จากยุค 'ดิสรับ' สู่ยุค 'โควิค-19' รอดได้...ต้องปรับให้เร็ว

จากยุค 'ดิสรับ' สู่ยุค 'โควิค-19' รอดได้...ต้องปรับให้เร็ว

โควิด-19 เป็นแรงผลักให้ธุรกิจต้องปรับตัว หลายคนมองว่าเป็นวิกฤติ แต่ในทางกลับกัน “นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มรพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช กลับมองว่าคือโอกาสในการเร่งพัฒนา ปรับตัวในขณะที่ธุรกิจยังแข็งแรง

แม้หลายคนจะมองว่าธุรกิจด้าน Health Care อย่างไรก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะตลอดชั่วชีวิตคนยังต้องการความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข แต่ความจริงแล้ว ธุรกิจด้าน Health Care ถูกดิสรัปเรื่อยมาตั้งแต่อดีต จากเดิมที่มีหมอพระ ยุคสมัยปรับสู่คลินิก สู่โรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลเครือข่าย โรงพยาบาลเฉพาะทาง พอมี Fintech ก็มี Health Tech มี Telemedicine และหากในอนาคต 5G ถูกนำมาใช้อย่างสมบูรณ์ หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แพทย์สามารถผ่าตัดผ่านการควบคุมหุ่นยนต์ได้  ทั้งหมด คือการดิสรัปชั่นที่ค่อยๆ คืบคลานตามการพัฒนาของยุคสมัยและเทคโนโลยี

“นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” กล่าวในงานสัมมนาหลักสูตร Digital Transformation For CEO #2 ในหัวข้อ “Hospital Digitalization: เทคโนโลยียุคดิจิทัล ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโซ แบงคอก ว่า Disruption ที่แท้จริง ก็คือ Construction ขณะที่เรายังดำเนินธุรกิจในวิธีเดิมๆ พอโควิด-19 มา ทำให้หลายคนปรับไม่ทัน ดังนั้น การที่จะปรับตัวต้องทำตอนที่แข็งแรงที่สุด ทั้งนี้ การ Transform หลายคนทำทันที พังทันที เพราะไม่ได้ปรับภายใน ทำตาม Fashion ไม่ได้ทำตาม Passion คือ ความอยาก ความปรารถนา หากไม่ปรับภายใน ไม่จัดระเบียบสังคม ไม่มีทางสำเร็จ ดังนั้น “ต้องปรับให้องค์กรแข็งแรง” ต้องดูทั้งระบบการคิดให้เท่าทัน เรียงลำดับอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ จัดระเบียบงานใหม่

ถัดจากนั้น คือ “เงิน” เหมือนการขับรถ ต้องมองกระจกข้าง กระจกหน้า และเนวิเกเตอร์ เพื่อให้เท่าทันอนาคต ไม่ใช่มองแค่กระจกหลัง คือ อดีต อย่าตั้งเงินเป็นก้อนๆ แต่ละไตรมาส แต่ต้องหมุนเวียนงบประมาณให้เปลี่ยนไปตามสภาพที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริงของโลก

“ระบบคิด” ต้องเปลี่ยนใหม่ไม่ใช่แค่ผู้บริหารคิดอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้เด็กใหม่คิดด้วย เป็นการสร้างความกดดันให้ผู้บริหาร ต้องใช้ Data , Machine Learning และใช้ AI เข้ามาช่วยหากเป็นไปได้ ถัดมา คือ “ระบบคน” ต้องดูลูกน้องให้ออก ว่าคนไหนเก่ง และต้องดูแลใคร ตำแหน่งระดับไหน อย่างไร

159853683296

สำหรับ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซึ่งมีพนักงานกว่า 5,000 คน จากการสำรวจพบว่ามีพนักงานราว 20% ที่พร้อมเปลี่ยน ดังนั้น กลุ่มนี้จึงถูกดึงมาทำอยู่ในส่วนของ Innovation Team ส่วนคนที่ไม่เปลี่ยนอีก 80% ให้ทำเซอร์วิส แต่อัพสกีล สร้างคุณค่าในการทำงาน ด้วยการแนะนำ ให้ความรู้แก่ผู้รับบริการ สามารถดูแลสุขภาพตนเองก่อนจะป่วย สร้างความประทับใจ และกลายโรงพยาบลจะกลายเป็นตัวเลือกแรกที่นึกถึงเวลาไม่สบาย ตามเป้าหมาย คือ ต้องเป็นองค์กรแห่งการสร้างคุณค่า เป็น Man of value ไม่ใช่ Man of Success

นพ.ชัยรัตน์ อธิบายต่อไปว่า ทั้งหมด คือ “Agile” ตอนนี้คนเปลี่ยนก็สอนคนไม่เปลี่ยน และคนไม่เปลี่ยนก็สอนคนที่เปลี่ยน ทุกอย่างต้องคู่กันหมด ออนไลน์ก็ต้องคู่กับออฟไลน์ มี Hi Tech และมี Hi Touch เหมือนหยินหยาง ทุกอย่างมีขาวกับดำ ผสมกลมกลืนกัน ต้องอยู่ร่วมกัน เดี๋ยวคนที่ไม่เปลี่ยนก็เริ่มเปลี่ยนเอง หากปรับวิธีคิดได้ จะสามารถปรับเงิน ปรับคน ซึ่งผมใช้เวลากว่า 3 ปี ในการปรับคน

“พอปรับภายในเสร็จ ต้องรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร “มองนอก มองใน และผสานเป็นหนึ่งเดียว” ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนในอนาคต การที่ลูกค้าเปลี่ยน เพราะมือถือ ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยน ต้องเท่าทันปัจจุบันตลอดเวลา”

ทั้งนี้ เมื่อโควิด-19 นำไปสู่ยุค New Norm นพ.ชัยรัตน์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ มองว่าในวิกฤติมีโอกาสเสมอ โดยใช้สูตร 4 ป้อง 1 ฉวย” ได้แก่ คือ ป้องคน (พนักงาน) ป้องครอบครัว (องค์กร) ป้องเงิน ป้องงาน และค่อย 1 ฉวย

159853684328

นพ.ชัยรัตน์ อธิบายว่า หากเรายกการ์ดสูงอย่างเดียวโดยไม่แย้บจะรอดได้อย่างไร แต่หากแย้บอย่างเดียวโดยไม่รุกจะชนะได้อย่างไร ดังนั้น ต้องบุก ต้องรุก และรับ สำหรับ “ป้องคน” ต้องเรียนรู้ว่าความปลอดภัยของชีวิตสำคัญที่สุด เราเห็นว่าแพทย์ผู้หญิง ที่มีลูก มีพ่อแม่ ไม่สามารถเข้าใกล้ครอบครัวได้ในช่วงโควิด-19 โอกาสที่เราทำ คือ สร้างดิจิทัล เทคโนโลยีฝ่าวิกฤติ นำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงพยาบาลส่งของ ส่งอาหาร รวมถึงมี Tytocare เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจสุขภาพทางไกล สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่าย เป็นช่วงที่สร้างคุณค่า

รวมถึง Samitivet Engage Care ตรวจผู้สูงอายุตั้งแต่อยู่ที่บ้าน เช่น ตรวจเบาหวาน มีกราฟให้ดูทุกวัน สามารถคุยกับหมอได้ 24 ชั่วโมง และ Samitivej Prompt เยี่ยมไข้ผ่านมือถือ ติดตาม ตัดเงินผ่านบัญชี มีข้อมูลว่าแพทย์ที่ดูแล ทุกอย่างควบคุมด้วยเทคโนโลยี

“โควิด-19 เป็นการสร้างโอกาส เพราะโควิดทำให้เราคิดสิ่งเหล่านี้ได้ หากไม่มีโจทย์ดีๆ จะมีแผนดีๆ และมีของดีๆ ได้อย่างไร ปัญหาทำให้เกิดปัญญา และปัญญา ทำให้เกิด ปันผล”

ถัดมา คือ “ป้องครอบครัว” สิ่งที่เรียนรู้ คือ Cut Cost อย่า Cut Future หากเรามีแพทย์ที่เก่ง แต่ไปตัดเงินเดือนเขา สักหน่อยเขาก็ไป ดังนั้น โอกาส ในช่วงวิกฤต คือช่วงสร้างคุณค่าทางใจ มากกว่าสร้างบาดแผลทางใจ สำหรับ “ป้องเงิน” ต้องเรียนรู้ หากรายได้ลด ต้องลดต้นทุนให้มากกว่า และกำไรเกิดจากการสร้างคุณค่า มีดีมานด์เท่าไหร่ ซัพพลายต้องบาลานซ์ให้ดี ต้องหมุนเวียนคนในการทำงาน โอกาส ที่เกิดขึ้น คือ รู้จักการทำ Agility เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ป้องงาน” สำคัญมาก ต้องเรียนรู้ ว่าทุกอย่างต่อรองได้ เพื่อให้คุมต้นทุนได้ หากคุมต้นทุนได้ ปีหน้ารายได้ลดลง คุณก็ต้องอยู่ได้และมีกำไร เพราะ “โควิดทำให้เกิดโอกาส”

สุดท้าย “ฉวย” สิ่งที่เรียนรู้ คือ โควิด-19 เป็นตัวช่วยให้เราฉวย ทำให้เราเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เพราะเรียนรู้ โอกาสที่เกิดขึ้น คือ เปลี่ยนสิ่งที่เราทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ เปลี่ยนคน เป็นกลุ่มคน เชื่อมโยงกันหมด ทั้งภายนอกและภายใน เปลี่ยนเงินเป็นงาน สร้างงานที่ได้เงิน เช่น เราทำ Home Care ให้คนที่อยู่ขับรถที่ว่างไปส่งยาให้ผู้ป่วย ทำให้ยังเกิดการจ้างงานอยู่ พร้อมกับ ทำงานร่วมกับโรงแรมที่เป็น Quarantine ช่วยดูแลมาตรฐานตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข

“ฉวย ดีที่สุด คือ ต้องรู้ว่าโควิด-19 ทำให้ลูกค้าเราเปลี่ยน ต้องวัดอารมณ์เขา ไม่ใช่วัดอุณหภูมิ ในช่วงโควิด-19 คนไข้ต้องการอะไร เขาไม่อยากมาโรงพยาบาล ก็ลดการมาโรงพยาบาล โดยมีบริการ Samitivej Virtual Hospital , Tytocare คนไม่อยากป่วย ก็มีบริการ Divine , THS Digital THS , Early care , Self Care คนไม่อยากรอ ก็มีบริการ Samitivej Plus คนไม่อยากติดเชื้อ มีบริการ Engage Care , Samitivej Prompt และ คนไม่อยากห่วง เราก็มี Samitivej Pace

“ยกตัวอย่าง สมิติเวช เดิมทีเป็นรพ.เซอร์วิสดีเข้าไปแล้วอบอุ่น แต่วัยรุ่นไม่ชอบ จำใจพาแม่ไปเพราะล้าสมัย แต่พอเราเริ่มเปลี่ยน มีบริการต่างๆ เหล่านี้ วัยรุ่นเข้ามาเยอะ เกิดการบอกต่อเพราะมีของใหม่ มีการอัพเดทตลอดเวลา ดังนั้น พอเขาป่วยเขาจะคิดถึงสมิติเวช ในความเสี่ยงมีโอกาส คนมองโลกในแง่ร้ายจะเห็นอุปสรรคในทุกโอกาส แต่คนที่มองโลกในแง่ดี จะเห็นโอกาสในทุกอุปสรรค” นพ.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

159853684193