'ต้นตีนเป็ด' และวิทยาศาสตร์ของกลิ่น 'ฤดูหนาว'

'ต้นตีนเป็ด' และวิทยาศาสตร์ของกลิ่น 'ฤดูหนาว'

ทำความเข้าใจกลิ่นหอมที่หลายคนเบือนหน้าหนีของดอกจาก "ต้นตีนเป็ด" หรือ พญาสัตบรรณ ที่มักโชยมาพร้อมกับสายลมใน "ฤดูหนาว"

ฤดูหนาว เป็นฤดูเดือนที่ใครๆ ต่างรอคอย แม้ว่าเมืองไทยของเราจะต้องมานั่งลุ้นกันอีกทีว่า ปีนี้จะหนาวแค่ไหนและนานเท่าไหร่ก็ตาม แต่อย่างไร ฤดูหนาวก็เป็นฤดูที่น่ารัก และเป็นฤดูแห่งความรักในหลายสาเหตุ เราชอบลมเย็นๆ อากาศสบายๆ แสงแดดที่แจ่มใส กลิ่นสะอาดๆ ไปจนถึงเหตุการณ์ และความรู้สึกช่วงท้ายปี

เมื่อฤดูหนาวมีกลิ่น และความรู้สึกเฉพาะตัว แน่นอนว่า ในแต่ละที่ย่อมมีกลิ่นและความรู้สึกของฤดูหนาวที่ต่างกันไป ในยุโรปอาจจะเป็นไม้สน เตาไฟ ถ้าเป็นบ้านเรา... ก็อาจจะเป็น ต้นตีนเป็ด นี่แหละ อย่างไรก็ดี เราต่างสัมผัสถึง กลิ่นที่เฉพาะของฤดูหนาวได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ตาม

 

  • ตีนเป็ด ในกลิ่นฤดูหนาวที่เราคุ้นเคย

ตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ แปลว่า มี 7 ใบ (แต่จริงๆแล้วอาจมีน้อยกว่าหรือมากกว่า 7 ใบก็ได้) เป็นชื่อมาจากภาษาสันสกฤตที่รวมเอาคำว่า สปฺต (แปลว่า 7) และ ‘ปรฺณ’ (แปลว่า ใบหรือขนนก) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris  และมีช่อดอกที่ออกเพียงปีละครั้งในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งส่งกลิ่น (หอม) ฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะตอนหัวค่ำ เล่นเอาบางคนที่แพ้กลิ่นถึงกับปวดเศียรเวียนเกล้าหรือปวดหัวไมเกรนกันเลยทีเดียว จนชาวโซเชียลต่างออกมาแสดงทัศนะกันว่า ช่วงหัวค่ำในเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นปีใหม่เริ่มจะมีมหันตภัยกลิ่นดอกตีนเป็ด  โชยมารบกวนนาสิกประสาทของคนบางกลุ่มที่แพ้ จนแทบจะเรียกกันขำๆว่าต้น ‘พญาสัตบรร(ลัย)’ กันเลยทีเดียว

160369140467

นักวิทยาศาสตร์ด้านกลิ่นกล่าวว่า กลิ่นพิเศษของฤดูหนาวส่วนหนึ่งเกิดจากอากาศเย็นๆ ที่ส่งผลกับร่างกายและการรับกลิ่นของเรา ทว่าความรู้สึกของเราที่มีต่อฤดูหนาวนั้นไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่กลิ่นของฤดูหนาวเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความทรงจำ

กลิ่นของฤดูหนาวจึงไม่ใช่แค่เรื่องของโมเลกุลในอากาศ แต่คือความรู้สึกที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเราในบรรยากาศนั้นๆ

ฤดูหนาวของบางคนคือกลิ่นของต้นคริสต์มาส สำหรับคนไทยหลายคนคือกลิ่นดอกตีนเป็ดนี่แหละ!  ชาวโซเชียลบางคนบอกว่า กลิ่นดอกตีนเป็ดนั้นหอมเย็นๆ ได้กลิ่นแล้วสดชื่นไม่น้อยหรือบางคนที่ชอบก็บอกว่าหอมละมุน เวลาเดินผ่านต้นตีนเป็ดที่กำลังออกดอกเหมือนเดินอยู่ท่ามกลางทุ่งดอกไม้ก็มี

 

  • กลิ่นดอกตีนเป็ดในตำนาน

ฝรั่งเรียก ต้นตีนเป็ด ว่า Indian Devil Tree หรือ ต้นปีศาจ ฟังดูออกจะน่ากลัวสักนิด จนไม่ใคร่เป็นที่นิยมปลูกมากนักในตะวันตก ส่วนที่อินเดียมีความเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณร้ายว่ากันว่ากลิ่นที่หอมฉุนรุนแรงนั้นมีฤทธิ์สะกดให้ใครก็ตามที่เผลอไปงีบหลับอยู่ใต้ต้นไม้นี้ถึงกับสลบสไลหรืออาจถึงขึ้นไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยก็เป็นได้

มีตำนานพื้นบ้านเล่าถึงนางยักษ์ซึ่งมักปลอมตัวเป็นสาวงามคอยสะกดหนุ่มๆ ที่ผ่านมาในยามวิกาลให้ไปหลับนอนด้วยแล้วจับกินเสีย เล่าว่าเมื่อใดที่นางยักษ์ในคราบสาวงามปรากฏกายขึ้นก็จะมีกลิ่นหอมของดอกพญาสัตบรรณนี้ขจรขจายมาตามสายลม ชวนให้เหยื่อผู้โชคร้ายเกิดอารมณ์ปั่นป่วนเคลิบเคลิ้มจนตามไปถึงวิมานจำแลงของนางยักษ์ จึงเป็นที่มาที่ชาวอินเดียเรียกไม้ชนิดว่า “ต้นไม้ยักษี” อีกชื่อหนึ่งด้วย

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ชื่ออวมงคลไปเสียทั้งหมด เพราะบางแห่งในอินเดียก็เรียกว่า “ต้นไม้บัณฑิต” เพราะมักนำเนื้อไม้ไปใช้ทำโต๊ะเก้าอี้ กระดานชนวนสำหรับอ่านเขียนหนังสือในสมัยโบราณ เห็นได้จากชื่อพฤกษศาสตร์ที่ว่า scholaris

160369141782

"ต้นตีนเป็ด" เป็นไม้โตเร็ว ต้นสูงใหญ่ ในหลายๆ ประเทศนิยมปลูกในเขตเมืองเพราะมันโตเร็วมาก มีงานศึกษารายงานว่า ต้นและใบสามารถลดเสียงการจราจรได้ แต่ปัญหาที่พบในหลายประเทศที่ปลูกต้นตีนเป็ดในเขตเมืองคือ กลิ่น หากลองค้นดูข่าวเก่าๆ จะพบว่า ทั้งอินเดีย เวียดนาม ไต้หวันและอีกหลายๆประเทศ รวมถึงไทยเราด้วย มีข่าวปัญหาที่เกิดจากกลิ่นของต้นไม้ชนิดนี้เกือบทุกปีโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวอย่างนี้ 

นอกจากกลิ่นแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่คนบ่นมากคือ เรื่องรากที่แผ่ขยายจนอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้าง อาทิ กำแพงรั้ว หรือตัวบ้าน เนื่องจากตีนเป็ดเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกพอสมควร แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่จำกัด แต่ไม่หมั่นดูแลตัดแต่งกิ่ง ต้นก็สูงชะลูด ปะทะลมแรง จนรากต้องแผ่ขยายเพื่อเกาะดินให้แน่น จนบางคนถึงกับเรียกว่ามันว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ไปแล้ว เนื่องจากเดิมทีต้นตีนเป็ดเป็นต้นไม้ในเขตป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 150 เมตรขึ้นไป อาจไม่เหมาะที่จะเอามาปลูกในพื้นที่จำกัด

 

  • วิทยาศาสตร์ในกลิ่นของตีนเป็ด

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดอกจากต้นตีนเป็ดมีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด (อย่างน้อยถึง 34 ชนิด) ซึ่งสารที่ให้กลิ่นหลักนั้นเป็นสารประกอบ linalool (37.5%) และสารอื่นๆ เช่น cis-/ trans-linalool oxides (14.7%), α-terpineol (12.3%), 2-phenylethyl acetate (6.3%) และ terpinen-4-ol (5.3%) ผสมปนเปกันเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์กลิ่นที่ออกหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่จะเหม็นหวานเอียนชวนปวดหัวมากหากมีปริมาณที่สูงขึ้น

มีงานวิจัยที่ค้นหาความรุนแรงของกลิ่นดอกตีนเป็ด อันเป็นสาเหตุของความปวดหัวยามที่ได้กลิ่นแบบเข้มข้นรายงานว่าเกิดจากการที่สารในกลุ่ม linalool กระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาเจียนของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนที่แพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดก็มักจะแพ้กลิ่นดอกราตรีด้วย เนื่องจากว่า เป็นสารประกอบกลุ่มเดียวกัน ที่มีโทนกลิ่นที่ชวนปวดหัวได้พอๆ กัน หากได้รับความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ และอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการน้ำตาและน้ำมูกไหลออกมาได้ด้วย

160369144179

แต่อาการนี้ก็ไม่ได้เป็นทุกคน บางคนก็สามารถรับกลิ่นดอกตีนเป็ด (แบบอ่อนบาง) ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ พร้อมกับบอกว่า “หอมหวานเย็นๆ” ด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

ทุกวันนี้ กลิ่นของดอกตีนเป็ดที่ไม่ชวนสูดดมสำหรับใครหลายคน แต่ก็กลับทำให้ใครอีกหลายคนนึกถึงกลิ่นของมันเป็นอย่างแรกไปแล้ว เมื่อนึกถึงกลิ่นเฉพาะของฤดูหนาว เหมือนอย่างที่ในฤดูร้อนที่มักนึกถึงกลิ่นดอกประดู่และในฤดูฝนที่นึกถึงไอดินกลิ่นฝนนั่นแหละ เพียงแต่ว่าบางทีกลิ่นตีนเป็ดนั้นมีเยอะเกินไปจนทำให้เวียนหัวไปสักหน่อย โดยเฉพาะตอนหัวค่ำที่กลิ่นมันฟุ้งอยู่ในอากาศ...

น่าสังเกตว่ากลิ่นตีนเป็ดเป็นหนึ่งในกลิ่นที่บันทึกความทรงจำ เพราะกลิ่นของมันสามารถทำให้นึกย้อนกลับไปถึงเรื่องราวประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิตเหมือนกลิ่นทุเรียนหน้าทุเรียนหรือกลิ่นน้ำหอมบางกลิ่น ภาพเรื่องราวผสมกับความทรงจำของกลิ่นนั้นก็ผุดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติฉับพลันอย่างน่าอัศจรรย์ ภาพที่เกิดขึ้นช่างผสมกับกลิ่นเหล่านั้นได้อย่างลงตัว