'RSV' เกิดจากอะไร? เด็กเล็กเสี่ยงเป็นง่าย เช็ค 5 อาการต้องรู้!
โรคระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส "RSV" เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้บ่อยในช่วงปลายฝนต้นหนาว หากเกิดกับเด็กเล็กมักจะมีอาการรุนแรง ถ้าพ่อแม่ไม่ทันสังเกตจนลูกป่วยหนัก และรักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิต!
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในรอบปี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว มักจะทำให้คนเราป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ ก็ยิ่งป่วยง่ายขึ้นไปอีก สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ควรหมั่นสังเกตอาการลูกให้ดี เพราะช่วงนี้เด็กเล็กมักจะป่วยจากการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี "RSV" ซึ่งหากปล่อยไว้จนอาการรุนแรง และรักษาไม่ทันอาจอันตรายถึงชีวิตได้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กไปรู้จักกับไวรัสตัวร้าย RSV และ "โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก" ให้มากขึ้น ว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร? เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้ลูกป่วย หรือหากป่วยเป็นโรคนี้ก็จะได้รีบพาไปรักษาได้ทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รับมือไวรัส 'RSV' เปิดทริคเลือก 'ประกันสำหรับเด็ก' ปกป้องลูกน้อยจากโรคร้าย
- "RSV" คืออะไร เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจอย่างไร
อาจารย์แพทย์หญิงโสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เอาไว้ในบทความวิชาการ ระบุว่า RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus คือไวรัสสุดฮิตที่ทำให้เด็กเล็กป่วยติดเชื้อชนิดนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว
โดยเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก
- "RSV" มีสาเหตุเกิดจากอะไร
จริงๆ แล้วไวรัส RSV มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป แต่หากร่างกายอ่อนแอและอยู่ในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน อากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายก็สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้ง่าย การติดเชื้อไวรัส RSV นั้นเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง
แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 3-5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน
เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ)
- อาการป่วย "RSV" ที่พ่อแม่ต้องรู้!
ข้อมูลจาก อาจารย์แพทย์หญิงโสภิดา ยังระบุอีกว่าเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ทำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด
อีกทั้งต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ลูกป่วยด้วยอาการมีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราด
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก นายแพทย์พรเทพ สวนดอก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุถึงอาการที่พึงระวังของโรคนี้ว่า หากเด็กมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) กินข้าวหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว นั่นแสดงว่าอาการหนัก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีโอกาสว่าระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง
- โรคติดเชื้อ "RSV" อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต?
ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิด "ภาวะแทรกซ้อน"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมากๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้
- การรักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งมีความอันตรายสูงกับเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV
พ่อแม่ต้องหมั่นรักษาความสะอาดให้ลูก เช่น หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อยๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และหากลูกเข้าเรียนอนุบาลแล้ว เมื่อลูกป่วยก็ควรให้ลูกหยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่นๆ
-------------------
อ้างอิง: