ข่าวดีของ ‘คนหูหนวก’ เมื่อสมาคมฯเตรียมปั้น ‘ล่ามภาษามือ’ ในกิจการโทรทัศน์ครั้งใหญ่

ข่าวดีของ ‘คนหูหนวก’ เมื่อสมาคมฯเตรียมปั้น ‘ล่ามภาษามือ’ ในกิจการโทรทัศน์ครั้งใหญ่

สมาคมล่ามภาษามือฯ เตรียมปั้นล่ามในกิจการโทรทัศน์ ยกระดับ “ล่ามภาษามือ” หนุนคนหูหนวกเข้าถึงสื่อมากขึ้น

จากจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในปัจจุบันกว่า 3.88 แสนคน หรือคิดเป็น 18.86 ของคนพิการทั้งหมดในประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนอีก ทำให้ความต้องการ “ล่ามภาษามือ” ในบ้านเรามีมากขึ้น

กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จึงจับมือ สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดหลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” ภายใต้โครงการ “พัฒนาระดับความรู้ ความสามารถล่ามภาษามือสำหรับกิจการโทรทัศน์” หนุนเสริมศักยภาพล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์ ถ่ายทอดข้อความสู่เสียงให้คนพิการทางการได้ยิน เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานของล่าม และความสามารถในการสื่อความหมาย พร้อมตั้งเป้าปั้นล่ามภาษามือป้อนกิจการโทรทัศน์รวม 50 คน

นิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย มีจำนวนกว่า 3.88 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.86 ของคนพิการทั้งหมด (ที่มา: รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2563) นอกจากนี้ ยังพบข้อจำกัดด้านความเข้าใจของ “ล่ามภาษามือ” ในปัจจุบัน ที่สื่อสารหรือถ่ายทอดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนพิการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“สมาคมได้จัดสรรงบประมาณ 3.3 ล้านบาท อุดหนุนการพัฒนาหลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” ภายใต้โครงการ “พัฒนาระดับความรู้ ความสามารถล่ามภาษามือสำหรับกิจการโทรทัศน์” ของสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เพื่อทลายข้อจำกัด และสร้างโอกาสการเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ผ่านบริการล่ามภาษามือ สื่อกลางเชื่อมโลกแห่งข่าวสาร ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป พร้อมตั้งเป้า ปี 2564 คนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายต้องถึงสื่อเพิ่มขึ้น”

160413339231

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย หัวหน้าโครงการวิจัย “ล่ามภาษามือ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ล่ามในกิจการโทรทัศน์” คือผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่กว้างขวาง มากไปกว่าการเป็นล่ามภาษามือทั่วไป โดยหากล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์มีความเข้าใจ และมีความคุ้นเคยกับคำ จะแปลง “ข้อความ” สู่ “เสียง” ในรูปแบบภาษามือ ให้คนพิการด้านการได้ยิน เข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและเติมเต็มศักยภาพของล่ามภาษามือ ใน 2 ด้านสำคัญ คือ

1.ความรู้พื้นฐานของล่าม “ล่ามภาษามือ” จะต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องหลักจรรยาบรรณสื่อ สิทธิและหลักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ มีความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และมีเจตคติที่ดีต่อคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย รวมถึงหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณของล่ามภาษามือ

2.ความสามารถในการสื่อความหมาย ล่ามภาษามือที่ดี จะต้องมีทักษะในการฟัง การจับประเด็น พร้อมถ่ายทอด “ข้อความ” เป็น “เสียง” ได้อย่างถูกต้อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่จำเป็น ที่มีการปรับใช้ในบริบทหรือเหตุการณ์ต่างๆ จำนวนมาก

“สมาคมล่ามภาษามือฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในหลายภาคส่วน ทั้งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย (สหท.) และนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ เพื่อร่วมกันวางกรอบการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ใน 4 ขั้นตอน ครอบคลุมระยะเวลา 12 เดือน ดังนี้ 1.เก็บข้อมูลภาคสนาม โดยการลงพื้นที่สำรวจข้อจำกัดและความต้องการของล่ามภาษามือ 2.วิเคราะห์ข้อมูลที่ล่ามต้องการ เพื่อเป็นกรอบในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน 3.ออกแบบหลักสูตรที่มุ่งเพิ่มศักยภาพสำคัญของล่าม และ 4.พัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อกิจการโทรทัศน์ โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์รวม 50 คน ผ่านการแบ่งกลุ่มอบรม 3 รุ่น ใน 5 วัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีล่ามภาษามือ ที่ให้บริการในกิจการโทรทัศน์ประมาณ 50 คน” ดร.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทร. 0 2554 1113 และ 0 2554 1114