กรุงเทพฯ ในฝัน (ร้าย)? 'มารีญา-วรรณสิงห์-นันทิชา'

กรุงเทพฯ ในฝัน (ร้าย)?  'มารีญา-วรรณสิงห์-นันทิชา'

เปิดมุมมองความฝัน "มารีญา พูลเลิศลาภ", "วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" และ "นันทิชา โอเจริญชัย" ที่มาชวนคนรุ่นใหม่ร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ในความจริง

‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ แคมเปญที่คุ้นหูคุ้นตาของเมืองหลวงประเทศไทยนี้ อาจขัดใจใครหลายๆ คน เพราะยิ่งนานวัน อะไรๆ ก็ดูจะไม่ลงตัวไปซะหมด ตั้งแต่สภาพการจราจร ขยะ มลพิษ น้ำเสีย น้ำท่วม ฯลฯ ลองมาฟังเสียงของตัวแทนคนรุ่นใหม่-นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่พูดถึงความคาดหวังของพวกเขาระหว่างการเสวนา ‘กรุงเทพเมืองสีเขียว ปอดสะอาดน้ำบริสุทธิ์’ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้

  • มารีญา #ถ้าขนส่งมวลชนดี

เช่นเดียวกับความฝันของสามัญชนคนกรุงเทพฯ ที่เหนื่อยหน่ายกับสภาพการจราจร และอยากให้เมืองใหญ่เมืองนี้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางอย่างสะดวกสบายและปลอดภัย มารีญา พูลเลิศลาภ  มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560 บอกว่าถ้ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดี นอกจากจะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหามลพิษได้อีกด้วย

“อะไรที่อยากเปลี่ยนในกรุงเทพฯ มีหลายอย่างหลายจุดที่น่ารำคาญ เราต้องไปติดอยู่บนท้องถนน สู้กันทุกๆ วัน แทนที่จะมีเวลาไปทำอะไรดีๆ แต่ต้องมาสู้กับรถติด อากาศก็แย่ คนไม่สามารถเดินได้เพราะว่าฟุตบาทไม่ดีพอ ถ้ามีการเดินทางสาธารณะที่ดี ที่เราสามารถเดินได้ ขี่จักรยานได้ ขึ้นรถเมล์ได้ มันจะช่วยอากาศได้ถึงระดับหนึ่งเลย ทุกวันนี้รถเมล์ก็ยังเก่าอยู่ ปล่อยควันเยอะ ทำไมเรามีงบที่จะไปซื้ออย่างอื่น แต่ไม่มีงบที่จะมาซื้อรถเมล์ดีๆ หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า

จริงๆ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่สวยมาก เรามีคลองเยอะมาก ถ้าคลองสะอาด มันเหมือนเวนิสเลย แต่ว่าคลองเราไม่สะอาด ทุกคนก็ไม่น่าจะอยากลงคลอง ทุกคนรู้ว่ามันสกปรกขนาดไหน ถ้าเราเปลี่ยนจุดนี้ได้ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถเดินได้ ใช้เรือได้” มารีญา ผู้ก่อตั้ง SOS Earth Thailand พูดถึงกรุงเทพฯในฝัน ก่อนจะเชื่อมโยงไปถึงโลกใบใหญ่ที่กำลังเสียสมดุล

160059960436

มารีญา พูลเลิศลาภ

“ยุคนี้การบริโภคของเรามันเยอะกว่าที่เราสามารถบริโภคได้จริงๆ มนุษย์บนโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรก็ลดลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้มันไม่บาลานซ์แล้ว เราต้องมีบาลานซ์นั้นกลับมา ในทุกๆ อย่างที่เราทำทั้งการเรียน อุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ เราต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม โลกของเราตอนนี้กำลังอยู่ในจุดที่แย่ที่สุดที่เขาได้ทำนายมา เป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้จริงๆ มันต้องเข้าไปอยู่ในนโยบายต่างๆ มันต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแล้วค่ะ

ถ้าเราหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ผลิตเนื้อสัตว์ ก็สามารถสร้างผลกระทบที่ดีได้เยอะมาก ถ้าทุกคนทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน ค่อยๆ ปรับ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาเป็นคนที่รักโลกเลย 100 เปอร์เซ็นต์ เราเริ่มแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้ค่ะ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยาก ถ้าเราพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเรา ให้บอกคนอื่นเลย บอกครอบครัวของเรา บอกเพื่อนๆ ของเรา บอกตามสื่อโซเชียลมีเดียของเรา เชื่อว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่"

มารีญาบอกว่าตอนนี้กำลังทำแคมเปญ Trash Me Challenge เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการลดขยะ แยกขยะ และทำให้ขยะสะอาดขึ้น "ปัญหามากๆ ที่เราเจอตอนนี้คือขยะของเรามันสกปรกเกินไป ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แยกแล้วมันก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าทุกคนดูแลขยะของตัวเอง เวลาเราดื่มอะไรเสร็จเราล้างก่อน ด้วยน้ำแล้วค่อยทิ้ง จะทำให้ขยะของเราดีขึ้นเยอะเลย”

นอกจากนี้เธอยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อน

“Solar Energy เป็นสิ่งที่เราต้องทำมากขึ้น สนับสนุนมากขึ้น ทั่วโลกก็ไปในด้านนี้มาสักพักแล้ว แต่ที่เมืองไทยยังไม่ดีเท่ากับประเทศอื่น รู้สึกเศร้ามาก เรามีแสงแดดมาก ถ้าใช้ Solar ใช้น้ำ ใช้ลม จะช่วยเรื่องโลกร้อนได้ด้วย อาจทำให้การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลช้าลงก็ได้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำคัญมากในการขับเคลื่อนให้เรามีความยั่งยืนในประเทศของเรา แต่เขาไม่มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มารีญาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ 

กรุงเทพฯของเรากำลังจะอยู่ใต้น้ำ เรายังมีเวลาอีก 5-10-15 ปี อยากผลักดันให้รัฐบาลมีแผนที่ดีกว่านี้ เท่าที่ทราบแผนของรัฐบาลคือสร้างฝายรอบกรุงเทพฯ ไม่ได้แพลนจริงจัง ก็สงสัยอยู่ว่าเขาไม่กลัวหรือ หรือเขาไม่เข้าใจว่า มันกำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เราไม่ค่อยเชื่อมั่นในแผนของเขาตอนนี้”

 

 

  • วรรณสิงห์ #โลกร้อนเรื่องใกล้ตัว

ถ้าใครกำลังคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ผลิตรายการ ‘เถื่อนทราเวล’ ที่พยายามสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เตือนว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ

“ทุกอย่างกำลังสะท้อนกลับมาหามนุษย์ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่อากาศที่คุณหายใจ น้ำที่คุณดื่ม ขยะที่กำลังล้นเมือง ทุกๆ อย่างที่มีการตัดสินใจ ควรมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในนั้นได้แล้ว ทรัพยากรน้ำที่เราคิดว่ามีอยู่ไม่จำกัด มันกำลังหมดไปเรื่อยๆ ทั่วโลก เมืองบางเมืองในโลกต้องปิดก๊อกน้ำเพราะทรัพยากรน้ำกับภาวะโลกร้อนกำลังลิงค์กันอย่างชัดเจน พื้่นที่เมือง 2 เปอร์เซนต์ของโลกกินทรัพยากรไป 98-99 เปอร์เซ็นต์ของพวกเราทั้งหมด เราต้องไม่ให้โลกร้อนเกิน 2 องศา ภายในปี 2100 ถ้าโลกร้อนถึงขีดสุด อุณหภูมิสูงขึ้น 5-6 องศา โลกของเราอยู่ต่อ แต่คนไม่อยู่คือเรา คาร์บอนไดออกไซด์ปล่อยตรงไหนบนโลกมีผลเท่ากันหมด"

160059989569

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ปรับโฟกัสมาที่กรุงเทพฯ เขามองว่าน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะส่งผลให้เมืองจมน้ำในอนาคตอันไม่ไกล

"กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 6-7 เมตร ตอนนี้น้ำทะเลสูงขึ้น 21 เซนต์แล้ว ตัวแปรหลักมี 2 ที่คือการละลายของน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และขั้วโลกใต้ ที่กรีนแลนด์มาถึง Worst case Scenario แย่ที่สุดที่เคยคาดการณ์์ไว้แล้วและกำลังละลายเร็วขึ้น 7 เท่าเมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน ถ้าน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายหมด โลกทั้งโลกน้ำทะเลจะสูงขึ้น 7 เมตร ในกรุงเทพฯคุณอยู่ที่ไหนก็จมหมด ประเทศแถบแปซิฟิก ฟิจิ นาอูรู นาวูอาตู หมู่เกาะเล็กๆ เป็นแนวหน้าจะเกิดผลกระทบที่นั่นก่อน ชายหาดจำนวนมากกำลังหายไป ค่อยๆ ไล่มาโซนของเราเรื่อยๆ อินโดนีเซียกำลังเตรียมตัวย้ายเมืองหลวง ทุกบ้านต้องซื้อเรือเก็บเอาไว้ ดูไกลตัวและดูเวอร์ แค่มันยังไม่มาถึงเราเท่านั้นเอง”

‘ขยะ’ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ นอกจากการรณรงค์เรื่องการทิ้่งขยะ-แยกขยะแล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ‘จิตสำนึก’ อย่างเดียว

“ในกรุงเทพฯมีขยะวันละ 10,000 ตัน คิดเป็น 1.1 กิโล/คน/วัน ได้ไปดูการแยกขยะที่อ่อนนุชมา ใช้วิธีฉกขวดฉกกระป๋องจากสายพานที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว ถ้าสายตาไม่ดีก็ฉกไม่ทัน เพราะวันหนึ่งมีขยะเข้ามาที่นี่ 3,000-4,000 ตัน การนำเข้าขยะพลาสติก บางทีมีตู้คอนเทนเนอร์ขยะเน่าเหม็นมากองอยู่ท่าเรือเต็มไปหมด เราเลยต่อต้านสิ่งนี้ ควรจะหยุดได้แล้ว ขยะในประเทศเรายังจัดการไม่ได้ แล้วจะมาจัดการขยะประเทศอื่นได้ยังไง การนำเข้าขยะทำให้ขยะบ้านเราราคาตกต่ำจนคนไม่เอาขยะไปขาย แต่ยังไงเราก็ยังต้องแยกขยะ เพื่อให้ธุรกิจการรีไซเคิลไปต่อได้ในประเทศไทย"

ถึงที่สุด วรรณสิงห์มองว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สร้างการตัดสินใจอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก 

"เรายังไม่มีช่องทางค้านอย่างเป็นผลหรือตรวจสอบนโยบายหรืองบประมาณว่าถูกใช้ในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยนเป็นอะไรที่โปร่งใสกว่านี้ การพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นเรื่องยากกว่าเดิมโดยอัตโนมัติ 

ระบบการเมืองที่ดีประชาธิปไตยที่แข็งแรงจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ใส่ใจเรื่องนี้มีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ ตอนนี้เรามีปัญหาสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชน ถ้าปัญหานี้ได้รับการเคลียร์แล้วดีขึ้น คนก็จะหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

 

  • นันทิชา #เปลี่ยนโลกเริ่มที่เรา

“ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยคนจน หรือจะเกิดที่ไหน ทุกคนมีสิทธิมีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ มีน้ำสะอาดไว้ดื่ม Sustainable Development Goals : SDGs ของสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ 17 อย่าง เช่น จะต้องมีการดูแลเรื่องโลกร้อน ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลเรื่องประชาธิปไตย ดูแลเรื่องความเท่าเทียม ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่าที่เรามีอยู่ยังไม่ยั่งยืนเท่าไร แต่เราสามารถทำให้ยั่งยืนกว่านี้ได้” นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ก่อตั้ง Climate Strike Thailand พูดถึงความฝันของตัวเอง

“การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือสิ่งแวดล้อม คนๆ เดียวไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่คนๆ เดียวสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วหวังว่าคนรอบข้างเขาจะเปลี่ยนตามได้ ด้วยการทำเองก่อนเป็นตัวอย่าง พอเราทำแล้วดี คนรอบข้างจะเริ่มเห็นแล้วเขาก็จะเริ่มเปลี่ยน คนๆ หนึ่งอาจบอกให้รัฐบาลหรือบริษัทเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ได้ แต่เราสามารถสื่อสารกันรวมกันเป็นชุมชนที่มีเป้าหมายตรงกันได้"

160060009410

นันทิชา โอเจริญชัย

ในขณะที่คนส่วนใหญ่จับจ้องไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP แต่ทรัพยากรโลกมีจำกัด ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์อย่างพอเพียงและยั่งยืน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ  ซึ่งคาดว่าภายในปี 2050 ครึ่งหนึ่งของเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำ

"ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงเดียว รัฐบาลต้องให้แต่ละกระทรวงมาสื่อสารกันว่าจะทำงานด้วยกันยังไงได้บ้าง เพราะการใช้ก๊าซหรือถ่านหินเป็นเรื่องของพลังงาน กระทรวงพลังงานก็ต้องคิดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงยังไง เพราะระบบนิเวศ สังคม เชื่อมโยงกันหมด แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกกระทรวงทำงานแต่ของตัวเอง ไม่มีทีมเวิร์ก ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการวางแผนร่วมกัน แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเดียวกันได้ยังไง”

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเรื่องพลังงานสะอาด ธรรมชาติมีให้หมดแล้วทั้งแสงอาทิตย์ น้ำ ลม มนุษย์เองก็มีเทคโนโลยีพร้อมที่จะใช้พลังงานเหล่านี้ แต่นโยบายรัฐกลับเป็นอุปสรรค เธอว่าหากฝันได้ ฝันอยากให้ภาครัฐและภาคประชาชนมีช่องทางที่่สามารถสื่อสารกันได้

“อย่างที่นิวซีแลนด์ เวลาจะมีก่อสร้างอะไร รัฐบาลจะขึ้นเว็บไซด์บอกเลยมีโปรเจคนี้ใช้งบประมาณเท่านี้ จะเสร็จปีนี้ เพื่อผลประโยชน์นี้ คนก็เข้าไปดู แต่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ หรือว่าถ้าประชาชนอยากได้พื้นที่สีเขียวในเมืองสาธารณะ ก็เขียนอีเมลไปขอเงินจากรัฐบาลมาปลูกต้นไม้ในพื้นที่นี้ได้ ซึ่งง่ายมาก ถ้าเรามีเว็บไซด์แบบนี้”

 ทั้งหมดนี้คือความฝันที่พวกเขาอยากจะเห็น และอยากจะให้กรุงเทพฯเป็น เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง