ต่างวัยเข้าใจกัน ผ่านหนังสือสองเล่มที่ทำให้รู้จัก ‘สังคมสูงวัย’ มากขึ้น

ต่างวัยเข้าใจกัน ผ่านหนังสือสองเล่มที่ทำให้รู้จัก ‘สังคมสูงวัย’ มากขึ้น

ทำความรู้จักกับ 'สังคมผู้สูงอายุ' อย่างถ่องแท้ กับหนังสือสองเล่มที่เปิดทุกแง่มุมควรรู้ของสังคมสูงวัยที่กำลังกลายเป็นสังคมหลักของประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับคนหนุ่มสาวหรือเพิ่งเข้าสู่วัยกลางคน คำว่า "สังคมผู้สูงอายุ" ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว กระทั่งกับคนที่อายุเลยวัย 60 ปีมาแล้วก็อาจคิดถึงเรื่องความเป็นอยู่ในแต่ละวันโดยไม่ทันสังเกตว่ามักพบเห็นคนวัยเดียวกันได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน จริงๆ เราทุกคนต่างใช้ชีวิตในสังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว และประเทศไทยก็กำลังก้าวสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" เต็มรูปแบบ (Aged Society) ใน พ.ศ. 2564 นี้ หมายความว่าประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปีหน้านั่นเอง

หากคำนวณเป็นตัวเลขแล้วนึกภาพไม่ออก ลองหมั่นสังเกตผู้คนในสถานที่ต่างๆ เช่น เมื่อไปจ่ายตลาดอาจเห็นลูกๆ ช่วยพยุงคุณแม่ที่อายุมากแล้วในขณะที่เลือกซื้ออาหารบ่อยขึ้น ในระหว่างขับรถกลับจากที่ทำงานก็อาจเห็นคุณลุงสูงวัยกำลังก้าวข้ามถนนทีละนิดๆ หรือง่ายกว่านั้น ครอบครัวของใครหลายคนอาจมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอาศัยอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อลองสังเกตดีๆ ก็จะพบว่ารอบตัวเรามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่น่าเสียดายที่ความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุอาจไม่ได้ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ให้เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในสังคมไทย จึงส่งผลให้คนทั่วไปยังขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาน้อยใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เช่น เหตุทะเลาะเบาะแว้งเพราะความฉุนเฉียวของผู้สูงวัย หรืออุบัติเหตุบนท้องถนนที่ดูเหมือนเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้สูงอายุเอง นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้หลายครอบครัวต้องเสียเงินเสียทองต่อเนื่องโดยไม่รู้ว่าเมื่อไรอาการป่วยของคนที่เราเคารพรักจะทุเลาลง

159978302241

วันนี้เรามีแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและเป็นประโยชน์มาแนะนำ เพื่อแบ่งปันความรู้ให้ผู้อ่านได้ศึกษาเป็นแนวทาง และเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองในสังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ นั่นก็คือ หนังสือ คู่มือผู้สูงวัย และ สมองเสื่อม รับมือไหว เข้าใจผู้ป่วย ทั้ง 2 เล่มเป็นผลงานของ นายแพทย์ฮิระมะสึ รุอิ จักษุแพทย์ผู้ทำงานคลุกคลีกับผู้สูงอายุมากว่า 100,000 คนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นสมาชิกสมาคมผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่วิจัยค้นคว้าหาวิธีที่ทำให้สังคมและสภาพแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจ ‘สาเหตุของความชรา’ รับรู้ที่มาของปัญหาอย่างถูกต้องเพื่อรับมือ บรรเทา หรือป้องกันอย่างเหมาะสม

