เปิดใจกรรมการ ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17’ เคี่ยวทุกเล่ม คัดทุกหน้า สู่ผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว!
ปีนี้เคี่ยวกันแบบสุดๆ ไม่แพ้ปีอื่นๆ สำหรับ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ในแต่ละประเภท ประชุมกลั่นกรองกันไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง จนได้ผู้ชนะแต่ละรางวัลมา
หลังจากฝ่าด่านการคัดกรองจากคณะกรรมการ มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน จากเรื่อง ลูกไม้กลายพันธุ์ โดย จันทรา รัศมีทอง สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ คือ เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน โดย กิตติ อัมพรมหา นอกจากนี้ยังคัดสรรจนมีเพียง 25 รางวัล จาก 256 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด
นิวัฒน์ ธาราพรรค์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทการ์ตูน เปิดเผยถึงความเคี่ยวข้นว่า ปีนี้มีหนังสือการ์ตูนที่ส่งประกวด 47 เล่ม ซึ่งมีทั้งรุ่นใหม่และมือเก๋า อันที่จริงแล้วหลายผลงานของคนรุ่นใหม่มีฝีมือ มีแนวคิดที่แปลกใหม่ มุมมองในการนำเสนอทันสมัยมาก แต่น่าเสียดายว่าหลายๆ เรื่องมีข้อความและรูปภาพที่ไม่ค่อยเหมาะสมจึงคัดออกไป ที่น่าสนใจส่วนมากเป็นฝีมือของนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ กรรมการได้พิจารณาแล้วและคิดว่าแม้งานจะไม่แปลกใหม่จากสิ่งที่เขาเคยทำมากนัก แต่ก็มีคุณค่า มีทักษะ มีแนวคิดในระดับที่น่าชื่นชม ในปีนี้จึงไม่มีรางวัลชนะเลิศ มีรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เพียง 1 รางวัล ส่วนอันดับ 2 มี 2 รางวัล
“รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง JUICE : ARRIVALS โดย คุณ Art Jeeno สำนักพิมพ์แซลมอน มีลายเส้นที่ทันสมัยและการให้สีที่สวยงามมีมิติแสดงบรรยากาศของฉาก สถานที่ และเอกลักษณ์ตัวละครได้ดี องค์ประกอบภาพ การลำดับภาพสื่ออารมณ์และเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหลชวนติดตาม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง PRESENTS FROM THE PRESENT โดย คัจฉกุล แก้วเกต สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOKS) เป็นแนวสร้างเสริมกำลังใจ เน้นการอยู่กับปัจจุบัน เล่มนี้มีภาพลายเส้นที่ละเอียดมีสีสันสดใส ตัวละครหรือตัวการ์ตูนสวยงามมีเอกลักษณ์ ลำดับภาพและองค์ประกอบดูสบายตามีความทันสมัย ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการในการตีความ และเรื่อง Say hi until goodbye โดย Tum Ulit สำนักพิมพ์ Koob เป็นหนังสือการ์ตูนที่รวบรวมภาษาสั้นๆจากเพจ Tum Ulit เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าสนใจมาก การวาดภาพในลักษณะที่ทันสมัยเป็นสากล ตัวการ์ตูนมีลายเส้นเรียบง่ายสีสันสบายตามีชีวิตชีวา การจัดองค์ประกอบและลำดับภาพดี การ์ตูนมีความละเมียดละไมดูแล้วมีความอบอุ่น”
ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทนวนิยาย กล่าวถึงการตัดสินประเภทนวนิยายว่า จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 29 เล่ม ไม่มีเล่มไหนที่ได้รางวัลชนะเลิศ มีเพียงรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 2 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อีก 1 รางวัล เท่านั้น
“ไต้ก๋ง โดย ประชาคม ลุนาชัย จัดพิมพ์โดย สนพ. ดินแดนบุ๊ค ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เพราะผู้เขียนได้สร้างกิ่งให้มีชีวิตโลดแล่นไปตามบทบาทต่างๆ ของแต่ละช่วงวัยได้อย่างเข้มข้น ด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่าและแสดงความหมายของชีวิต ตลอดจนการดำเนินเรื่องอย่างสอดคล้องและภาษาวรรณศิลป์อันมีพลัง ส่งให้ทุกตัวละครแสดงอารมณ์ของปุถุชนอันมิอาจปฏิเสธได้และมีชีวิตชีวาดูราวกับเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าผู้อ่าน
รองชนะเลิศอันดับ 1 อีกรางวัล คือ เลือดข้นคนจาง โดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดย สนพ. มติชน หากเรื่องเล่าที่ดีคือเรื่องเล่าที่ทำให้เชื่อขณะอ่านและพาผู้อ่านไปถึงหน้าสุดท้าย นวนิยายเรื่องเลือดข้นคนจางถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดียิ่งไปกว่านั้น ภาษาอันทรงพลังที่สอดแทรกผ่านเหตุการณ์และเรื่องราวของตัวละคร ผู้อ่านกล้าฝันถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคใหม่ ยุคที่อคติและความเหลื่อมล้ำทางเพศถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 2 หนังสือ เรื่อง The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโดย เจนมานะ สำนักพิมพ์บัน (BUNBOOK) หรือนักร้องดัง คุณแม็กซ์ เจนมานะ ที่หลายๆ ท่านอาจรู้จักกัน นำเสนอเรื่องราวแบบแฟนตาซี ซึ่งมีเรื่องมหัศจรรย์และเหนือความจริง เล่าเรื่องด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวยเห็นภาพ ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวโลดแล่นไปกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์”
ขณะที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทกวีนิพนธ์ เปิดเผยว่า กรรมการได้เคี่ยวจาก 42 ผลงาน จนเหลือ 9 เล่มที่ผ่านการเข้ารอบสุดท้าย และมี 4 เล่มที่คว้ารางวัลไปครอง โดยไม่มีรางวัลชนะเลิศ เพราะรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 รางวัลได้แก่ สองฝั่งแม่น้ำเก่า โดย ลอง จ้องรวี และ Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัลเช่นกัน ได้แก่ เรื่อง ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป โดย สุธีร์ พุ่มกุมาร และเรื่อง บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน โดย นิตา มาศิริ
“สองฝั่งแม่น้ำเก่า โดย ลอง จ้องรวี นั้น ผู้เขียนนำเสนอความทรงจำชีวิตเมื่อวัยเยาว์ที่มีความสุขในชนบทบ้านเกิดในวิถีชีวิตที่เรียนง่ายและความรักจากครอบครัวที่หล่อหลอมให้รักและตระหนักในคุณค่าของแผ่นดินบ้านเกิด ในด้านศิลปะการประพันธ์นั้นผู้ประพันธ์ใช้กลอนแปดด้วยลีลาและภาษาที่เรียบง่ายในการสื่อความสร้างจินตนาการและอารมณ์บางบทยังใช้ความเปรียบที่มีลักษณะเฉพาะ
ส่วน Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย เขียนเป็นกลอนแปดโดยวิธีการร้อยสัมผัสต่อเนื่องกันตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย เสนอประเด็นการเปรียบเทียบสังคมออนไลน์ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนร่วมสมัยกับวิถีไทยในอดีต ผู้ประพันธ์มีความสามารถในการใช้ภาษาประกอบสร้างเป็นบทกวีที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่งดงาม มีลูกเล่นทางความคิดที่สอดร้อยเข้ามาในเนื้อหาอย่างมีจังหวะจะโคน ทำให้เกิดความคมคายในเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีร้อยสัมผัสระหว่างบทตลอดเล่มนั้น แม้จะทำให้ผู้เขียนได้แสดงฝีมือในเชิงร้อยกรองขนาดใหญ่ แต่วิธีดังกล่าวอาจสร้างข้อจำกัดให้ผู้เขียนไม่สามารถถ่ายทอดความคิดความรู้สึกอันเข้มข้นผ่านเนื้อความได้อย่างราบรื่นได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเช่นกัน
ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป โดย สุธีร์ พุ่มกุมาร มีเนื้อหาและรูปแบบเหมาะสมกลมกลืนกระชับรัดกุมมีสาระในด้านความรู้ความคิดชัดเจน ใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้ถ้อยคำถูกต้องตามหลักภาษาไทยทั้งในด้านการสะกดคำและการสื่อความหมาย มีความเหมาะสมกับเนื้อหาใช้คำให้อารมณ์และความรู้สึก มีความสมบูรณ์
ขณะที่ บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน โดย นิตา มาศิริ โดดเด่นที่เนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึกซึ่งแสดงออกถึงความรักความผูกพันธ์รำลึกถึงคืนวันเก่าๆ ของอดีตในวัยเด็กตลอดจนเรื่องราวในปัจจุบัน เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารอาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่โดยภาพรวมถือเป็นหนังสือที่มีพลังกวีมีภาษาง่ายๆ แต่งดงาม”
นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทรวมเรื่องสั้น เปิดเผยว่า ในปีนี้นั้นผู้เข้าประกวดมีทั้งนักเขียนที่มีชื่อ นักเขียนใหม่ หลากหลายแนว จากการคัดสรรค์กลั่นกรองใช้เวลา 9 ครั้งด้วยกัน จนในที่สุดเราได้ผลรางวัลโดยรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 2 เล่ม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 1 รางวัล แต่ไม่มีผลงานใดที่ได้รางวัลชนะเลิศ
“รองชนะเลิศอันดับ 1 ทั้ง 2 เล่ม คือ เรื่องราวในวันหนึ่งกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่นๆ โดย กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหา อารมณ์ความรู้สึกของคนที่ต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างลุ่มลึกและมีพลัง ใช้กลวิธีเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา มีรายละเอียดที่สมจริง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและมีอารมณ์ร่วม
เรื่อง 24 ชั่วโมง โดย แพรพลอย วนัช ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชิวิตและสัมพันธภาพของคนในสังคมซึ่งดำเนินไปในแต่ละวัน ผ่านเรื่องราวของตัวละครหลากหลายสถานะหลากหลายแง่มุม ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ชั้นเชิงในการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ มีการใช้สัญลักษณ์ที่แปลกใหม่ ใช้ภาษาเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาติ
ด้านรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรื่องไร้สัญชาติและตัวละครอื่นๆ โดย บัญชา อ่อนดี สะท้อนความเข้าใจชีวิตผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของคนในสังคม คนกับความคิด และคนกับสิ่งแวดล้อม ด้วยลีลาการเขียนที่แยบยลซับซ้อนและใช้ภาษาที่สอดคล้องกับเรื่องราวให้ความรู้สึกประทับใจ”
ด้าน ศ.กีรติ บุญเจือ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทสารคดี เปิดเผยว่า ปีนี้มีผู้ส่งผลงานสารคดีเข้าประกวดถึง 77 เล่ม และโดยภาพรวมถือว่ามีคุณภาพงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีรางวัลชนะเลิศ มีเพียงรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 อยู่ 1 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อยู่ 2 รางวัลเท่านั้น
“หญิงร้าย โดย วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ แสดงถึงประวัติศาสตร์ สังคมของผู้หญิงไทยทั้งสตรีชนชั้นสูงและสามัญชนที่ถูกกดทับ จำกัด ปิดบังอยู่ใต้วัฒนธรรมที่มีชายเป็นใหญ่มายาวนาน ตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 ข้อมูลที่หนักแน่นสามารถนำเสนอให้ผู้อ่านเพลิดเพลินเห็นภาพชัดเจน ราวกับได้อ่านนวนิยายประวัติศาสตร์ นับเป็นอีกวิธีการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจรายงานวิชาการ แต่นักเขียนยังสามารถปรับปรุงวิธีการวางโครงเรื่องและลีลาการเขียนให้ราบรื่นกว่านี้
รองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่องแรกได้แก่ เรื่อง มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด โดย บุหลัน รันตี ซึ่งแสดงการสำรวจทางมนุษย์วิทยาได้อย่างนักวิชาการ นำเสนออย่างสารคดี เป็นสารคดีสัญจรที่ไปค้นหาคุณค่าของคนชาติพันธ์ที่ถูกหลงลืมและถูกมองว่าเป็นผู้ล้าหลัง อ่อนด้อยทางวัฒนธรรม แต่ทั้งที่จริงแล้วมันนิซาไกเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ผู้เขียนศึกษา ค้นคว้า หาความเป็นจริงถ่ายทอดความคิด ความเชื่อวัฒนธรรมดั้งเดิมออกมาให้สังคมคนเมืองรับรู้ได้อย่างน่าติดตาม สร้างความสะเทือนใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจไปพร้อมกัน
อีกหนึ่งเล่มที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เรื่อง My Chefs โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนเชื่อมโยงเรื่องราวอาหารไปสู่ความรู้ ทั้งเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงความทรงจำในวัยเยาว์ได้อย่างน่าสนใจ ให้สาระความรู้ความคิดความสำนึกต่ออาหาร ลึกลงไปถึงระดับวัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมการบริโภค ศิลปการประกอบอาหาร การเปลี่ยนแปลงของการประกอบอาหาร ด้วยลีลาการเรียบเรียงสละสลวยงดงามราวกับงานวรรณกรรม”
ด้าน รศ.สุพรรณี วราทร ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเภทวรรรณกรรมสำหรับเยาวชน ซึ่งเป็นประเภทเดียวที่มีรางวัลชนะเลิศ คือ ลูกไม้กลายพันธุ์ โดย จันทรา รัศมีทอง สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 จาก 15 ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในประเภทนี้
“ลูกไม้กลายพันธุ์ ดำเนินเรื่องด้วยถ้อยคำภาษาและสำนวนที่สละสลวบ ผ่านมุมมองของตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงความคับแค้น ขมขื่น และกดดันจากครอบครัวที่ผลักไสเขาไป และเอาใจช่วยให้มุมานะ เอาชนะคำสบประมาทด้วยจิตสำนึกที่ใฝ่ดี
ในส่วน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ นั้น นำเสนอความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักเพื่อช่วยกันรักษาท้องทะเลให้สะอาดและปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ด้วยวิธีนำเสนอแนวสมจริง เรียบง่าย และชวนติดตาม ขณะที่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เรื่องเล่าของพลอยดาว โดย อัชฌาฐิณี ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ความสงบ มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน แม้บางครั้งจะมีความคิดที่แตกต่างกันบ้างก็ตามที”
เคี่ยวเข้ม เคี่ยวข้นแบบสุดๆ เรียกได้ว่ายังรักษามาตรฐานของ "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" รางวัลวรรณกรรมแถวหน้าของประเทศไทยไว้เสมอ