ประเทศไทยไม่ใช่‘ถังขยะ' โลก ถึงเวลาต้องใช้'กฎหมาย'จัดการ
ขยะจากต่างประเทศถูกนำเข้า เพื่อเอามาทิ้งในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากไม่มีมาตรการที่รัดกุม ถ้าอย่างนั้นต้องมีแนวทางการจัดการอย่างไร
“วันที่ 2 มีนาคม 2534 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ท่าเรือคลองเตย ที่โกดังเก็บสารเคมี พบว่า มีกองของเสียจำนวนมาก กลายเป็นข่าวสู่สาธารณะ ทำให้รู้ว่ามีขยะต่างประเทศลักลอบเข้ามาทิ้งในประเทศไทย” ฺ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวในงานเสวนา Dialogue Forum 7 : "ประเทศไทย ,ถังขยะโลก? ขยะอันตรายและแนวทางกำกับดูแล" จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
- การเดินทางของขยะ
การส่งออกของขยะอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ยุคแรกเมื่อปีพ.ศ. 2528-2532 มีเส้นทางจากทิศเหนือไปทิศใต้สู่ประเทศแอฟริกา,ละตินอเมริกา ยุคที่สองปีพ.ศ. 2532-2537 เส้นทางจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก สู่ประเทศโปแลนด์, ฮังการี, โรมาเนีย
ยุคที่สามปีพ.ศ. 2537-2561 จากทวีปยุโรป,อเมริกา ไปยังประเทศอินเดียและจีน จนกลุ่มประเทศแอฟริกาและละตินอเมริกาไม่พอใจลุกขึ้นต่อสู้ จึงมีการประชุมที่เมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งนั้นได้มาซึ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศ Basel Convention มีผลบังคับใช้วันที่ 5 พฤษภาคม ปีพ.ศ.2535 ในระดับสากล
ในเมืองไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 มีการตรวจสอบพบตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 40 ฟุต จำนวน 5 ตู้ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอายัดไว้ในท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพราะเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบพิรุธนำเข้าผิดกฎหมายสำแดงเท็จ เป็นตู้คอนเทนเนอร์บางส่วนจาก 1,700 ตู้ ที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ขอให้เปิดตู้พิสูจน์ข้อเท็จจริง
“นี่เป็นเทคนิคการสำแดงสิ่งของอย่างหนึ่ง ประมูลก็อีกอย่างหนึ่ง แต่เวลานำเข้ามาก็อีกเรื่อง กฎหมายตามไม่ทัน” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ เคยกล่าวไว้ตอนร่วมตรวจสอบ 5 ตู้ที่เป็นเม็ดพลาสติกเกรดต่ำ ส่งกลิ่นเหม็น และมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาด้วย
โดยผลสำรวจย้อนหลัง 5 ปีของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่า ไทยนำเข้าขยะพลาสติกสูงมากจาก 81 ประเทศ รวม 906,521 ตัน โดยมี 3 อันดับสูงสุดคือ สหรัฐอเมริกา 16% ฮ่องกง 18% สหรัฐอเมริกา 30%
- ไทยจัดการขยะอย่างไร
ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย สามารถป้องกันการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ด้วยการลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด
“หลังจากจีนห้ามนำเข้าขยะเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2561 ขยะก็มาสู่ประเทศไทยมากขึ้น ในปีพ.ศ. 2538 อนุสัญญาถูกแก้ไขเป็น Basel Amendment มีผลบังคับใช้วันที่ 5 ธันวาคม ปี 2562 ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน นั่นหมายความว่า ถ้าประเทศไทยได้รับความเสียหายจากขยะต่างประเทศ เราก็จะไม่ได้รับการชดใช้ความเสียหาย ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายกากของเสียอันตราย และการกำจัดตามอนุสัญญาบาเซล” เพ็ญโฉมกล่าว
ไม่ต้องพูดถึงวิธีการจัดการขยะของประเทศไทย ที่ยังคงเป็นแบบเดิม ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“รูปแบบการจัดการของเสียอันตรายของเราเป็นเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผู้ที่รับบำบัดขยะอันตรายในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวมา 20 ปี กำลังจะเพิ่มเป็น 4 แห่ง ซึ่ง 4 แห่งนี้จัดการได้แค่ 2 แสนตันต่อปี จากที่มีขยะอยู่ทั้งหมด 2 ล้านตัน”
ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสามารถการจัดการขยะของไทยในปัจจุบัน ซึ่งการกำจัดขยะอันตรายในประเทศไทย ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่ไม่มีการแชร์ข้อมูลของผู้ประกอบการให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ แล้วยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้ขยะของเสียอันตราย ขยะมูลฝอยจากโรงพยาบาล ขยะชุมชน เพิ่มขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าของเสียมีอะไร ปริมาณเท่าไร มาจากที่ไหน ไปที่ไหน อะไรจัดการได้ จัดการไม่ได้ หรือมีระบบติดตามตรวจสอบ ก็จะง่ายต่อการจัดการขยะอันตรายภาคอุตสาหกรรมที่เราพบ ซึ่งตอนนี้ที่เราจับได้มีหลายชนิด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการและของเสียอันตราย (ศสอ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูล ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา
“ปี 2557 กรมควบคุมมลพิษ ทำ Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย 4 ด้าน จากหลุมฝังกลบมาเป็นการจัดการหลายรูปแบบ ตั้งคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หัวข้อขยะพลาสติก ขยะอิเล็คทรอนิกส์ กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น 7,000 แห่ง ประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ 428 รายการ ให้กรมศุลกากรตรวจตู้ 100 เปอร์เซ็นต์ ” พรพิมล เจริญส่ง ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการจัดการล่าสุด
- ขยะเป็นเรื่องของทุกคน
การแก้ปัญหาขยะนำเข้าและขยะในประเทศ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเริ่มก่อน
“โครงสร้างการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรามี ไม่สะท้อนบริบทจริงของโลกในขณะนี้แล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลง กระทรวงพลังงานสามารถเป็นแกนหลักได้ ถ้าเรามีคณะกรรมการกำกับกิจการขยะและหมุนเวียนทรัพยากรขึ้นมา ซึ่งถ้าเรายังใช้วิธีเก่า ก็ไปไม่รอดครับ” ดร.พูนศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ พรพิมล กล่าวว่า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
“เราไม่ต้องการเป็นถังขยะโลก กฎหมายมีความจำเป็น มีข้อบังคับคนออกนอกลู่นอกทางให้มาอยู่รวมกันภายใต้กฎหมาย ต้องมีการบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมมือแก้ไขปัญหา การพัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมต้องไปด้วยกันเพื่อความสมดุลและยั่งยืน”
ในส่วนของภาคประชาชน ได้พยายามช่วยกันจัดการ เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเดินหน้ามาโดยตลอด โดยภาคประชาชนร่วมกับ 65 องค์กรไปยื่นหนังสือให้กับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา จากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมอ้างว่าต้องนำเข้าขยะ 65,000 ตันในปี 2564
“เราไปยื่นจดหมายเพื่อหนุนหลังกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ให้โอนอ่อน จากการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมอ้างว่าต้องนำเข้าขยะ 6.5 แสนตันในปีหน้า เพราะถ้าไม่มีการขยับของหลายๆ ส่วนช่วยกัน มันก็ไม่มีพลัง ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งขยะนำเข้า ขยะในประเทศ ขยะอันตราย ไม่มีการจัดการที่ปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานเดียวที่อนุมัติอนุญาตและติดตามกำกับดูแลโรงงาน ถ้ากรมโรงงานแชร์ข้อมูล การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะทำได้มากกว่านี้” เพ็ญโฉม กล่าว