ทอความหวัง...บนฉากหลังความเหลื่อมล้ำที่ 'ดอยเต่า'

ทอความหวัง...บนฉากหลังความเหลื่อมล้ำที่ 'ดอยเต่า'

ไม่ว่าจะรู้จัก "ดอยเต่า" จากเพลงเก่าหรือรีวิวท่องเที่ยว ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำคือความจริงของชีวิต ที่ "แม่แสงเดือน" ใช้ทักษะการทอผ้าตีนจกในการสร้างโอกาสและความหวังให้กับชาวบ้าน จนกลายเป็นโมเดลการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

“ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร  หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ...”    

ระหว่างความสนุกสนานของท่วงทำนอง, เนื้อร้องเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ ของวงดนตรีเด็กยุค 80 ‘นกแล’ เล่าเรื่องความยากลำบากของอำเภอเล็กๆ ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วได้อย่างเห็นภาพ

และแม้วันนี้ ‘ดอยเต่า’ จะเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย น้ำไหลไฟสว่าง ถนนหนทางดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังเป็นเงาของสิ่งที่เรียกว่า ‘การพัฒนา’ เช่นเดียวกับชุมชนท้องถิ่นอีกหลายแห่งในประเทศไทย

“สถานการณ์ปัญหาของประเทศด้านประชากรวัยแรงงานและระบบการพัฒนา เมื่อพิจารณาในมุมมองของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่าประชากรวัยแรงงานมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคมในด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้”

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหา อันนำมาซึ่งการดำเนินโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือ ‘ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ เมื่อปี 2562 เพื่อยกระดับทักษะการประกอบอาชีพให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งในโครงการนำร่องที่ถือเป็นตัวอย่างของกระบวนการพัฒนาอาชีพที่ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ยังนำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันเป็นรากฐานของชุมชน ก็คือ ‘โครงการพัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้าในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่’

160393578017

 'แสงเดือน' แห่งศรัทธา...ผ้าทอคน 

ลานกว้างบริเวณบ้านแม่แสงเดือน เปี้ยตั๋น ถูกใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอจกบ้านชั่งแปลง 8 ด้วยเหตุผลเริ่มต้นว่า ผู้เป็นเจ้าของบ้านคือคนทอผ้าฝีมือดีที่มีใจอยากถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน

“ผ้าซิ่นตีนจกของอำเภอดอยเต่า เป็นผ้าที่สวยงามและเป็นวิถีชีวิตของเรา แต่ก่อนจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่สามารถทอได้ใส่ผ้าซิ่นสวยงามไปวัด คนไหนทอไม่เป็นก็จะไม่ได้ใส่ผ้าสวยๆ ไป เพราะฉะนั้นการทอผ้ากับคนโบราณเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ละบ้านจะสอนลูกหลานให้ทอผ้าได้เป็นหลัก”

นานวันเข้า พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ รูปแบบการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมการแต่งกายที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเริ่มเลือนหาย

160393578153

แสงเดือน เปี้ยตั๋น

“แม่หัดทำผ้าซิ่นตีนจกตั้งแต่อายุ 19-20 ตอนทำผ้าผืนแรกถูกบ้างผิดบ้าง จนได้ขาย ก็เป็นแรงให้ทำต่อ แต่ตอนนั้นพออยากจะเรียนรู้ลวดลายที่ยากขึ้น เหลือผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทำได้แค่ไม่กี่คน พอไปถามก็เหมือนเขาไม่อยากบอก มีคำถามในใจว่าทำไมๆ ทีนี้พอเราเริ่มทำได้ก็อยากถ่ายทอด ไม่อยากให้มันตายไปพร้อมกับเรา ก็เลยหาวิธีที่จะสืบให้ได้ต่อให้ได้ ให้เขารู้ว่าดอยเต่ามีของดีนะ”

แม่แสงเดือนบอกว่า จากวันนั้นเริ่มชวนคนในหมู่บ้านมาเรียน พอมีคนเห็นคุณค่า ก็มีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน

“ถึงจะมีคนทอได้แค่ 1 ใน 100 ที่มาเรียนก็ภูมิใจแล้ว เพราะการทอผ้าเป็นเรื่องที่ยากมาก การจะมาทอผ้า อันแรกคือใจ ใจต้องมุ่งมั่น ทำให้ได้ ถ้าคิดแค่ว่ามาทำแล้วต้องได้เงินเยอะๆ อันนั้นไม่ใช่ การทอผ้าจกต้องใช้เวลานาน ต้องใช้ใจเป็นสำคัญ”

160393579314

ความตั้งใจจริงของแม่แสงเดือน ไม่เพียงทำให้ผ้าทอตีนจกของอำเภอดอยเต่าได้รับการสืบสาน แต่ยังชักนำให้เธอได้ร่วมงานกับ กสศ.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ เพื่อช่วยพัฒนาอาชีพให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชน

“ปีแรกแม่เดือนสอนเรื่องการทอจกก่อน วิถีการทอเป็นอย่างไร ยากง่ายขนาดไหน รู้จักลวดลาย ปีที่สอง ต่อยอดเรื่องการแปรรูป การย้อม ให้รู้เรื่องสีที่ใช้ทอใช้จกเป็นอย่างไร แล้วการใช้สีธรรมชาติ ต้นไม้ในป่าสัมพันธ์กับชีวิตเรายังไง จะได้ดูแลต้นไม้ดูแลป่า ดูแลตนเองดูแลคนที่มาซื้อของด้วยว่าเขาจะได้สิ่งที่มาจากธรรมชาติจริงๆ”

หลังจากดำเนินการมากว่า 1 ปี แม่แสงเดือนบอกว่าตอนนี้ไม่ได้แค่ผ้าจกเท่านั้น แต่ได้ใจของคนในชุมชนด้วย เพราะทุกวันที่บรรดาคุณแม่มาเรียนทอผ้า ลูกๆ ก็จะมาวิ่งเล่นกัน ซึ่งเด็กๆ ชอบมาก ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้มาพูดคุยได้ดูแลกัน

“คนที่มาเรียน เงินอาจจะได้น้อยหน่อย แต่มาตรงนี้แล้วเขามีความสุข เราก็มีความสุข”

มากไปกว่านั้น ปัจจุบันทางกลุ่มยังได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายให้สามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการทอผ้าได้ เช่น การปั่นฝ้าย เลี้ยงหม่อนไหม ซึ่งไม่เพียงมีรายได้พอเลี้ยงตนเอง ยังทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจอีกด้วย

160393578067

 เติมความสุขให้คน ‘ดอยเต่า’ 

แม้จะอยู่ห่างจากอำเภอเมือง 125 กิโลเมตร และถูกจัดอยู่ในลิสต์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ชาวบ้านในชุมชนบ้านชั่งแปลง 8 อำเภอดอยเต่า กลับประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันเรามีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณแสนไร่ มีลำใยเป็นส่วนใหญ่ 5 หมื่นกว่าไร่ มีข้าวโพด 3 หมื่นกว่าไร่ และก็มีมะม่วงมะนาว ปศุสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นปากท้อง เป็นชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตอนนี้อำเภอเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรกลุ่มนี้กว่า 5 พันคน” ภควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอดอยเต่า ให้ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน

“ศูนย์แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาของอำเภอดอยเต่า เรามีผ้าทอลายตีนจก มีผ้าทอต่างๆ ในหลายหมู่บ้าน อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ก่อให้เกิดรายได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”

นายอำเภอดอยเต่า ยกตัวอย่างแนวคิดในการเพิ่มผลิตภาพของอำเภอว่า ได้ปรึกษาแม่แสงเดือนถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำอาชีพเลี้ยงม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งแม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่น่าจะตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

“อย่างแรกต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่ไม่ใช่สารเคมี เพราะฉะนั้นคนที่เลี้ยงหม่อนเลี้ยงไหม จะสุขภาพดี สอง การเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงตัวหนอน เก็บตอนตี 3 ตี 4 พอ 6-7 โมงเช้า เลิกทำแล้ว อันนี้ตรงกับบุคลิกผู้สูงอายุพอดี สาม แม้มันจะไม่มีรายได้อะไรมากมาย แต่ถ้าเราทำในพื้นที่ที่เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ มีความสุขในชีวิต อย่างน้อยมี 2 หมู่บ้านในอำเภอนี้ที่น่าจะทำได้”

ทั้งนี้เพราะเป้าหมายปลายทางของการพัฒนาอาชีพ ไม่ได้จบแค่การสร้างงานสร้างรายได้ แต่เป็นความคาดหวังร่วมกันว่าจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและกระจายความสุขไปยังคนดอยเต่าให้มากที่สุด

160393578124

 ส่งต่อ ‘โอกาส’ เพื่อความเสมอภาค 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นปัญหาสำคัญที่กำลังกัดกินสังคมไทย และหากยังไม่สามารถจัดการกับช่องว่างระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคม ด้วยเหตุนี้ การใช้ชุมชนเป็นฐาน จึงเป็นนวัตกรรมสำคัญของกสศ. ตามความเห็นของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ

“กองทุนนี้รัฐบาลให้มาทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ แล้วพื้นที่นี้(ดอยเต่า) แทบทุกคำตอบของกสศ. สามารถถอดบทเรียนได้”  

ดร.สมพงษ์ กล่าวระหว่างการเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานว่า ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวดำเนินการจัดการ แต่เงินกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการคืนกลับของทุน เช่น คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ในแต่ละชุมชนจะมีผู้คนเหล่านี้มากมาย แต่เขาไม่ค่อยได้รับโอกาส

“แม่แสงเดือนนี่ต้องถือว่าเป็นผู้หยิบยื่นโอกาส ส่วนเราเป็นผู้สนับสนุนโอกาส”

160393578049

อีกมุมหนึ่ง ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ มองว่านับวันคนที่จนและเรียนน้อยจะลำบากมากขึ้น และแนวโน้มความยากลำบากเหล่านี้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมในระยะยาว

“เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ๆ ก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นั่นก็คือว่า ต้องสร้างโอกาส แล้วกองทุนนี้ก็ตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เช่นนี้”

เมื่อโจทย์ใหญ่คือการพัฒนาทักษะอาชีพคนจนที่ออกจากการศึกษาในระบบ คำสำคัญจึงอยู่ที่ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ เพราะคนยากจน ถ้าไม่มีชุมชนเป็นฐานก็คงลำบากมากขึ้น

“แม่เดือนเป็นผู้ให้โอกาส โอกาสเป็นปัจจัยที่เอื้อ เราเป็นคนที่ช่วยสนับสนุนปัจจัย” ดร.สมคิด ย้ำว่าระบบนี้นอกจากจะเป็นการสร้างคนแล้ว ยังเป็นการสร้างโครงข่ายทางเศรษฐกิจ ให้ผ้าดอยเต่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น เกิดการเชื่อมต่อทางด้านการผลิตและการตลาด

“ผมคิดว่านี่เป็นการสร้างคน สร้างงาน สร้างระบบ ที่สำคัญอย่างยิ่งมันเป็นการศึกษาที่เอาชีวิตคนและพลังทางสังคมมาร่วมกัน และในที่สุดหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานในมิติต่างๆ ก็จะมาช่วยกัน”

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการสร้างโอกาสสร้างอาชีพแล้ว ดร.สมคิด ชี้ว่าคำตอบที่ได้จากโครงการฯสามารถย้อนไปถึงระบบการศึกษาโดยแท้จริง

“ที่นี่มีหลายกรณีมากที่ผู้เรียนเกิดความรักที่จะเรียนรู้ มีฉันทะที่จะเรียนรู้ มีความตั้งใจที่จะกำหนดชะตาชีวิตในอนาคตของตนเองโดยใช้การศึกษาเรียนรู้เป็นเครื่องมือ แค่นี้ผมก็สุขใจแล้ว”

สุดท้าย...ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็น อาชีพ รายได้ โอกาส หรือความสุข ชุมชนเล็กๆ นี้จะส่งต่อความหวังให้กับชุมชนอื่นๆ ในการสร้างเครือข่ายความยั่งยืนบนฐานทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง