‘เฉลิมชัย’ เร่งช่วย 'เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้' กว่าล้านตัวจากผลกระทบโควิด-19
"เฉลิมชัย" เร่งช่วย "เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้" กว่าล้านตัวจากผลกระทบโควิด-19 "อลงกรณ์" นัดประชุมคณะกรรมการประมง 25 ส.ค. เคาะโครงการสินเชื่อ 8 พันล้าน หวั่นจระเข้หลุดลงแหล่งน้ำสาธารณะ มอบกรมประมงจับมือสมาคมจระเข้ร่วมตรวจตราใกล้ชิด
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (19ส.ค.) ว่า คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประชุมในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เพื่อพิจารณาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ และผู้ประกอบการวงเงิน 8,770ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ และจีน จนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19
โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มที่มีการเลี้ยงในระบบรวม 1,189,836 ตัว ในทุกภาคทั่วประเทศ 1,150 ราย ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าประจำปี 2562 ประกอบด้วย ผู้เพาะเลี้ยง ผู้ค้าและผู้เลี้ยง (ครอบครอง) โดยเฉพาะขณะนี้มีจระเข้ขนาด 1.8 เมตรขึ้นไป (อายุ 3 ปี) ค้างในบ่อเลี้ยงของเกษตรกร ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัว เป็นภาระให้กับเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าดูแลและค่าอาหาร ซึ่งจระเข้ไทยเป็นหนึ่งในจระเข้ที่นำมาทำผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่ดีที่สุดในโลก หากคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงให้ความเห็นชอบก็จะเสนอ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้จัดการประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ประกอบการจระเข้ ที่ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือถึง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมง พร้อมด้วย นายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง สมาคมฟาร์มจระเข้ไทย ผู้ประกอบการฟาร์มจระเข้ ตัวแทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตัวแทนบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมประชุมพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ และจีน จนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้มีการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือการกระจายสินค้าจระเข้ และที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อ soft loan สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการจระเข้วงเงินสินเชื่อ 8,770 ล้านบาท
โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการจระเข้ไทย และรับซื้อจระเข้จากเกษตรกร ในช่วงปี 2563-2564 ประมาณ 150,000 ตัว ระยะปลอดชำระ 3 ปีเพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างเสถียรภาพของตลาดจระเข้ โดยจากข้อมูลของกรมประมง พบว่า ปัจจุบันมีจระเข้ในระบบรวมกว่า 1,189,836 ตัว มีผู้ครอบครองผู้ค้าและผู้เพาะเลี้ยงจำนวน 1,150 ราย ในทุกภาคทั่วประเทศซึ่งผลจากการประชุมจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เพื่อเร่งดำเนินการออกสินเชื่อโดย ธ.ก.ส. และ บสย. ร่วมค้ำประกันสินเชื่อซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบการของไทยผ่านวิกฤต COVID-19 ไปได้
นายอลงกรณ์ ได้แสดงความกังวลกรณีจระเข้หลุด ซึ่งอาจหลุดลงแหล่งน้ำสาธารณะจึงมอบกรมประมงร่วมกับสมาคมจระเข้ร่วมกันตรวจตราอย่างใกล้ชิด สำหรับการส่งออกจระเข้ทั้งตัวเป็น ผลิตภัณฑ์เนื้อและหนังจระเข้ในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท และก่อนเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีมูลค่าส่งออกกว่า 6 พันล้านบาท โดยมีจีน ฮ่องกง สิงคโปร์และยุโรป เป็นตลาดใหญ่ของไทย