รร.นรต.สร้างเครื่องมือแก้อาชญากรรมโลกออนไลน์

รร.นรต.สร้างเครื่องมือแก้อาชญากรรมโลกออนไลน์

รร.นรต. ก้าวสู่องค์กรแห่งความรู้ พร้อมสนับสนุน ผลักดัน นำ “ผลงานวิจัย-นวัตกรรม-เทคโนโลยี” เครื่องมือพัฒนาประเทศ -ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชี้ตอบโจทย์ 3 เหตุการณ์ป่วน “อาชญากรรมโลกออนไลน์” เจอกับตัวแฮกเกอร์ทดสอบ ล้วงข้อมูล

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) จ.นครปฐม จัดประชุมวิชาการระดับชาติ สาขานิติวิทยาศาสตร์ กฏหมาย อาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่องานยุติธรรมล้ำสมัย” เพื่อเป็นเวทีระดับชาติสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ รวมถึงการพัฒนา และบูรณาการศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อพัฒนางานตำรวจอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น

เกิดมิติแห่งองค์ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์และกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ของอาชญากรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาทางวิชาการ จำนวน 23 เรื่อง แบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ กลุ่มสาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จำนวน 10 เรื่อง กลุ่มสาขานิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 เรื่อง และกลุ่มสาขานิติศาสตร์ จำนวน 9 เรื่อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 400 คน

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า วันนี้ ยินดีที่กลับมาที่ รร.นรต.อีกครั้งหนึ่งในอีกบทบาทหนึ่ง โดยจะขอเล่าเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ คือ มีแฮกเกอร์เข้ามาทำลายระบบของ รพ.แห่งหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในเรื่องข้อมูลพื้นฐานได้ถูกทำลาย แต่ก็ยังดีที่ระบบการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด การดูแลรักษาผู้ป่วยร้ายแรงยังสามารถดำเนินการได้

เรื่องที่ 2 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศได้ไปติดตามจับกุมบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบในการปั่นยอดไลค์ ยอดวิว เช่น การปั่นยอดเพลง การขายเครื่องสำอางค์ โดยใช้พื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร ใช้โทรศัพท์ 1,000 กว่าเครื่อง ประกอบธุรกิจออนไลน์นี้ ดังนั้น จำนวนยอดไลค์ ยอดวิว ที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

เรื่องที่ 3 วันที่ 9 เดือน 9 ทั่วโลกจัดโปรโมชั่นเพื่อการค้าขาย โดยมีธนาคารหลายแห่งส่งข้อความมายังผู้ใช้บริการว่าหมายเลขบัตรเครดิตของท่านมีธุรกรรมที่ผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งบัตรเครดิตของผมเองก็โดนไป 4 ใบ ผมในฐานะผู้ปราบปรามหนี้นอกระบบ ยังถูกแฮกเกอร์ทดสอบ เพราะการเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายมากเพียงค้นหาข้อมูลจากชื่อ นามสกุลเท่านั้น นี่คือโลกที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมออนไลน์ที่เข้าถึงประชาชนทุกคน

“จาก 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเพียงพอต่อความสำคัญของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น การจัดประชุมวิชาการระดับชาติ สาขานิติวิทยาศาสตร์ กฏหมาย อาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ในวันนี้ จึงตอบโจทย์ปัญหาอาชญากรรมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี วันนี้ นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 ได้เรียนเนื้อหา หลักสูตรต่างๆ ซึ่งได้ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับอาชญากรรมดังที่กล่าวมานี้ แต่ก็เชื่อว่า 3 เหตุการณ์ที่เกิด หลักสูตรของ รร.นรต.ก็ยังก้าวไม่ทัน เนื่องจากอาชญากรรมในปัจจุบันจะเดินไปข้างหน้านำกระบวนการยุติธรรมไป 1 ก้าวเสมอ” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า ต้องขอบคุณคณะนิติวิทยาศาสตร์ รร.นรต.ที่ได้ริเริ่มเรื่องต่างๆ เหล่านี้ มาโดยตลอด ได้เห็นการเจริญเติบโต ซึ่งเชื่อว่ามาตรการขับเคลื่อนหรือการจุดประกายเป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่นายกสภาการศึกษา รร.นรต.ผู้บัญชาการ รร.นรต. ได้วางรากฐานไว้เริ่มเห็นเป็นรูปร่าง โดยพื้นที่ด้านหลังของ รร. นรต. กว่า 300 ไร่ ในระยะเวลาไม่เกิน 5 เดือน จะสามารถเปิดเป็นแหล่งรองรับสถาบันบังคับใช้ทางกฎหมาย

ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน โดยจะสร้างเป็นเมืองจำลองที่มีภูมิประเทศทั้งความเป็นชุมชนเมือง ชนบท มีห้างสรรพสินค้า ปั้มน้ำมัน อื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รร.นรต.จะไม่ได้เป็นสถาบันที่ผลิตตำรวจออกไปรับใช้ประชาชนเท่านั้น แต่จะเป็นสถาบันที่สร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ให้สามารถดูแลประเทศไทยต่อไป

ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา คณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีระดับชาติทางวิชาการสำหรับเผยแพร่ผลงานวิจัย บทความทางวิชาการและวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย ระดับอุดมศึกษาภายในและภายนอกสถานศึกษา รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์และการบริหารงานยุติธรรม ระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2560-2564) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในระดับชาติ สำหรับการก้าวสู่การพัฒนาทางวิชาการที่ล้ำสมัยทางด้านนิติวิทยาศาสตร์กฎหมายและการบริหารงานยุติธรรม

ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัย สู่สังคมในระดับสากล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

การจัดเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการในครั้งนี้ มีบทความดีเด่น ที่ได้รับรางวัล 3 เรื่อง ได้แก่ 1.กลุ่มสาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม เรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมทางกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ และฐานข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน

2.กลุ่มสาขานิติวิทยาศาสตร์ เรื่อง โปรแกรมวิเคราะห์อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน 3.กลุ่มสาขานิติศาสตร์ เรื่อง การลงโทษทางอาญาวิถีใหม่ในยุคโควิด- 19 นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ อีกจำนวน 20 เรื่อง อาทิ การพัฒนาการตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานจำพวกผ้า

การปรากฏขึ้นของลายนิ้วมือแฝงบนกระดาษเอกสาร 80 แกรม ที่เปียกน้ำ ,แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บและรวบรวมพยานหลักฐานทาง อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ,แนวทางการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการด้านคนหาย คนนิรนามและศพนิรนาม พ.ศ. 2562 – 2565,เทคนิคการซักถามของ F.B.I. (Federal Bureau of Investigation) ,กระบวนการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก: กรณีศึกษาสื่อลามกเด็ก เป็นต้น