คพ. ตรวจสอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก
คพ. ผนึกกำลัง ตรวจสอบตู้สินค้าคงค้างประเภทพลาสติก กรมศุลกากร เร่งผลักดันพลาสติกไปยังประเทศต้นทาง กำหนดให้นำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานฯ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการลงพื้นที่ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในพื้นที่ดำเนินงาน 18 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
นายอรรถพล เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้สรุปสาระสำคัญความคืบหน้าในการจัดการกับตู้สินค้าคงค้างประเภทเศษพลาสติก พบว่า ตู้สินค้าคงค้างประเภทเศษพลาสติก จากเดิม 850 ตู้ เหลือตู้สินค้าอยู่ระหว่างตรวจสอบ 829 ตู้ และอธิบดีกรมศุลกากรมีนโยบายในการปรับแก้ไขประกาศกรมศุลกากรในการผลักดันตู้สินค้าคงค้างประเภทเศษพลาสติกไปยังประเทศต้นทางโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดให้การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กรอ. ร่วมกับ คพ. ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการการติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก และแบบฟอร์มการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินการเกี่ยวกับพลาสติก เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการในการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกในประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า เพื่อให้การติดตามตรวจสอบในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ระดับจังหวัด เป็นไปอย่างรวดเร็ว คพ. จะจัดทำหนังสือแจ้งคำสั่งคณะทำงานฯ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาในการดำเนินงานภายใน 60 วัน ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์และมอบหมายให้ ทสจ.ในพื้นที่ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมในพื้นที่จังหวัด โดยมีรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (รอง ผอ.กอ.รมน.จว.(ท)) เป็นหัวหน้าชุด และผู้แทนจาก สสภ. สอจ. ทสจ. ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานศุลกากรภาค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมติดตามตรวจสอบโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับพลาสติก รวมทั้งสิ้น 157 แห่ง และโรงงานประกอบกิจการพลาสติกอื่นในพื้นที่ตามความเหมาะสมต่อไป