Hack the Crisis โมเดลแก้วิกฤติแบบคนรุ่นใหม่
ทำความรู้จัก การระดมสมองผ่านการทำ "แฮกกาธอน" (Hackathon) กระบวนการและโมเดลการจัดการใหม่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีการจัดระดมสมองขึ้น "Hack the Crisis" ที่ประเทศเอสโตเนีย และขยาย 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย แล้วโมเดลเหล่านี้มีการทำงานอย่างไร?
โลกปัจจุบันเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ความเสี่ยงต่างๆ มักมีความซับซ้อน ไม่แน่นอน และส่งผลกระทบในวงกว้างจนอาจถึงขั้นเป็นวิกฤติ ดังเช่นกรณีโควิด-19 ในอนาคตหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงหลายรูปแบบอีกจำนวนมาก (WEF, 2020) การบริหารจัดการวิกฤติ สิ่งสำคัญคือความรู้และความเร็ว ซึ่งโมเดลการจัดการแบบเดิมมีจุดอ่อนที่ความเชื่องช้าในการระดมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและรูปแบบการทำงานแบบลำดับขั้น อันเป็นโมเดลการทำงานแบบเก่าในยุคอุตสาหกรรม
ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กระบวนการและโมเดลการจัดการใหม่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ภาคธุรกิจและสตาร์ทอัพได้ปรับตัวให้มีการทำงานที่คล่องตัว (Business Agility) ก้าวข้ามความเป็นไซโล ลดขั้นตอนและร่วมระดมทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ภารกิจหลักขององค์กรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีเทคนิคใหม่เพื่อสร้างสรรค์ไอเดีย โมเดลธุรกิจ สินค้า บริการและวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมอีกมากมาย ตัวอย่างเทคนิคหนึ่งที่ใช้มากในปัจจุบันคือ การระดมสมองผ่านการทำแฮกกาธอน (Hackathon) ที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่คุ้นเคยกระบวนการนี้มากขึ้น
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการจัดแฮกกาธอนที่สำคัญขึ้นเรียกว่า “Hack the Crisis” ซึ่งเป็นความริเริ่มจากประเทศเอสโตเนีย โดย Accelerate Estonia กับ Garage48 ร่วมกันจัดงาน Hack the Crisis ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมพลังสร้างโซลูชั่นให้ประเทศต่อสู้กับโควิด-19 งาน Hack the Crisis ที่เอสโตเนียมีพลเมืองมากกว่า 1,300 คนเข้าร่วมแฮกในงานนี้ โดยมีทีมสร้างโครงการรวม 27 ทีมที่ช่วยกันสร้างโซลูชั่นและหลายโครงการได้นำไปสู่การดำเนินงานของรัฐบาล
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2020 เมื่อวิกฤติโควิด-19 เริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆ ประเทศเอสโตเนียเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเอสโตเนียจะมีรัฐบาลดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่การดำเนินการทางกายภาพจะหยุดชะงักลง
เมื่ออัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รมว.การค้าต่างประเทศและไอซีที คุณ Kaimar Karu ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อใช้วิกฤตินี้เพื่อสร้างสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น (“use this crisis to emerge stronger”) และเพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น เหล่าชุมชนเทคโนโลยีของประเทศได้เสนอการจัดเวทีแฮกกาธอนเสมือนจริงระดับชาติขึ้นเพื่อแก้วิกฤติครั้งนี้ ที่ชื่อว่า Hack the Crisis ซึ่งรัฐบาลยอมรับและช่วยสนับสนุนดำเนินการเพื่อทำให้งานเกิดขึ้นจริงในทันที
Accelerate Estonia ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการนวัตกรรมของภาครัฐ (Lab) ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการร่วมกันออกแบบและดำเนินโครงการนวัตกรรมได้ร่วมมือกับ Garage48 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรได้เริ่มต้นจัดงาน Hack the Crisis ที่จัดขึ้นแบบแฮกกาธอนแบบโลกเสมือนออนไลน์ (Virtual Hackathon) ได้ในเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล
Hackathon ครั้งนี้ใช้เวลาแก้ไขปัญหา 48 ชั่วโมงแบบต่อเนื่องแบบไม่หลับไม่นอน โดยหลังจากการเปิดตัวในเวลา 14.30 น. ความคืบหน้าได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 18.00 น. เหล่าผู้เชี่ยวชาญและประชาชนกว่า 650 คนได้สร้าง 80 ไอเดียสำหรับมาพัฒนาต่อ ในเย็นวันนั้นทีมงานกว่า 30 ทีมได้เริ่มทำงานเพื่อออกแบบแนวคิดให้ชัดเจนขึ้น ในตอนท้ายของงานแฮกกาธอนมีการเสนอแนวคิด 96 ไอเดีย และมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,000 คนจากกว่า 20 ประเทศ
ในงานนี้รัฐบาลมอบรางวัลเงินสดจำนวน 5,000 ยูโร สำหรับแนวคิดที่ชนะ 5 อันดับแรก เพื่อช่วยทีมพัฒนาแนวคิดต่อ รวมถึงสนับสนุนพื้นที่ทำงานร่วมกันและจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น ในตอนท้ายของกิจกรรมมี 27 ทีมที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อพัฒนาแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ โดยมี 8 แนวคิดที่ปัจจุบันได้นำไปใช้โดยรัฐบาล เช่น
โครงการ SUVE ซึ่งเป็นแชทบ็อตอัตโนมัติใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตอบคำถามจากประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สามารถให้คำตอบได้หลายภาษาและกลายเป็นแชทบ็อตที่ฝังตัวอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลหลายแห่ง
โครงการ Database for medically trained volunteers เพื่อช่วยโรงพยาบาลในการค้นหาและจัดการบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสมช่วยป้องกันการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข
โครงการ ShareForce One ที่ช่วงจับคู่พนักงานที่ตกงานในช่วงวิกฤติ เช่นพนักงานร้านอาหารและโรงภาพยนตร์ กับธุรกิจที่ต้องการพนักงานชั่วคราว ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
หลังความสำเร็จของ Hack the Crisis เอสโตเนียได้มีการจัดแฮกกาธอนแบบนี้อีกมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย และขยายไปสู่การเกิดขึ้นของ “แฮกกาธอนโลก” (Global Hack) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และบริษัทต่างๆ เช่น Facebook, Slack และ Zoom มีผู้ร่วมกว่า 12,000 คนจาก 98 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่กักตัวอยู่ในบ้าน
ตัวอย่างโครงการ เช่น SunCrafter ซึ่งเป็นผู้ชนะของ Global Hack ได้ระดมสมองพัฒนาจุดฆ่าเชื้อแบบไม่สัมผัสโดยใช้หลอด UV เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนมือมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยภายในเวลาไม่เกิน 20 วินาที และใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แล้ว หรือโครงการ Act on Crisis ซึ่งพัฒนาโดยทีมงานจาก 5 ประเทศ โซลูชั่นนี้ช่วยให้ผู้ที่กักตัวอยู่บ้านได้รับการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตผ่านวีดิโอคอลจากผู้เชี่ยวชาญ โดยจับคู่ตามความต้องการเฉพาะและภูมิหลังทางวัฒนธรรม
โมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ๆ แบบ Hack the Crisis เหล่านี้จึงช่วยดึงพลังทางปัญญาของคนในประเทศและทั่วโลก เพื่อสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์วิกฤติได้อย่างรวดเร็วและกำลังกลายเป็นกระแสหลักที่คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมสูงมาก