะจับปลาขนาดที่ต่ำกว่า 14 เซนติเมตรได้เท่ากัน จึงทำให้ ชาวประมงเสี่ยงที่จะกระทำผิดได้โดยง่าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดกับพะยูนน้อยขวัญใจชาวไทยอย่างมาเรียมนั้น เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาบางส่วนที่ท้องทะเลไทยกำลังเผชิญเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่คาบเกี่ยว และเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของเราอย่างนึกไม่ถึง ตั้งแต่พลาสติก ไปจนถึงอาหารทะเลบนโต๊ะกินข้าวของเรา
นอกจากการตื่นตัวเรื่อง พฤติกรรม ลด-ละ-เลิก การใช้แล้วทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะ เราคงต้องหันกลับมามองให้เห็นความเชื่อมโยงของทะเลที่ดูเหมือนไกล แต่ใกล้เรามากกว่าที่คิดอีกด้วย เพราะคงไม่ต่างจากเรื่องตลกร้าย
หากเราต้องมาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ และดูแลทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในวันที่ไม่เหลืออะไรให้ดูแลอีกต่อไปแล้ว