เปิดตาเปิดใจในโลก ‘นิทานภาพ’
เปิดโลกของหนังสือนิทานภาพ ผ่านมุมมองของนักเขียน นักวาดภาพประกอบ และผู้อำนวยการศูนย์วรรกรรมเด็กแห่งมหาวิทยาลัยแองเกลียรัสติน ประเทศอังกฤษ
หากเอ่ยถึง วรรณกรรมสำหรับเด็ก เรียกได้ว่ามีด้วยกันหลากหลาย ทั้ง สมุดภาพสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน หนังสือนิทาน บทร้อยกรอง บทกวี โดยลักษณะหนังสือจะเน้นให้มีภาพประกอบและตัวอักษรขนาดใหญ่ ให้เด็กๆ สร้างประสบการณ์การอ่านที่เพลิดเพลิน พร้อมมีเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการ ก่อร่างสร้างทักษะชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามสภาวะของโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน
เรื่องราวของ นิทานภาพ แห่งยุคสมัยใหม่ หยิบยกขึ้นมานำเสนอสู่สังคม ผ่านงานเสวนาออนไลน์ เปิดโลกนิทานภาพ จัดขึ้นโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เพื่อให้คนเรียนรู้ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแวดวงนิทานภาพในโลกปัจจุบัน ที่นำเสนอเรื่องราวผิดแผกไปจากโลกแห่งเทพนิยายแสนสุขโดยสิ้นเชิง จาก ศจ.มาร์ติน ซาลิสเบอรี นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมเด็ก เคมบริดจ์สคูลออฟอาร์ท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน ประเทศอังกฤษ
“ไม่กี่วันก่อน ผมไปที่ร้านหนังสือเด็กในเคมบริดส์ พบว่าหนังสือที่วางโชว์หน้าร้านตอนนี้ เป็นหนังสือเด็กที่พูดถึงปัญหาใหญ่ๆ ของโลกแทบทั้งนั้น” ศจ.มาร์ตินตั้งข้อสังเกต
“หนังสือภาพแท้จริงเปรียบดั่งบทกวีที่มีภาพ” เขายกคำกล่าวของมอริส เซ็นดัก นักเขียนนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กสุดคลาสสิค Where the Wild Things are ที่เคยพูดไว้ว่า ‘A True Picturebook is a Visual Poem’ เขามองว่าการสื่อสารประเด็นที่ยากและจริงจัง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ฯลฯ อย่างแยบคายเหมือนแฝงในบทกวี จะดึงดูดเด็กๆ เข้ามาสัมผัสเรื่องราวของหนังสือภาพได้แน่นอน เปรียบเหมือนเวลาแม่ซ่อนยาขมไว้ในช็อกโกแลตรสหวานนั่นเอง
“ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาหนักๆ มากมาย การหยิบยกปัญหาเหล่านี้มาถ่ายทอดในรูปแบบหนังสือภาพได้อย่างงดงามเหมือนแฝงไว้ในบทกวี เด็กเองก็จะรับสารตรงนี้ได้ แตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์แต่ละคน”
ศจ. มาร์ติน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่เขียนถ่ายทอดความรู้ไว้ในหนังสือ Children’s Picturebooks: The Art of Visual Storytelling และ หนังสือ The Illustrated Dust Jacket: 1920-1970 แถมยังได้ออกแบบหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านภาพประกอบสำหรับเด็ก หรือ Children's Book Illustration ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหลักสูตรชั้นนำระดับโลก ทั้งยังเป็นคณะกรรมการตัดสินหนังสือภาพสำหรับเด็กในระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้งงาน Bologna Children's Book Fair และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Klaus Flugge Prize รางวัลที่มอบให้กับผู้สร้างสรรค์หนังสือนิทานเด็กหน้าใหม่ในวงการ
“ในทุกๆ ปี รางวัลหนังสือภาพสำหรับเด็ก Klaus Flugge Prize จะมีการประชุมในงานลอนดอนบุ๊กแฟร์ สิ่งที่ทุกคนเห็นชัดเจนคือ นิทานภาพในปัจจุบันกำลังเต็มไปด้วยประเด็นที่จริงจัง”
ศจ.มาร์ตินยกตัวอย่าง Dear Earth นิทานภาพเขียนโดย Isabel Otter และวาดภาพประกอบโดย Clara Anganuzzi ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพื้นเพของคลาร่า ที่เคยใช้ชีวิตในประเทศแถบหมู่เกาะ จึงมีความผูกพันกับมหาสมุทร
โดยเนื้อหาคร่าวๆ ใน Dear Earth บอกเล่าว่าโลกของเราพิเศษเพียงใด และเน้นสร้างความรับผิดชอบของเราในการดูแลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสนับสนุนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้
“ในฐานะที่ทำงานในสายการศึกษา พบว่าหลายคนมองว่าการเรียนเรื่องนิทานภาพมีคุณค่าด้อยกว่าการเรียนรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ นิทานภาพสำคัญมากกับเด็ก ที่จะได้รับการสื่อสารหรือข้อมูลในประเด็นที่จริงจัง ผ่านหนังสือภาพ ในแบบที่สวยงามละเอียดลออ คล้ายบทกวี เราน่าจะหวังได้ว่า เด็กๆ จะเป็นคนในรุ่นต่อไป ที่จะลุกขึ้นรับหน้าที่อะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขในสิ่งที่รุ่นของพวกเราทำเอาไว้”
ศจ.มาร์ตินยกตัวอย่างต่อไปถึงหนังสือ Julian is a Mermaid เขียนโดย Jessica Love ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2019 เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่มีด้านในแบบที่เป็นผู้หญิง และหนังสือเล่มนี้พยายามสื่อสารให้คนกล้าแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมา เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญ
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ The King Who Banned the Dark เขียนโดย Emily Haworth-Booth เป็นอีกหนึ่งหนังสือภาพที่บอกเล่าเรื่องซีเรียสในสังคม แฝงไปด้วยแง่มุมเชิงการเมือง สะท้อนผ่านภาพประกอบอันสวยงาม นอกจากนี้นักเขียนคนเดียวกันก็ยังมีผลงานชิ้นที่สอง The Last Tree ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์มาพร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนและความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
สำหรับ The Extraordinary Gardener หนังสือ shortlists จากเวที KLAUS FLUGGE 2019 บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ค่อนข้างธรรมดา โลกของเขาค่อนข้างเป็นสีเทา และวันหนึ่งเขาก็ได้ตัดสินใจปลูกเมล็ดพันธุ์บนระเบียงของเขา ซึ่งศจ. มาร์ติน อธิบายเพิ่มเติมว่า นี่อาจเป็นหนังสือเชิงสิ่งแวดล้อมก็ได้ หรือการเพาะเมล็ดในเรื่องนี้ก็อาจหมายถึงการบ่มเพาะจินตนาการก็ได้
“หนังสือภาพมีมิติที่ลึก เล่าเรื่องราวได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวของเด็กๆ สิ่งที่สื่อสารผ่านหนังสือภาพบางครั้งดูเหมือนน้อยและเรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่สื่อออกมากลับมหาศาล เพราะทุกการสื่อสารทั้งคำและภาพต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาอยู่ตลอดกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หนังสือภาพถ่ายทอดความเป็นจริงของโลก ในรูปแบบบทกวี บอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ของตัวละคร ส่งต่อให้เด็กทำความเข้าใจโลกในแบบของตัวเอง”
สุดท้าย ศจ. มาร์ติน ได้พูดถึงประเด็นการสื่อสารเรื่องปัญหาของสังคมโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ กับเด็กๆ ว่าการใส่ความจริงหรือความรุนแรงของปัญหาในหนังสือภาพขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ว่าควรใส่ประมาณไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใส่ความจริงที่อยากสื่อสาร เราไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่ความรุนแรง แต่ควรบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ประสบการณ์ หรือมุมมองที่เด็กๆ จะรับรู้ต่อเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไรมากกว่า