ในหนังสือทั้ง 2 เล่มจะไขปัญหาให้แก่ผู้อ่านหลายๆ คนว่า “แท้จริงแล้วปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบ หรือปัญหาที่ผู้สูงอายุก่อขึ้น เกิดจากอะไรได้บ้าง” โดยความรุนแรงของปัญหามักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางปัญหามีสาเหตุจากความเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ ซึ่งคุณหมอฮิระมะสึได้อธิบายอย่างครอบคลุมไว้ภายในเล่ม ‘คู่มือผู้สูงอายุ’ ขณะที่บางปัญหาอาจรุนแรงมากเพราะนอกจากร่างกายที่ทรุดโทรมแล้วยังมีภาวะสมองเสื่อมเป็นปัจจัยเสริม คุณหมอจึงอธิบายเจาะลึกไว้หนังสือ สมองเสื่อม รับมือไหว เข้าใจผู้ป่วย

159978302259

เนื้อหาใน ‘คู่มือผู้สูงอายุ’ จะอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ก่อนเชื่อมโยงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้สูงอายุและใกล้ชิดอย่างไร เช่น เรื่องปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน คุณหมอได้เล่าประสบการณ์ของคนที่พบเจอปัญหาจริงๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าคนทั่วไปมักกล่าวโทษหรือมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุอย่างไรมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ก่อนที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านั้นโดยอธิบายว่า การใช้รถใช้ถนนหรือการข้ามถนนให้ปลอดต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรถที่แล่นมาจาก 2 ฝั่ง สัญญาณไฟจราจร และความกว้างของถนน เมื่อคนเราแก่ตัวลงร่างกายก็มีข้อจำกัดมากขึ้น ภาวะหนังตาตกทำให้มองสัญญาณไฟซึ่งอยู่บนเสาสูงไม่เห็น มวลกระดูกที่ลดลงทำให้อาการหลังค่อมรุนแรงขึ้น ทำให้แหงนขึ้นมองสัญญาณไฟลำบาก หรือหากมีภาวะสมองเสื่อม อาจประเมินสถานการณ์ไม่ได้ว่ารถที่แล่นเข้ามานั้นเป็นอันตราย

ส่วนเล่ม ‘สมองเสื่อม รับมือไหว เข้าใจผู้ป่วย’ จะช่วยขยายภาพให้เราเข้าใจว่า “ภาวะสมองเสื่อมสัมพันธ์กับความเสื่อมโทรมของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายอย่างลึกซึ้งแค่ไหน” ทั้งในแง่ที่ภาวะสมองเสื่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ แย่ลง และในแง่ที่ความผิดปกติของระบบอวัยวะในร่างกายมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อม ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้ประสาทสัมผัสผิดเพี้ยนและรับรู้อุณหภูมิสูงได้ไม่ดีเหมือนคนหนุ่มสาว เป็นเหตุให้มีบาดแผลถูกภาชนะร้อนๆ หรือน้ำเดือดลวกโดยไม่รู้สึกตัวระหว่างที่ทำอาหาร กว่าจะรู้ก็ตอนเป็นแผลพุพองแล้ว ปัญหานี้มักทำให้บุตรหลานเป็นห่วงและสั่งห้ามไม่ให้ผู้สูงอายุทำอาหารหรือใช้ไฟ ซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีแก้ไขที่ดี แต่ในความเป็นจริงกลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะแม้จะป้องกันไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ แต่วิถีชีวิตของผู้สูงอายุต้องเปลี่ยนไปด้วย สมองจึงได้รับการกระตุ้นจากการทำกิจวัตรประจำวันน้อยลง ทำให้ภาวะเสื่อมทรุดเร็วขึ้น

หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ไม่ว่าจะหยิบเล่มใดขึ้นมาก่อน ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่จะได้รับแน่นอนก็คือ “ความเข้าใจต่อมุมมองและวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ” อย่างทะลุปรุโปร่ง ถือเป็นรากอันแข็งแกร่งให้ความเห็นอกเห็นใจได้ผลิบานในตัวเราทุกคน ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อของการเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ การรู้จัก ‘ความชรา’ อย่างถ่องแท้ย่อมช่วยให้ดูแลร่างกายของตนได้ดีขึ้นเมื่อแก่ตัวลง ทั้งยังช่วยให้ดูแลคนรอบข้างที่เรารักได้อย่างเหมาะสมและร่วมกันสร้างสังคมที่คนทุกวัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้อีกด้วย